Wednesday, October 7, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทส่งท้าย: อย่าให้ใคร มาขโมยความฝัน ของเราไป

ตอนเข้าสู่ตลาดหุ้นตลาดฟิวเจอร์ใหม่ๆ ทุกท่านก็ ล้วนมีความหวัง ความฝัน .... ฝันของท่าน อาจจะเป็นไป เพื่อเกษียณก่อนกำหนด เพื่อขึ้นแท่นเศรษฐีวัยเยาว์ เพื่อสร้างครอบครัวที่มั่นคง เพื่อให้เงินงอกเงยโตทันเจ้าตัวเล็ก ที่อีกไม่กี่ปี จะต้องไปเรียนต่อในต่างประเทศ เพื่อให้เงินบำนาญเพิ่มพูนขึ้น ในวัยเกษียณ เพื่อมีรายได้ประจำจากเงินปันผล มาชดเชยดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ที่ต่ำเกินไป ฯลฯ

แต่หลายท่านกลับละทิ้งความฝันไปอย่างง่ายดาย ตั้งแต่ยกแรกๆ เมื่อเผชิญกับ ขาดทุน แล้วก็หาเหตุผลต่างๆ มาอธิบายว่า ทำไม ท่านจึงไม่เหมาะที่จะอยู่ในตลาดฯ จนลืมไปว่า กว่าท่านจะเติบโต จนกระทั่งจบการศึกษา จนกระทั่งทำงาน และมีเงินมาซื้อขายหุ้นและฟิวเจอร์ มันยากเย็น และ ผ่านการขาดทุน มามาก กว่านั้นเยอะ

งานที่ท่านทำอยู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเดือนที่ต่ำกว่า Fair Value ของท่าน เกิดจากการ "ลงทุน" ในการศึกษาหาความรู้ มาเป็นระยะเวลายาวนาน กว่าจะจบปริญญาตรี ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ลงทุนรวม เป็นล้านบาท แถมบริหารความเสี่ยง จากการเรียนต่อ และ การทำงาน ได้จำกัดอีกด้วย เพียงเพื่อมาเริ่มต้นรับปันผลหลักหมื่น! ......... วันนี้ ท่านเข้ามาทำงาน ในสิ่งที่คนทั่วๆไป ไม่สามารถ มาทำหน้าที่แทนท่านได้ หากเขาเหล่านั้น ไม่ได้ศึกษาและมีประสบการณ์การทำงาน เทียบเท่าท่าน งานที่ท่านทำอยู่ จึงต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์สั่งสมมากกว่า โดยที่ท่านเอง ก็ยังคงได้รับเงินเดือนแบบ undervalued แม้ศักยภาพของท่าน จะมากกว่านั้นเยอะก็ตาม

ธุรกิจที่ท่านทำอยู่ เพื่อให้มีรายได้สูงกว่าต้นทุนและค่าใช้จ่าย กลับยิ่งยากกว่า ในการที่จะคงความสามารถ ในการทำกำไร ให้เติบโตต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน ขณะที่ธุรกิจของท่านยิ่งโต ก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งกังวล เวลาที่ท่าน จะให้กับครอบครัว ยิ่งกลับน้อยลงเรื่อยๆ

จริงๆแล้ว การเทรดหุ้นหรือฟิวเจอร์ ก็คือการค้าขาย โดยไม่จำเป็นต้องมี อาคาร สำนักงาน ท่านสามารถเพิ่มเงิน และ มีเวลาให้กับครอบครัวได้ งานค้าหุ้นหรือฟิวเจอร์ ง่ายกว่างานที่ท่านทำอยู่มากคับ ไม่ต้องใช้ปริญญา ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง เพียงท่านศึกษา วิเคราะห์ สินค้า เพื่อซื้อไว้รอขาย พร้อมกำหนดระดับความเสี่ยง ที่ท่านยอมรับได้ เท่านั้น .... นอกจากนี้ ท่านยังสามารถ ขายสินค้า เลิกกิจการ กำเงินสดได้ทุกเมื่อด้วย เมื่อแนวโน้มตลาด หรือ อุตสาหกรรมนั้นๆ ย่ำแย่ลง

หากความหวังความฝันของท่านยังอยู่ ท่านจะมุมานะ ในการค้นหา ว่า อะไรคือจุดอ่อน ข้อผิดพลาด ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ของท่าน อะไรคือจุดก้าวข้าม หรือ key success factors ของพ่อค้าหุ้น หรือ ฟิวเจอร์ ที่ทำให้เขาเหล่านั้น สามารถพัฒนาตน ขึ้นมาเป็นพ่อค้ารายใหญ่ ในตลาดฯ ได้อย่างโดดเด่น ท่ามกลางมวลชน และอะไรคือหลุมพรางที่ผู้ค้ารายอื่น ขุดดักรอไว้ เพื่อให้ท่านปิดกิจการ ถอนตัวออกไปจากการแข่งขัน .....

ตราบใด ที่ ความหวังความฝันยังอยู่ ท่านจะเดินไปยังสิ่งที่ท่านหวังได้เสมอ ต่างกันเพียง ความเร็วหรือความช้าเท่านั้น ในการเข้าสู่เส้นชัย .... ในเส้นทางของความหวังความฝัน ไม่มีผู้ล้มเหลวคับ มีแต่ผู้ล้มเลิก

ข้อสำคัญ มองเข้าไปในกระจก แล้วอย่าให้คนๆนั้น มาขโมยความฝัน ของท่านไป ในเส้นทางของความหวังความฝัน ไม่มีใครล้มเหลว มีแต่คนที่ล้มเลิกไปก่อนเท่านั้น

ด้วยความปราถนาดี
ทีมงาน ThaiDayTrade.com

Tuesday, October 6, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 16 : วาทะรับน้อง

มาถึงตอนท้ายของเล่มแล้ว เชื่อว่า ทุกท่านที่อ่านมาตั้งแต่ต้น จะเริ่มมองเห็นภาพรวมและสิ่งซ้อนเร้นที่มีอยู่จริงในตลาดหุ้น รวมถึงแนวคิดในการพัฒนากลยุทธ์ของตน เพื่อมารับมือกับสิ่งที่ตนต้องฝันฝ่าไปให้ได้ในตลาดหุ้นแล้ว

ก่อนจบเล่ม ผมได้ทำการขอนัดสัมภาษณ์นักลงทุนรายย่อยรุ่นเยาว์ 2 ท่าน ซึ่งทุกวันนี้อยู่ในระดับโปรเฟสชั่นนั่ล รวมทั้งได้ขอนัด พบปะพูดคุยกับ “ป๋าบุญ” พี่เลี้ยงผู้มากประสบการณ์ และ ได้ทำการถอดเทปบันทึกนั้นมาฝากเป็นการปิดท้าย

ทั้ง 2 ท่านแรก เป็นเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับบรรดานักลงทุนวัยเดียวกัน และ ปัจจุบัน ทั้งคู่ อายุยังไม่ถึง 30 ปี ด้วยซ้ำ รุ่นเยาว์จริงๆ ส่วน “ป๋าบุญ” จะไม่กล่าวถึงเลย ไม่ได้แน่ เพราะ “ป๋าบุญ” นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาในกลยุทธ์การเทรดการลงทุนแล้ว “ป๋าบุญ” ยังเป็นพี่เลี้ยงที่ดีให้กับกลุ่มเราในการเริ่มต้นสู่ตลาดหุ้นด้วย

ทั้ง 3 ท่านนี้ ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง และได้ขอร้องให้ทางทีมงานของเรา ไม่เปิดเผยชื่อและนามสกุล รวมทั้งรายละเอียดอื่นก่อน โดยไม่ได้รับอนุญาต

เราจะเริ่มกันที่การสัมภาษณ์ในลักษณะถามตอบกับ “เซียนต้น” ตามด้วยการถอดเทปการให้แนวคิดการลงทุนจาก Mr. Followbuy แห่ง followbuy.com ในโจทย์ที่เราถามว่า “ลงทุนอย่างไร ให้มีชัยในทุกสนาม” และ ปิดท้ายด้วย “ป๋าบุญ” พี่เลี้ยงผู้คว่ำหวอดในวงการตลาดหุ้นมานาน ตั้งแต่สมัยตลาดหุ้น ใช้การ “เคาะกระดาน” ในโจทย์ที่เราถามว่า “เริ่มต้นอย่างไร สำหรับมือใหม่ ไร้ประสบการณ์”
เชิญฟังสัมภาษณ์ไปพร้อมกับเราได้เลยครับ

ทีมงาน เล่นหุ้นรวย เพราะทางบ้านรวยหรือเปล่าครับ เห็นเซียนต้น ขับ Benz ท่าทางจะมีฐานะทางบ้านเข้าขั้นเศรษฐี
เซียนต้น เล่นหุ้นรวยเพราะบ้านรวยไม่เกี่ยวกันครับและทางบ้านผมไม่ได้รวยครับ

ทีมงาน เห็นเขาว่ากันว่า ถ้าคนไหนมีเงินหนาๆ ก็เล่นหุ้นประสบความสำเร็จกันทั้งนั้นจริงป่าวครับ
เซียนต้น หลายคนอาจจะคิดแบบนั้น แต่มันไม่จริงครับ การจะเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ แท้จริงแล้วอยู่ที่ข้อมูลและการตัดสินใจครับ การมีเงินจำนวนมาก บางครั้งอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำไปเพราะหุ้นบางตัวมีสภาพคล่องน้อย กว่าจะซื้อหุ้นได้ครบ ก็ต้องซื้อราคาแพง พอจะขายก็ขายยาก ทำให้ขายได้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ทีมงาน แล้วเริ่มต้นยังไงกับหุ้นล่ะครับ ทำไมถึงมาเล่นหุ้นแบบ full-time
เซียนต้น เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่ยังไม่มีเงินแล้วครับว่า จะต้องเข้ามาเล่นหุ้น โดยมีความฝันว่าวันนึงจะมีรายได้เงินปันผลจาก port ที่ลงทุน เพียงพอ โดยที่ไม่ต้องทำงาน หลังจากได้ bonus ก้อนแรกมาก็นำมาซื้อหุ้นทันทีเลยครับ

ทีมงาน พอจะเปิดเผยได้ไหมครับ เริ่มต้นเท่าไหร่ ใช้เงินเยอะไม๊
เซียนต้น เริ่มด้วยเงินประมาณ 2แสนบาทครับ

ทีมงาน เล่นครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จเลยหรือเปล่าครับ เซียนต้นเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ?
เซียนต้น ไม่ประสบความสำเร็จครับ เจ็บตัวแต่ไม่มาก ทีแรกกะว่าจะซื้อลงทุน เลยซื้อแต่หุ้น Blue chip กับหุ้นปันผล หลังจากซื้อไปปุ๊ป นั่งจ้องมันทั่งวัน พอขยับลงมาหน่อยก็เครียดแล้ว ซักพักก็ไม่ไหวครับทนไม่ได้ต้องขายตัดขาดทุนออกไปครับ

ทีมงาน ได้บทเรียนอะไรมาจากการเล่นหุ้นในช่วงแรกๆบ้างครับ
เซียนต้น รู้จักตัวเองครับ รู้ว่าเราไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวแน่นอน เลยกำหนดกลยุทธ์ใหม่

ทีมงาน บทเรียนราคาแพงสุดในตลาดหุ้นคืออะไรครับ
เซียนต้น เหตุการณ์ 911 ครับ วันนั้นมั่นใจมาก พกหุ้นกลับบ้านไปมากที่สุดในชีวิต

ทีมงาน หลักการสำคัญที่สุดที่ยึดเป็นเกณฑ์ในการเล่นหุ้นคืออะไรครับ
เซียนต้น ทำความรู้จักตัวเองให้ดีก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนแบบไหน ต้องการอะไรจากการลงทุน กำหนดกลยุทธ์และวางแผนที่จะลงทุน และ ตัดสินใจซื้ออย่างมีเหตุผล และปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่เราวางไว้

ทีมงาน ฟังดูก็ไม่น่าจะยาก แล้วทำไมคนเจ๊งมีมากกว่าคนได้ล่ะครับ
เซียนต้น นักลงทุนใหญ่จะเข้ามาเล่นหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้น บูม มากๆ พอเริ่มรู้สึกว่าชาวบ้านเค้ารวยกันก็เลยเข้ามาลองดูบ้าง พอเข้ามาช่วงที่ตลาดมันดีมากๆ ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับที่สูง พอตลาดเริ่มลงก็ขาดทุนซิครับ ตรงข้าม ตอนที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาสุดๆ ราคาหุ้นลงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กลับไม่มีใครอยากซื้อหุ้น มันก็เลยกลายเป็นคนส่วนใหญ่มักซื้อหุ้นตอนแพง มีคนส่วนน้อยมาก ที่ได้ซื้อหุ้นตอนราคาถูก จึงเป็นที่มาว่า คนเจ๊งมีมากกว่า

อย่าว่าแต่รายย่อยเลยครับกองทุนรวมเองก็เป็นครับ สมัยปี 2000 หุ้นเทคโนโลยีบูม มากๆกองทุนรวมหุ้นไฮเทคโนโลยีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มาปี 2001 หุ้นเทคโนฯ ลงเละ ต่อมาปี 2004 (ไม่แน่ใจ) หุ้นอสังหาฯ บูม มาก ราคาหุ้นแต่ละตัวขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 100 % กองทุนรวมยังไม่เข็ดผุดกองทุนรวม property ขึ้นมาอีกจำนวนมาก หลังจากนั้นหุ้นอสังหาฯแต่ละตัวลงเละเช่นเดิม ล่าสุดผมเริ่มจะเห็นกองทุนรวม เริ่มจะตั้งกองทุนรวมพลังงานอีกแล้วครับ

ทีมงาน คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า "เราเล่นสู้เขาไม่ได้หรอก เขามีข่าววงใน"
เซียนต้น อันนี้จริงครับถ้าเขาใช้ข่าววงในเราเสียเปรียบแน่นอนครับ เราก็อย่าไปซื้อหุ้นที่มีพฤติกรรมแบบนี้ซิครับ

ทีมงาน มีหลักในการเลือกหุ้นยังไงครับ
เซียนต้น จะให้น้ำหนักกับพื้นฐานในการเลือกตัวหุ้น และจะใช้สัญญาณทางเทคนิค บวกกับ บรรยากาศการลงทุน ในการตัดสินใจเข้าซื้อครับ

ทีมงาน จังหวะในการซื้อหุ้นควรเป็นตอนไหนครับ
เซียนต้น ไม่มีกฏอะไรตายตัวครับขึ้นอยู่กับจังหวะและสถานการณ์ครับ ที่สำคัญอยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละคนด้วย

ทีมงาน ทำไมเซียนต้นต้องขายตัดขาดทุนด้วยครับ ได้ข่าวว่า ขายขาดทุนก็บ่อย
เซียนต้น ไม่มีกฎตายตัวเช่นเดียวกัน มันก็กลับไปอยู่ที่กลยุทธการลงทุนของเราเอง ถ้าดูมาดีแล้วว่าหุ้นที่เราซื้อ เป็นหุ้นพื้นฐานดี ราคามันถูกจริงๆ คิดไว้ว่าจะซื้อลงทุน ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปตัดขาดทุน อย่างน้อยก็สบายใจที่ได้ถือไว้ แต่ถ้าตัดสินใจว่า จะซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไร แล้วมันเกิดขาดทุน ก็ควรจะขายตัดขาดทุนไป เพราะการซื้อเก็งกำไร คงไม่ได้ไปคำนึงถึงพื้นฐานอะไรมากมาย ในตอนตัดสินใจซื้อ ถือไว้ก็เครียดเปล่าๆ

ทีมงาน แต่ถ้าไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุนนะครับ ถือไว้เดี๋ยวมันก็เด้งกลับ หุ้นมีลงก็ต้องมีขึ้น
เซียนต้น อย่าไปคิดเลยครับว่าไม่ขายคือไม่ขาดทุน มันเป็นการหลอกตัวเอง แท้จริงแล้วเราก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันขาดทุนไปแล้วจริงๆ

ทีมงาน ถ้าติดหุ้นอยู่ ควรจะซื้อถัวเฉลี่ยดีไหมครับ เซียนต้น
เซียนต้น มันขึ้นอยู่กับกลยุทธการลงทุนที่เราวางไว้ ลองนึกย้อนกลับไป ตอนเราเริ่มซื้อหุ้นตัวนั้นๆว่า เราใช้หลักการ และ เหตุผลอะไร ในการเข้าซื้อ ถ้าเรากะว่าจะซื้อเข้าไปซื้อเล่นเก็งกำไรตามชาวบ้านเค้า ตอนขายก็ควรขายแบบเก็งกำไรด้วย เช่น ซื้อแล้วหวังกำไรซัก 5% แต่ถ้าซื้อแล้วไม่ขึ้นก็ควรจะตัดขาดทุนที่ไม่เกิน 5% ด้วย ไม่ใช่กำไรเอา 5% แต่ขาดทุนเอา 50% แต่ถ้าเหตุผลในการลงทุนตอนนั้น คือการลงทุนระยะยาว หาข้อมูลมาอย่างดีแล้วว่า ราคานี้ถูก ปันผลสูง ราคาลงมาก็ไม่ผิดที่จะซื้อเพิ่ม

ทีมงาน เซียนต้นขายเมื่อมีกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ครับ
เซียนต้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ครับ บางครั้งกำไร 5% ก็ควรขาย บางครั้งกำไร 100% ยังไม่ควรขายเลย แต่บางครั้งขาดทุนก็ต้องขายครับ

ทีมงาน ซื้อหุ้นราคาถูกๆ ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ดีไหมครับ ราคาถูกดี ต่ำกว่าราคาบุ๊คแวลู
เซียนต้น ไม่ควรใช้เกณฑ์ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี มาเป็นเหตุผลในการเลือกซื้อหุ้นครับ เพราะ ถ้าหุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี แต่ความสามารถในการทำกำไรไม่ดี ราคาก็ต่ำอยู่อย่างนั้น ลงทุนไปก็เงินจม ไม่สังเกตหรือครับ ว่าราคาหุ้นกลุ่มเหล็ก เช่น SSI, NSM ก็ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ทั้งนั้น แต่ 4 ปีแล้วที่ราคาไม่ขึ้นเลย แถมเตี้ยลงเตี้ยลงอีก ในแต่ละปี ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้น จากคนส่วนใหญ่มองเห็นโอกาส ในการทำกำไรในอนาคตมากกว่าครับ ไม่ใช่ซื้อหุ้นเพราะมองว่า ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ถ้าจะซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีจริง ต้องไปซื้อหุ้นที่บริษัทกำลังจะเจ๊งครับ เมื่อบริษัทนั้นเจ๊ง ขายทรัพย์สินทอดตลาด ก็พอมีหวังได้เงินคืนมา มากกว่าราคาที่ซื้อหุ้นอยู่บ้าง แต่ถ้าบริษัทไม่เจ๊ง โอกาสทำกำไรก็ไม่มี ราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ก็ไม่มีความหมาย

ทีมงาน เซียนต้นมีหุ้นในดวงใจไหมครับ
เซียนต้น ใจง่ายครับ เปลี่ยนตัวชอบไปเรื่อยๆ แต่มักจะชอบกลุ่มโบรกเกอร์ เพราะรู้สึกว่า ขึ้นลงเร็วดี ไม่มีรอบไหนที่ตลาดขึ้น แล้วกลุ่มโบรกเกอร์ไม่ขึ้น ธุรกิจไม่ซับซ้อนมาก พอจะคาดการกำไรได้เองโดยคำนวณจากปริมาณการซื้อขายของตลาดต่อวัน และ Market Share ของโบรกเกอร์ตัวนั้น อีกอย่างยังมีตลาดหลักทรัพย์คอยควบคุมให้อีก

ทีมงาน มีความเห็นยังไงกับหุ้นขนาดใหญ่ ราคาแพงจัง เล่นหุ้นตัวเล็กๆ ราคาต่ำกว่าบาท ราคา 1-3 บาท ได้เปรียบกว่าไหมครับ ถ้าเราเป็นรายย่อย
เซียนต้น อย่าไปกลัวหุ้นราคาแพงครับ หุ้นตัวละ 100 บาทขึ้นทีละ 1 บาท กับหุ้นตัวละ 10 บาทขึ้นทีละ 10 สตางค์ มันก็ 1% เท่ากัน

ทีมงาน ทำไม เซียนหุ้นส่วนใหญ่ มักแนะให้ซื้อตาม ตอนหุ้นวิ่ง ราคามันขึ้นมามากแล้ว ทำไม เซียนหุ้นไม่ชอบให้ถัวเฉลี่ยราคาตอนหุ้นลง ยิ่งลงก็ยิ่งซื้อได้ถูก
เซียนต้น เพราะเซียนหุ้นที่ว่าเนี่ยเป็น Money Maker ไม่ใช่ Investor ถ้าไปซื้อหุ้นนิ่งๆหรือหุ้นที่เคลื่อนไหวน้อย เงินจม และ โอกาสในการทำกำไรก็แทบจะไม่มีเลยซิครับ หุ้นนิ่งๆยังทำกำไรยาก ยิ่งหุ้นลง ยิ่งไม่ต้องคุยเลยครับ Money Maker เค้าไม่เล่น ตอนหุ้นลง ต้องเป็นเซียนหุ้นลงทุนแบบ วาเรน บัฟเฟท์ หรือบ้านเราก็มี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทีมงาน เห็นเพื่อนเซียนต้นบอกว่า ช่วงตลาดดีๆ เซียนเทรดทีหลายสิบล้านบาทต่อวัน จริงหรือป่าวครับ
เซียนต้น ก็มีบางครั้งครับ แต่ไม่ดีหรอก Trade หลายรอบมากก็เสียค่าคอมมิชชั่นมากตอนนี้ลดลงไปเยอะแล้วครับ แบ่งไป trade futures แทน

ทีมงาน เห็นเพื่อนเซียนต้นบอกว่า รถเบ็นซ์ที่ขับ กับ นาฬิกาโรเล็กซ์เรือนละ 4 แสน ซื้อเป็นรางวัลชีวิตให้กับตัวเอง เล่นหุ้นได้กำไรมากมายขนาดนั้นเลยหรอครับ ใช้เวลาสะสมกำไรนานป่าว
เซียนต้น ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นรางวัลครับ แต่ผมชอบและอยากได้มานานแล้ว ตอนนั้นพอมีเงินเหลือ ก็เลยตัดสินใจซื้อครับ แต่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ และอยากแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ควรนำเงินที่ได้จากการเล่นหุ้นไปผ่อนอะไรทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอะไรแน่นอน อาจจะขาดทุนก็ได้ในอนาคต ตอนที่ซื้อนั้นเล่นหุ้นมาประมาณ 3-4ปี แต่ที่ได้กำไรจริงๆ รู้สึกจะเป็นช่วงปี
2003 ครับ ช่วงนั้นผมว่าใครเล่นหุ้นก็ได้กำไรเยอะๆกันทุกคนครับ อยู่ที่ได้มาแล้วจะคืนมันไปหรือเปล่าครับ

ทีมงาน เป้าหมายในชีวิตเซียนต้น อยากทำอะไรครับ
เซียนต้น เป้าหมายคืออยากรวยครับ และไม่อยากทำอะไร (พูดเสร็จ หัวเราะ)

ทีมงาน มีอะไรอยากฝากบอกคนใหม่ๆที่เข้ามาตลาดหุ้นมั่งครับ
เซียนต้น ผมเห็นนักลงทุนหลายคนมักจะขายหุ้นที่มีกำไรออก แล้วเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้ใน Port สมมุติว่าซื้อหุ้นเข้า port ไป 10 ตัว พอตัวไหนขึ้นมามีกำไรก็จะขายออก แล้วก็ไปซื้อหุ้นตัวอื่นแทน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนหุ้นทุกตัวใน port ขาดทุนหมด

แท้จริงแล้ว หุ้นตัวที่ขึ้น มันก็คือหุ้นที่ดี แต่เรากลับไปขายมัน ไอ้ตัวที่ไม่ขึ้นก็คือหุ้นไม่ดี เรากลับไปเก็บไว้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย Port เราก็จะมีแต่หุ้นไม่ดีทั้งหมด จะดีกว่าไหม ถ้าขายหุ้นที่ขาดทุนออกไปให้หมด เก็บแต่หุ้นที่มีกำไรเอาไว้ ทุกครั้งที่เอา port มาดูก็ชื่นใจเห็นมันกำไรทุกตัวดีกว่าเห็น port ส่งมาที่บ้านทีไร แทบจะอยากเอาไปเผา

จากนั้น เซียนต้นก็ขอตัวไปทำธุระต่อ ล่าสุด เซียนต้นได้ร่วมลงหุ้นกับเพื่อน เปิด ผับ ย่านทองหล่อ และ เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ย่าน ถนนรัชดา ทางทีมงานเลยต้องยุติการสัมภาษณ์ต่อด้วยความจำใจ




ล่าสุด เราถอดเทปแนวคิดจาก Mr. Followbuy เซียนหุ้นเล่นรอบแห่ง followbuy.com ในโจทย์ที่เราถามว่า “ลงทุนอย่างไร ให้มีชัยในทุกสนาม” มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สดๆร้อนๆ ไปฟังกันครับ

“แนวคิดของผมก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน ท่านอื่นๆหรอกครับ เพียงแต่ว่า การคัดกรองและเลือกหุ้นของผม อาจจะแตกต่างจากท่านอื่นๆไปบ้างเท่านั้นเองครับ แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจครับ”

“เริ่มแรกเลย ผมจะยังไม่ได้ดูจากเทคนิค ไม่ได้ดูกราฟนะครับ ผมเริ่มต้นจากการอ่าน การอ่าน จะทำให้เรามีข้อมูลของหุ้นตัวนั้นๆ ที่ค่อนข้างแน่น แล้วถ้าในอนาคต เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ตาม จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์และเข้าใจ ผลกระทบของเหตุการณ์นั้นๆ ที่มีต่อหุ้นของเราได้อย่างรวดเร็วทำให้ไม่เสียโอกาสในการเข้าซื้อขายครับ”

“หลังจากนั้น เราก็ต้องมองหาจุด หรือว่า “Investment Theme” ของหุ้นตัวนั้น ว่าเราจะเล่นเรื่องไหน เพราะอะไร ทำไมต้องเรื่องนี้ มันส่งผลบวกหรือลบขนาดไหนต่อราคาหุ้นในอนาคต จากนั้นถึงจะมาเข้าสู่ขั้นตอนของการใช้เทคนิค เข้ามาช่วยคัดกรองเป็นด่านสุดท้ายครับ

“อย่างในปีนี้ ก็จะมีหุ้นอยู่ 2 ตัวที่ทำกำไรให้กับก๊วนของเราได้ค่อนข้างสูง ก็คือทาง BANPU กับ ATC ครับ ทั้งคู่ผมเล่นในแนวโน้มของราคาผลิตภัณฑ์ของเค้า ที่ตอนนั้นมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น และบทวิเคราะห์ของต่างชาติหลายๆที่ ก็ชื่นชอบทั้ง 2 ตัวนี้ด้วย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจมากขึ้น เพราะจะได้อาศัยเงินของต่างชาติพาไปด้วย จากนั้นค่อยเข้าไปซื้อหุ้น โดยทาง BANPU นี้เริ่มซื้อตั้งแต่ 170 บาทกว่าๆครับ ส่วน ATCประมาณ 43-44 บาท สรุปแล้วก็คือว่า ผมจะใช้ปัจจัยพื้นฐานในการเลือกหุ้นก่อน จากนั้นค่อยนำเอาเทคนิคเข้ามาหาจังหวะและระดับราคาในการเข้าซื้อขายครับ”

“สำหรับนักลงทุนที่มาเล่นแบบไม่มีทุนหนุนหลัง ตั้งใจว่าจะมาหาเอาดาบหน้าอย่างเดียวเล็งแต่จะเล่นพวกหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กๆ ลุ้นเอาว่าจะมีใครมาผลักมาดันให้ราคามันสูงขึ้นรึเปล่า ราวกับเล่นการพนันไม่มีผิด ขอบอกเลยว่ายากครับ ที่จะได้เงินกลับบ้าน

“ยิ่งในช่วงที่เป็นภาวะกระทิงจัดๆแบบปีนี้ด้วยแล้ว คุณคิดว่านักลงทุนรายใหญ่เค้าอยากจะเล่นอะไรมากกว่ากันครับ ระหว่างซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่พื้นฐานดีและเป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติในจำนวนเงิน 200-300 ล้านบาท มองกำไรไว้ที่ระดับ 30-40% กับ การเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับการเล่นหุ้นที่ Market Caps ไม่กี่ร้อยล้านบาท ซึ่งตนเองแทบจะสามารถ ดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้ อย่างไม่ลืมหูลืมตาเลยล่ะ +300% 400%ง่ายๆเลยนะ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังต้องระวัง การเข้าจับกุมของเจ้าพนักงานแห่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยนะครับ แต่ว่าจังหวะจะขายหุ้นออกจริงๆ กลับขายไม่ได้ ไม่มีใครมารับช่วงต่อ ก็จะได้ไปแต่ Unrealized Gain พร้อมๆกับเงินที่ต้องค้างอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่หาข่าวดีๆอะไรมาสนับสนุน ก็คงจะขายออกได้ยาก”

“เจออย่างนี้พวกนักลงทุนรายใหญ่ๆ เค้าก็หันไปเล่นตัวใหญ่ๆกันหมด ขอฝากตัวฝากใจ ไปกับเงินฝรั่งก่อนดีกว่า สบายใจแล้วก็ปลอดภัยกว่าด้วย ในจุดนี้ผมก็อยากจะชี้ให้ท่านนักลงทุนมองถึงการเลือกประเภทของหุ้นด้วยเหมือนกันครับ อย่ามัวแต่จะเล่นแต่หุ้นเก็งอย่างเดียว ถ้าภาวะกระทิงแบบนี้เลือกหุ้นตามฝรั่งกันบ้างเถอะครับ”

“เล่นไปตามกระแสเคลื่อนไหวไปตามตลาด ดีกว่า”

“ยิ่งสมัยนี้มี TFEX มาให้เล่นด้วยแล้ว ทำให้การเล่นและการเคลื่อนไหวสามารถทำได้สะดวกขึ้นทั้งในรอบของการขึ้นและลง”

“ส่วนในเรื่องของการ cut loss แล้วก็ follow buy นั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่นักลงทุนทุกท่านควรจะต้องทำให้เคยชินเป็นนิสัย ในจุดนี้ก็คงจะเหมือนๆกับท่านอื่นๆที่มอง2 สิ่งนี้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ”

“ผมจะลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆก็แล้วกัน นักลงทุนเปรียบเสมือนอัศวินในสนามรบ cut loss เปรียบเสมือนโล่ ซึ่งจะคอยช่วยป้องกันอัศวินนักลงทุน เมื่อเลือกหุ้นหรือจังหวะเข้าตลาดผิด การ cut loss จะทำให้ความสูญเสียมีอยู่ในวงจำกัด คือว่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 3-5% ไม่ลุกลามไปมากกว่านี้ ซึ่งถ้าเราไม่ใช้โล่ ให้เป็น ในยามที่เลือกหุ้นหรือจังหวะไม่ดี ก็จะทำให้เกิด อาการบาดเจ็บได้ค่อนข้างหนัก ส่วนการ follow buy มันก็เปรียบเสมือนดาบซึ่งคอยเอาไว้ฟัน(กำไร) ในยามที่หุ้นสามารถทะลุ ผ่านจุดสำคัญใดๆไปได้ อย่างเช่น new highหรือว่า all time highอย่าไปมองว่าสูงหรือว่าดอย ลองดูเทคนิคประกอบกันไป ถ้ามันโอเค ก็ follow buyไปเถอะครับ”

“ดูมาแล้วมากกว่า 50%ของการใช้กลยุทธ์ follow buy ไม่ขาดทุนครับ เหตุผลง่ายๆก็คือหลังจากที่หุ้นผ่านจุดสำคัญซึ่งมีแรงขายหนักๆ (แนวต้าน) มาได้แล้ว จะทำให้หุ้นตัวนั้นเผชิญกับแรงขายที่น้อยลงไปมาก และ ในทางกลับกันในแง่ของ demand จะยิ่งมีมากขึ้นด้วย เพราะว่าแรงซื้อเข้ามาสนับสนุนหนาแน่นขึ้น ทั้งจากคนที่ต้อง cover position ที่ขายออกไป เพราะมองว่าจะไม่ผ่านแนวต้านนี้ และก็คนที่มาใช้กลยุทธ์ follow buy เพราะมองจิตวิทยาการลงทุนได้ทะลุปรุโปร่งเข้ามาสนับสนุนอีกแรงหนึ่งด้วยครับ”

“อีกส่วนนึง ที่คอยมาบั่นทอนผลตอบแทนของนักลงทุนหลายๆท่าน ตรงส่วนนี้ ผมมองเห็นคำว่า “ราคา” กับ คำว่า “กำไร-ขาดทุน” ครับ โดยทั้ง 2 ตัวเป็นภัยที่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน ทำไมผมถึงมองอย่างนั้นล่ะครับ

““ราคา”หมายถึงว่าการที่นักลงทุนมัวแต่ไปห่วงเรื่องราคาหรือต้นทุนหุ้นของเก่าที่เคยถืออยู่ ซึ่งเป็นอดีตและมันก็แก้ไขไม่ได้แล้วด้วย ลืมมองไปที่แนวโน้มต่อไปว่าอนาคตหุ้นน่าจะเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างไร ตรงส่วนนี้ก็จะทำให้ ถูกภาพหลอนของราคา หรือ ต้นทุนมาคอยบดบังโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีๆได้นะครับ อีก 1ตัวอันตราย “กำไร-ขาดทุน” หมายถึงว่ามัวแต่ห่วงว่า ณ ตอนนี้เรายังขาดทุนอยู่นะ ยังไม่ขายดีกว่า ยังกำไรน้อยอยู่นะ ไม่ขายดีกว่า”

“ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เราไม่ควรจะไปใส่ใจราคามันหรอกนะครับ ไม่ต้องมองว่าขาดทุนกี่บาทแล้ว หรือว่า ตอนนี้ยังกำไรนิดเดียวเอง ไม่ว่าท่านจะซื้อมาเท่าไหร่ ตอนไหนเวลาใด ให้ยึดหลักง่ายๆเอาไว้ครับว่า “มองว่าขึ้นก็ซื้อ มองว่าลงก็ขาย” เท่านั้นพอ ไม่ต้องไปคิดถึง “ราคา” กับ คำว่า “กำไร-ขาดทุน” ครับ เพราะ มันจะทำให้ท่านนักลงทุนเสียโอกาสที่ดีๆไปได้ครับ”

แจ่มครับ วาทะของนักลงทุนมือโปรรุ่นเยาว์ ทั้งสองท่าน

ส่วน ”ป๋าบุญ” ได้เทปคำสัมภาษณ์มาช้ากว่าเพื่อนเลย (ขอแซวหน่อย) เพราะ ปัจจุบันนี้ ป๋ามีภารกิจเพิ่มขึ้นในฐานะ พ่อลูกอ่อน ที่ต้องวุ่นอยู่กับการจับปูใส่กระด้ง

ถ้าจะว่าไป ถือว่า “ป๋าบุญ” มีใจรักและอยู่ในตลาดมาเป็นระเวลายาวนาน รู้เห็นอะไรมามากพอสมควร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฝน นับตั้งแต่สมัยมาเป็นนักเรียนฝึกงาน ทำหน้าที่ วิ่งใบออร์เดอร์ซื้อขาย สมัยที่ตลาดหุ้นไทยยังใช้การเคาะกระดานกันอยู่ ก่อนที่จะมาเป็นเทรดเดอร์จัดการคำสั่งซื้อขายให้กับกองทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติยุโรปเป็นเวลากว่า 5 ปี ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นพี่ใหญ่ให้กับมือใหม่แล้ว ยังเป็นพ่อลูกอ่อน อารมณ์ดีอีกด้วย

เนื่องจาก “ป๋าบุญ” เป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มเรา สมัยยังใหม่ต่อตลาดหุ้น ผมเลยคิดว่า ป๋าเหมาะมากที่จะมาตอบโจทย์ที่ว่า “เริ่มต้นอย่างไร สำหรับมือใหม่ ไร้ประสบการณ์” ก็ขอยกพื้นที่ จากนี้ไปให้กับ “ป๋าบุญ” เลยแล้วกันครับ

“รู้สึกหรือไม่ว่านักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มักจะขาดทุนหุ้น ขาดทุนมากหรือน้อยต่างกันไป บางคนขาดทุนน้อยก็ยังพออยู่ได้ แต่ Port ก็จะค่อยๆ เล็กลง หรือใครที่มีสายป่านเข้ามาเพิ่มได้ก็ยังอยู่ได้ บ้างก็ขาดทุนจนต้องออกจากตลาดหุ้นเลิกเล่นไปเลยถาวรก็มี”

“เท่าที่ผมเห็น ที่ส่วนใหญ่ขาดทุนก็เพราะว่า “เสียมากกว่าได้””

“คืออย่างนี้ครับ เพราะรายย่อยจำนวนมาก มักจะคอยหาว่าใครเชียร์ตัวไหน รายใหญ่จะเล่นตัวไหน แล้วก็เล่นตามกันไป วันไหนโชคดีซื้อถูกตัวก็ได้กำไร 2-3 ช่วงราคา แต่ถ้าเมื่อไหร่ซื้อผิดตัวหรือจังหวะหุ้นตกทีไร เป็นขาดทุนหนักทุกที มักจะออกไม่ทัน ตัดสินใจ Cut Loss ช้า บางตัวขาดทุนมากกว่า 10% ขึ้นไป ติดอยู่ใน Port ขาดทุนบักโกรกก็มี”

“คิดดูครับ ถ้าเล่นหุ้นถูกตัวได้มา 10 ครั้ง ใน Port อาจกำไรประมาณ 20% แต่ถ้าซื้อผิด ไปเข้าตัวที่ไม่เล่นหรือตัวที่เขาเลิกเล่นกันแล้ว ก็ติดหุ้น ขาดทุนหุ้นเพียง 2-3 ครั้ง ที่เล่นได้มา 10 ครั้งอาจจะกลับมาเป็นขาดทุนในทันที”

“เราลองมาสำรวจตัวเองดูว่าเราเหมาะจะเป็นนักลงทุนแบบไหน ผมขอจำแนกประเภทของรายย่อยมาสัก 3 ประเภทดังนี้

1. เก็งกำไรระยะสั้นอย่างเดียวแล้วแต่ดวง มักจะลงทุนระยะสั้นแบบ Net settlement หรือถือก็ไม่เกิน 2-3 วัน

นักลงทุนประเภทนี้ ไม่ต้องหาข้อมูลอะไรมากครับ เข้ามาก็ดู Bid-Offer เห็นตัวไหนมีแรงซื้อเข้ามา ก็หาจังหวะเข้าซื้อ ดวงดีก็ขายได้กำไร ดวงซวยก็ขาดทุน

นักลงทุนแบบนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะกว่าเราจะเห็น ว่าตัวไหนจะเล่น ราคาก็ขึ้นมามาก ระดับหนึ่งแล้ว ได้ก็ไม่มาก แต่ถ้าวันไหนรายใหญ่เขาทิ้งละก็ ขายกันไม่ทันขาดทุนกันหนักทีเดียว

ถ้าคิดว่าเราจะเป็นนักลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้นละก็ กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญแบบนี้คือ ถ้าเราคิดว่าถ้ากำไร 2-3% ก็จะขายทำกำไร ดังนั้นถ้าเราคาดการณ์ผิดหุ้นไม่ได้ขึ้นอย่างที่คิด เราก็ต้องตัดขาดทุนอย่างให้ขาดทุนเกิน 2-3% ด้วยเช่นกัน

ถ้าช่วงไหนเล่นแล้วกำไรเรื่อยๆ ก็เล่นไปเถอะครับ แต่ถ้าเริ่มไม่ค่อยถูกจังหวะเริ่มขาดทุนบ่อย ต้องหยุดเล่นก่อน แสดงว่าเราจับจังหวะได้ไม่ดี

2. เล่นตามกราฟ ก็คือการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้ามาหาจังหวะในการซื้อขาย

แบบนี้ก็ดีครับ คือมีการหาจังหวะในการเข้าซื้อหรือขาย ทำให้เรารู้ถึงว่าระดับนี้อยู่ในจุดไหนขึ้นมามากหรือยัง ลงมาลึกแค่ไหน มีสัญญาณซื้อหรือสัญญาณขายหรือยัง

กราฟมันจะบอกเราครับว่ามีแนวโน้มอย่างไร ส่วนกราฟจะแม่นหรือหลอก ก็ต้องว่ากันอีกที
การลงทุนแบบใช้กราฟนี้ เราต้องมีวินัยเป็นอย่างยิ่งครับ เมื่อเกิดสัญญาณ ซื้อก็ต้อง “ซื้อ” และถ้าเกิดสัญญาณขายก็ต้อง “ขาย”

3. เล่นตามปัจจัยพื้นฐาน ก็อาจจะใช้ข้อมูลเบื้องต้นประกอบเช่น P/E P/BV เงินปันผล เป็นต้น หรืออาจจะถึงขึ้นเอางบการเงินมาดูเองก็มี ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของแต่ละคน

แต่แบบนี้ เราต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของเรา และ ต้องมีข้อมูลวิเคราะห์ถึงแนวโน้มในอนาคตด้วยนะครับ เพราะข้อมูลที่เราเห็น เป็นข้อมูลในอดีตที่เราผ่านไปแล้ว ไม่ได้การันตีว่าอนาคตจะดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม หรืออาจจะต้องอาศัย ฝ่ายวิเคราะห์ของแต่ละโบรกฯนั่นแหละ ว่าแต่ละที่ มีมุมมองอย่างไร แนะนำให้ซื้อหรือขาย เขามีเหตุผลอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่”

“คุณอยากเป็นนักลงทุนแบบไหน ถ้าเป็นผมนะครับ ผมอยากเป็นนักลงทุนทั้ง 3 ประเภทเลย”

“โดยขอนำทั้ง 3 ประเภทมารวมกัน คือ หาข้อมูลทางปัจจัยพื้นฐานก่อนครับ เมื่อเลือกตัวที่เราจะลงทุนได้แล้ว ก็มาดูวอลุ่มประกอบ และใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค มาหาจังหวะในการซื้อหรือขาย แล้วเข้าเก็งกำไร”

“แต่ความรู้ด้านการลงทุนของแต่ละคน อาจจะไม่เท่ากัน ต้องค่อยๆ ศึกษากันครับ หรือถ้าได้ มาร์เก็ตติ้งดีๆ มีข้อมูลประกอบ การตัดสินใจลงทุน ทำการบ้านให้ลูกค้าก็จะดีมากครับ ช่วยได้เยอะมาก”

“และที่สำคัญครับ การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากกว่ากำไร เราต้องรู้จักการคำว่า CUT LOSS หรือตัดขายขาดทุนเมื่อมองผิด แล้ว LET PROFIT RUN หรือปล่อยให้หุ้นมันขึ้นไปเรื่อยๆกำไรในพอร์ตของเราก็งอกเงยขึ้นงดงาม เมื่อเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้”

www.ThaiDayTrade.com

Monday, October 5, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 15 : รวยเรื้อรัง หันหลังให้คำว่าเจ๊ง

"ช่วงที่เรายังเรียนหนังสือไม่เก่ง ผมจะใช้วิธีลอกข้อสอบ คิดถึงสมัยเรียนหนังสือ อยากสอบให้ผ่าน ก็ต้องแอบมองข้อสอบคนอื่น แต่คุณอย่าไปลอกข้อสอบคนที่เรียนไม่เก่ง เราต้องลอกข้อสอบจากคนที่เก่งกว่า” ……. วิชัย วชิรพงษ์ (เสี่ยยักษ์) รายใหญ่ต่างยกนิ้วให้ว่าเป็น "เสือ" ในวงการหุ้น ตัวจริง

ในบทนี้ อยากขอยกวาทะเซียนหุ้นทั้งหลายที่เป็นเสมือนอาจารย์หุ้นของผมและทีมงาน มาฝากทุกท่าน อันเป็นการถอดประสบการณ์ของจริงที่ท่านเหล่านั้นประสพความสำเร็จจากฝีมือและจากการหมั่นพัฒนา จนร่ำรวยด้วยหุ้นมาแล้ว ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะออกไปลุยตลาดหุ้น

เสี่ยแตงโม: ไม่ซื้อดักรอ เพราะกลัวรอดักดาน หากมีสัญญาณซื้อ จะใช้สูตร 5-3-2

เริ่มจาก คุณ สมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ หรือ "เสี่ยแตงโม" เซียนหุ้น หาดใหญ่ จาก ช่างตัดผม ผู้เริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 8 หมื่นบาท และในระยะแรก เล่นหุ้นจนเหลือเงินเพียง 3 หมื่น แล้วขอเงินแม่มาเพิ่มทุนอีก 5 หมื่น จนปัจจุบัน ท่านได้ขึ้นแท่นรายใหญ่พันล้านแห่งวงการหุ้นไทย เจ้าของวาทะ “เล่นหุ้นให้ได้กำไรชัวร์ๆ ต้องซื้อที่ "New High"

(ที่มา: เปิดตัว "เสี่ยแตงโม" เซียนหุ้น "หาดใหญ่" จาก "ช่างตัดผม" ผันสู่..นักลงทุน "พันล้าน" ...... bangkokbiznews.com 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550)

“แต่ก่อนผมมักจะเข้าไปซื้อหุ้นก่อนแนวโน้มเสมอ เพราะเราคาดว่าราคามันจะต้องผ่าน New High แน่ๆ ...แต่ปรากฏหลายครั้งว่ามันไม่จริง จากบทเรียนครั้งนั้น ผมจึงไม่พูดพร่ำฮัมเพลง ขอเข้าไปซื้อที่ New High สถานเดียว...เพราะมีคติว่า ของดีต้องแพงที่สุด!!"

" ผมจะซื้อสูตร 5-3-2 จะซื้อ 3 ครั้ง ซื้อครั้งแรก 50% ถ้ามันขึ้นซื้ออีก 30% ถ้าขึ้นอีกซื้ออีก 20% แต่ถ้าซื้อแล้วมันลง จะหยุดซื้อทันที แล้วผมจะรอดู”

”ถ้าซื้อแล้วมีคนขายแล้วออเดอร์ของผมไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้ แสดงว่าผมเจอ (ตอ) ผู้ที่อยากขายใหญ่กว่าเรา ผมจะถอยทันที ขายทิ้งทุกราคา”

"ถ้าเห็นสัญญาณว่าราคาเริ่มอ่อนตัว ผมจะ Take Profit ทันที คือ ขายเกลี้ยงพอร์ต ผมจะกล้าถือหุ้นตัวที่กำไร และขายตัวที่ขาดทุน...กรอบนี้ผมให้ลงแค่ 5% แม้ใครจะบอกว่าหุ้นตัวนั้นดีมาก ระยะกลางดี แต่ทำไมมันลงล่ะครับ...ถ้าดีจริงมันต้องไม่ลง"

"ผมถือคติว่า...น้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง จำไว้เวลาหุ้นขาลง แม้ขายขาดทุนก็ต้องขาย ต้องยอมเสีย Civic ไปหนึ่งคัน...ไม่งั้น Mercedes-Benz คุณหาย!!

เอกยุทธ อัญชัญบุตร: ช่วงหุ้นขาขึ้นผมกล้าไล่ซื้อ แต่หากลง ผมเลิก ขายทุกราคา

คุณ เอกยุทธ อัญชันบุตร หรือ "จอร์จ ตัน" ประธานเครือโอเรียนเต็ลมาร์ท เซียนหุ้น พันล้าน ผู้เชี่ยวชาญตลาดการเงินระหว่างประเทศ ก็ให้ข้อคิดจากประสบการณ์ตรงที่น่าสนใจครับ

(ที่มา: ชั่วโมงเซียน: "จอร์จ ตัน" เซียนเหนือเซียน ...... bangkokbiznews.com 24 กันยายน พ.ศ. 2547)

”ผมจะให้น้ำหนักกับ "วอลุ่ม" มากกว่าสัญญาณทุกอย่าง หุ้นไม่มีวอลุ่มผมไม่เล่น ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิค"

"ช่วงที่หุ้นกำไรดี ราคากำลังขึ้น ผมจะไล่ราคาตลอด”

"แต่เมื่อใดที่มันเริ่มหันหัวกลับ...ผมเลิก ทุกราคาผมขายหมดจะไม่รอ และไม่เสียดายเงิน 5 สตางค์ 10 สตางค์ ทุกช่องที่มีอยู่จะโยน (ขาย) ทิ้งหมดเลย"

"ผมว่ามันเพ้อเจ้อ" หรือพวกที่ชอบซื้อหุ้น "ถัวเฉลี่ยต้นทุน"

”เล่นหุ้นขาลงซื้อถัวเฉลี่ยไม่ได้...ต้อง Cut Loss ทิ้งอย่างเดียว”

เสี่ยไฮ้ส้มตำ: ตัวไหนขึ้น ผมซื้อเต็มพอร์ตแล้วถือยาว 4-5เดือน ตัวไหนซื้อแล้วลง 2-3% ผมไปแล้ว

คุณ ธนกฤต เลิศผาติ หรือ ไฮ้ส้มตำ พ่อค้าส้มตำ เจ้าของร้าน “ไฮ้ ส้มตำคอนแวนต์” ผู้นำกำไร 1 แสนบาท จากการขายส้มตำ มาเป็นทุนประเดิมในการซื้อขายหุ้นเมื่อปี 2542 จนปัจจุบัน หากตลาดหุ้นดี จะซื้อขายวันละ 30-40 ล้านบาท ท่านก็มีวิธีคิดที่น่าสนใจมากครับ

(ที่มา: วาทะเด็ด...จาก "7 เซียนตัวจริง"...... bangkokbiznews.com 26 มกราคม พ.ศ. 2550)

“ทุกเย็นผมจะต้องดูกราฟว่าตัวไหนมีสัญญาณการสะสม และพื้นฐานของหุ้นเป็นยังไง เสร็จจากนั้น จึงมามองภาวะตลาดโดยรวมในช่วงนั้นว่าเอื้อต่อการขึ้นของหุ้นตัวนี้หรือไม่ ถ้าทุกอย่างเข้าล็อก จึงเริ่มเข้าไปสะสมหุ้นกับเขา ถ้ามั่นใจจะซื้อทีเดียว 70% แล้วรอ 2-3 วัน ...ถ้าหุ้นไม่ขึ้น ผมจะหยุดไว้ก่อน แต่ยังไม่ขาย แต่ถ้าขึ้นก็จะซื้อเข้ามาจนเต็มพอร์ต หรือถ้าซื้อแล้วราคามันปักลงเอาแค่ 2-3% ผมก็ไปแล้ว ไม่ต้องรอให้ขาดทุนกว่านี้”

“ส่วนใหญ่จะถือหุ้นไม่นาน หากหุ้นตัวใดยังมีแนวโน้มสดใสอาจจะถือประมาณ 4-5 เดือน แต่หากเป็นหุ้นรายเล็กหรือรายใหม่จะซื้อมาแล้วขายไปมากกว่า ส่วนใหญ่จะถือเพียง 1 วันหรือไม่ก็ซื้อตอนเช้าแล้วเย็นเทขาย เนื่องจากหุ้นรายเล็กยังใหม่และยังไม่มีความแน่นอนมีความเสี่ยงสูง”

เสี่ยป๋อง: บนสวรรค์มีไม่รู้กี่ชั้น ถึงคนว่าแพงแล้ว ถ้าไปต่อผมก็กล้าซื้อ แต่เวลาลงนรกก็มีไม่รู้กี่ขุมเหมือนกัน

คุณ วัชระ แก้วสว่าง หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ระดับพันล้านอีกท่านหนึ่ง ที่คนในวงการต่างยอมรับว่าเป็นอาจารย์ใหญ่

(ที่มา: วาทะเด็ด...จาก "7 เซียนตัวจริง"...... bangkokbiznews.com 26 มกราคม พ.ศ. 2550)

“สำหรับผม ถ้าจะซื้อหุ้น...ต้องดูทรง (กราฟ) ด้วย แม้ราคาจะขึ้นมาแล้ว 30% ถ้ายังพอไปต่อไหว...ก็เล่น ผมถือว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า บนสวรรค์มีไม่รู้ตั้งกี่ชั้น แต่เวลาลงนรกก็มีไม่รู้ตั้งกี่ขุมเช่นกัน จะไม่มีคำว่าถูก ว่าแพงในตลาดหุ้น"

“ยกตัวอย่างหุ้น KK ตอนนั้นราคา 1 บาท เจ้าของหุ้นเทขายก็มีให้เห็น แต่จากนั้นไม่นาน หุ้นก็ขึ้นไปที่ 80 บาท และสามารถลงมาที่ระดับ 14 บาท ก็มีให้เห็น ของแบบนี้เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าถูกหรือแพง”

หมอยง:ต้องเล่นหุ้นขาขึ้น หยุดเล่นหุ้นขาลง จำกัดผลขาดทุนให้ไว จาก5แสนรวยพันล้าน

สำหรับ ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม หรือ หมอยง แล้ว ผมถือว่า เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลยครับ คุณหมอเซียนหุ้นพันล้านท่านนี้ เริ่มต้น ในตลาดหุ้นเมื่อปี 2532 ด้วยเงินลงทุน 5 แสนบาท

(ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/road/20020603/mar1.shtml)

"ผมชอบเล่นหมากรุก การเล่นหุ้นก็เหมือนการเดินหมาก ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา
ก็เลยตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอฟันมาเล่นหุ้น ทั้งที่ตอนนั้นรายได้จากการเล่นหุ้นน้อยกว่ารายได้จากการทำฟัน"

"ตอนที่เริ่มสตาร์ทผมลงเงินไป 500,000 บาท ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามี "ราคาถูก" ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มีพี/อี เรโชต่ำ และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก" คุณหมอเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับว่า สิ่งที่คิดว่า "ราคาถูก" และ "ปลอดภัย" เอาเข้าจริง กลับตรงกันข้าม เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอด จนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท ในที่สุด ได้ข้อสรุปมาว่า “ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!"

"หุ้นยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ หุ้นยิ่งตกต้องยิ่งขาย" "จงทำตามแนวโน้มตลาด" นี่คือ กฎข้อแรกที่คุณหมอเรียนรู้หลังจากขาดทุนอย่างหนัก

“ผมเห็นคนล้มตายเยอะ ทุกคนที่เจ๊งหุ้นเหมือนกัน คือ ไม่ยอม "Stop Loss" ทำให้ผมเข้าใจว่าถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง"

”เล่นหุ้นขาขึ้น หยุดเล่นหุ้นขาลง และต้องชิงตัดขาดทุน เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย”

”หากเราเข้าไปในวิกฤติสัก 10 ครั้ง ถ้าโดนแค่ครั้งเดียวก็หมดตัวแล้ว"

เสี่ยยักษ์: จากเริ่มต้นหลักล้านรวยหุ้นเป็นพันล้านได้ แต่ต้องเผื่อใจขาดทุนไว้ซัก10% แบบนี้รวยแน่

สำหรับเซียนหุ้นพันล้านท่านนี้ วิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ ผมจะยกพื้นที่จากนี้ไป ให้ท่านแล้วล่ะครับ ถือว่าท่านเป็นผู้ที่ถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้กับสังคมรายย่อยมากที่สุดท่านหนึ่งเลยล่ะ

(ที่มา: กูรูหุ้นพันล้าน...วิชัย วชิรพงศ์...... bangkokbiznews.com 13 เมษายน – 19 กรกฎาคม 2550)

"คนบ้านนอกที่มีฐานะธรรมดาๆ ยังสามารถเล่นหุ้นรวยเป็นพันล้านได้ ผมเชื่อว่าพวกคุณทุกคน ก็มีโอกาสรวยระดับร้อยล้านได้ทุกคน...อย่าเพิ่งท้อ"

"ถ้าคุณชนะครั้งใหญ่ได้สักครั้ง ชัยชนะต่อๆ มาจะเป็นของคุณ"

"มันไม่ใช่กำไรแค่ร้อยเท่า คุณมีเงิน "พันล้าน" โตมาจากเงิน "2 ล้าน" มันโตเป็นพันเท่านะ"

“หุ้นจะเป็นขาขึ้น "ราคา" และ "ปริมาณ" จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน”
“ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง"”

"ผมก็ทำตามตำราเป๊ะ ! พอ Black Monday หุ้นตกหนัก เราก็เข้าไปลุยเลย เลือกซื้อแต่หุ้นค่าพี/อี ต่ำๆ สมัยนั้นก็หุ้นแบงก์ทั้งนั้น ซื้อไปแล้วมันก็ไม่ขึ้น...หุ้นตัวอื่นขึ้น หุ้นเราก็ไม่ขึ้น”

“ประสบการณ์ขาดทุนครั้งแรก เอาเงินมาเล่น 2 ล้านกว่าบาท ขาดทุนไป 5 แสนกว่า นั่งมองคนอื่นกำไร ตัวเองขาดทุน เพราะเล่นแต่หุ้นแบงก์ค่าพี/อี ต่ำๆ สุดท้ายก็รู้ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล คนส่วนใหญ่เขาไม่คิดเหมือนเรา ในที่สุดก็ตัดสินใจล้างพอร์ต"

“ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน อย่าดันทุรัง"

"คุณยังไม่มีประสบการณ์เลย คุณต้องขาดทุนก่อน ในชีวิตจริงต้องเป็นอย่างนั้น นักลงทุนมือใหม่ "ขาดทุน" ถือเป็นเรื่องปกติ"

“ถ้าวันหนึ่งคนอื่นทำงาน 8 ชั่วโมง เราต้องทำงาน 10 ชั่วโมง ต้องกลับมา "ชนะ" ให้ได้”

“เราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความผิดพลาดของเราเอง อย่าไปโทษคนอื่น นำกลับมาแก้ไข เชื่อผม! แล้วคุณจะเล่นหุ้นเก่งขึ้น”

"เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ"

“เราต้องพยายามอ่านหลักจิตวิทยาของตลาดว่า คนอื่นเขาคิดอย่างไร..? กับหุ้นตัวที่เราจะเล่น อย่าพยายาม "คิดเอง-เออเอง" คนเดียว”

"สมมติว่า ขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน"

“การเล่นหุ้นฝืนทิศทางตลาด เล่นแล้วมันเหนื่อย !!! เหมือนการขึ้นรถผิดคัน ทำไม! รถคันนี้มันถึงไม่ออกจากท่ารถสักที เรารอแล้วรออีก คันนี้ก็ไป คันนั้นก็ไปก่อน”
"หุ้นเวลาเป็น "ขาลง" เราต้องตัดทิ้ง อย่าถือ และอย่าซื้อถัวเฉลี่ย"

"เริ่มตัดไปทีละนิ้ว ตัดไปเรื่อยๆ เหมือนนิทานตะพาบน้ำ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไง! มันเจ็บปวดที่สุด แต่คุณไม่มีทางเลือก ..ถ้าอยากรอดคุณต้องรีบทำ"

“ทุกคนจะมีจังหวะฟ้าลิขิต...ทุกคนต้องเคยได้รับโอกาสนั้น แต่คุณจะตักตวงมันได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง”

"ทุกอย่างมันต้องมาจากพื้นฐานก่อน แต่การดูพื้นฐานอย่างเดียวถ้าไม่ใช้เทคนิเคิลช่วย...เปรียบเสมือนคุณขึ้นรถเมล์ คุณจะไปสะพานตากสิน คุณกลัวร้อนคุณก็ไปนั่งรอในรถเมล์คันที่มันสตาร์ทเครื่องเอาไว้แล้ว แต่มันไม่ออกจากท่า (รถ) สักที”

"ที่มันไม่ออกเพราะจังหวะมันผิด มันเร่งเครื่องบรื้อๆ แต่ไม่ออก คันข้างๆ ออกไปแล้วเว้ย! คันเราก็ไม่ไป นั่งรอมีแต่กระเป๋ารถขึ้นมาเขย่าตั๋ว แต่ก็ไม่ออก เราจะคิดทันทีว่า "ต้องลง" ไม่ใช่คันนี้แน่...ขึ้นผิดคัน พอเราลง เปลี่ยนคันไปขึ้นคันใหม่ คันเดิมของเราดันออก"

"วิธีการเล่นหุ้นต่อ 1 รอบ จำไว้เลยนะว่า คุณต้องเตรียม "ขาดทุน" ไว้ 10% ของพอร์ต ของคุณเสมอ...ผมกล้าพูดได้เลยว่า ต่อให้เป็นเซียน เป็นโคตรเซียนแค่ไหนก็ตาม คุณมี 100 ล้าน คุณต้องเตรียมขาดทุนไว้ 10 ล้าน ไว้สำหรับ Cut Loss (ยอมขาดทุน) แน่นอนที่สุด...เชื่อผม!!

www.ThaiDayTrade.com

Sunday, October 4, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 14 : กลโกงปั่นหุ้น

ถ้าไม่พูดถึงการปั่นหุ้นเลย ก็จะดูไม่สมบูรณ์ ใช่ไหมครับ เพราะมันมีอยู่จริง ในตลาดหุ้น

แต่ที่เอามาเล่าในที่นี้ ไม่ใช่สนับสนุนการปั่นหุ้นนะครับ เพราะการปั่นหุ้น ผิดศีล ผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณ ฯลฯ

บาปกรรมอีกต่างหาก ที่ร่ำรวยบนความเสียหายของผู้อื่น ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกครับ เราๆท่านๆ ที่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือ ที่กลุ่มปั่นหุ้นเรียกเหยื่อของเขาว่า”แมงเม่า” นั่นแหละ

บทนี้จึงเป็นเหมือนเปิดโปงพวกปั่นหุ้น ให้พวกเราได้ ”รู้ทันเกม” มากกว่า จะได้ไม่หลงตกไปเป็นเหยื่อของพวกขอทานใส่สูท

จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ้นใหญ่หรือหุ้นเล็ก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นฝรั่งหรือหุ้นไทย มันก็ต้องไล่ราคาทั้งนั้นแหละ ไม่งั้น มันก็ไม่ขึ้นหรอก

แต่ในที่นี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่หุ้นปั่นก็แล้วกันครับ เพราะหุ้นพวกนี้เป็นอันตรายมากกว่า ไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน เราจึงต้องรู้เท่าทันเป็นพิเศษ

เดี๋ยวเราตามไปดูพร้อมๆกันดีกว่า ว่าการปั่นหุ้น เขามีกระบวนการอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องกลายเป็น แมงเม่า บินเข้ากองไฟ ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพในตลาดหุ้น

ก่อนกระบวนการไล่ราคาเกิดขึ้น กลุ่มปั่นหุ้นก็จะต้องทำการเลือกหุ้นก่อนครับ

ครั้นจะเลือกหุ้นที่มีกองทุนถืออยู่ก็คงไม่ดีแน่ เพราะไล่ๆราคาอยู่ กองทุนอาจขายไม้ใหญ่ใส่มาก็ได้ ถ้าราคามันปรับตัวสูงไปกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก
ข้อสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องพูดคุยเจรจากับเจ้าของกิจการก่อน ไม่งั้น เดี๋ยวเจอดี เพราะเจ้าของกิจการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีหุ้นให้ขนออกมาขายได้ไม่อั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักจะเห็นความโยงใยของรายใหญ่ในกลุ่มหุ้นที่ร่วมขบวนการอยู่เสมอ หุ้นในกลุ่มเดียวกัน เราก็จะเห็นชื่อกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วจากไปพร้อมๆกันในเวลาไม่นานนัก แล้วกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปสิงสถิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอื่นต่อๆไป หรือไม่ก็ส่งคนของแต่ละบริษัทมาถือหุ้นไขว้ไปมาระหว่างบริษัทในกลุ่มก๊วนของตน

โดยมาก กลุ่มทำราคา ก็มักจะเลือกบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องไปชนกับกองทุนครับ รวมทั้ง บริษัทนั้นต้องมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย หรือ ที่เขาเรียกกันว่า มี Free Float ต่ำ ด้วย เพื่อที่จะสามารถควบคุมหุ้นได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยิ่งราคาหุ้นต่ำ ก็จะยิ่งดี เพราะ จะได้รู้สึกว่าถูกในทางจิตวิทยา ล่อคนมาติดกับดักได้ง่าย และยังทำกำไรได้สูงซะด้วย

เช่น เงิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นราคา 1 บาท ได้ 10 ล้านหุ้น เมื่อหุ้นขึ้นไปเพียง 1.50 บาท ก็สามารถทำเงินได้แล้วถึง 5 ล้านบาท ซึ่งหากนำเงิน 10 ล้านบาทนี้ ไปซื้อหุ้นบลูชิพ ราคา 100 บาท จะซื้อได้เพียง 1 แสนหุ้น และหุ้นต้องขึ้นไปถึง 150 บาท จึงจะได้กำไร 5 ล้านบาท

เมื่อได้หุ้นเป้าหมายแล้ว ก็ต้องหาบัญชีตัวแทนล่ะครับ เพื่อนพ้องน้องพี่ ลุงป้าน้าอา คนขับรถ คนสวน ที่เปิดบัญชีรอไว้หลากหลายโบรกเกอร์ จะถูกใช้ชื่อ เป็นตัวแทน ในการซื้อ ขาย รับโอนหุ้น ระหว่างกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ ยิ่งซับซ้อนขึ้น เพื่อให้ยากในการตรวจสอบ กระจายไปมากกว่า 20 บัญชี ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยเลยครับ

เมื่อทุกอย่างพร้อม คราวนี้ ก็เริ่มทำการ เก็บ-กด หุ้นสิครับ

การเก็บ-กด หุ้น เป็นจิตวิทยารายใหญ่รังแกรายย่อย โดยใช้วิธีการวาง offer หนาๆ ไม่ให้ใครกล้าเคาะซื้อขึ้นไป และกดดันให้คนที่มีหุ้นอยู่ รู้สึกว่า ราคาคงจะขึ้นต่อไม่ไหวแล้ว ขายหุ้นลงมาที่ฝั่ง bid ซึ่งกลุ่มทำราคาตั้งราคารอซื้ออยู่ วิธีนี้ พบเห็นกันโดยทั่วไปครับ

แต่สำหรับหุ้นในกลุ่ม เดอะซัน หรือ หุ้นในกลุ่ม เสี่ยลี หรือ หุ้นในกลุ่ม เสี่ยบี แล้ว โหดกว่านั้น ใช้วิธีการกดหุ้นด้วยวิธีซาดิสต์ หรือที่ในวงการชอบเรียกว่า “ทุบให้อ้วก” โดยให้พรรคพวกตั้ง bid ไว้ที่โบรกเกอร์หนึ่ง แล้วสั่งอีกโบรกเกอร์ หนึ่ง ให้ขายโครมลงมา ไม้ใหญ่ๆ เขย่าขวัญพวกเรา บล็อกราคา ดองราคาไม่ให้ไปไหน มีกด มีทุบ สักระยะหนึ่ง เดี๋ยวรายย่อยก็จะขายทิ้งลงมาให้เองครับ

ช่วงหลังนี้ เขาพัฒนาไปถึงขั้นใช้กราฟเทคนิคเข้าช่วย ทำเหมือนๆจะไป ไล่ซื้อหุ้นให้ราคาวิ่งขึ้นไปถึงแนวต้าน ซื้อรวดเดียวแบบกวาดมาจนเกลี้ยง แล้วทิ้งโครมลงมาในลักษณะ “ทุบให้อ้วก” จนเกิด Sell signal เพื่อสั่งลา ว่าหุ้นตัวนี้ ไปไม่รอดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้มวลชนทั้งหลายที่หลงซื้อหุ้นนั้นเข้าไป เซ็งกันไปเอง ขายขาดทุนบ้าง ขายเท่าทุนบ้าง ส่วนกลุ่มทำราคาก็ย้ายไปเล่นตัวอื่นพลางๆก่อน เพื่อให้มวลชนที่ถือหุ้นนี้อยู่ เกิดอาการสิ้นหวังกันถ้วนหน้า

กระบวนการ เก็บ-กด และ ทุบให้อ้วก นี้ อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือ เป็นเดือน เลยล่ะครับ เพื่อเรียกของคืนมาจนกว่าจะครบตามที่ต้องการ

ในช่วงของการกด-เก็บหุ้น ปริมาณการซื้อขายจะมากขึ้นผิดสังเกตครับ มีซื้อๆขายๆ แต่ราคาไม่ขยับ หรือ ขยับก็ขยับไม่มาก หรือ บางครั้งขยับลงอีกต่างหาก เพื่อกดดันให้ผู้มีหุ้นอยู่ รู้สึกว่า แรงขายมีเยอะจัง ราคาไม่ไปไหนเลย แล้วขายหุ้นทิ้งลงมา

เมื่อได้หุ้นครบแล้ว เขาจะนั่งรอเวลาระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผิดสังเกตครับ แล้วจึงค่อยไล่ราคาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว

ในระหว่างที่ไล่ราคาขึ้น ก็จะมีการเชิญนักวิเคราะห์ไปเยี่ยมชมกิจการ หรือ ออกข่าวดี เรื่องรายได้ พันธมิตร หรือ อาจจะเลยเถิดไปถึงขนาดปล่อยข่าวลือต่างๆนานาไปเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้มวลชนเชื่อว่า หุ้นกำลังจะมีแนวโน้มที่ดี

แล้วจะทำยังไงล่ะครับ เพื่อจะเพิ่มน้ำหนักให้กับข่าวดีนั้น ก็ต้องไล่ราคาโชว์ซิครับ ด้วยการเคาะซื้อครั้งละมากๆ รวบทีละ 2-3 แถว แบบเว่อร์ๆหน่อย ก็กินรวบไม่แบ่งใครเลย 5-6 แถวก็มี

คราวนี้ ความมั่นใจก็มา การแย่งกันซื้อแบบไม่เกี่ยงราคาก็เกิดขึ้น

ถ้าหุ้นนั้น พื้นฐานแย่หน่อย หรือ กลุ่มทำราคากลุ่มเล็ก เกมส์ก็มักจะจบไวครับ แต่บางกรณี ที่กลุ่มทำราคาเป็นกลุ่มใหญ่ การลากราคานั้น อาจจะยาวนาน เพื่อให้ราคาขึ้นไปสุดโต่งเท่าที่จะเป็นไปได้

กลวิธีระหว่างไล่ราคานี้ ก็น่าเกลียดพอประมาณครับ ตั้งขายไว้ที่โบรกเกอร์หนึ่ง แล้วก็สั่งอีก โบรกเกอร์หนึ่งให้เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้แล้ว ก็จะสั่งโบรกเกอร์ให้ตั้งขายในราคาที่สูงขึ้น แล้วก็สั่งอีกโบรกเกอร์หนึ่งให้เคาะซื้อตาม

ตลาดหลักทรัพย์ตรวจได้ไม่ยากครับ ถ้าอยากจะตรวจจริงจัง ใครที่ซื้อแพงแล้วขายถูก แล้วก็ไปไล่ซื้อที่แพงกว่า แล้วก็ขายถูกอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และซื้อขายที ไม้ใหญ่ๆ ก็นั่นแหละ แก๊งค์ปั่นหุ้น

เมื่อหุ้นขึ้นมาใกล้ราคาเป้าหมายแล้ว ไม่รู้เป็นไง สื่อและหนังสือพิมพ์ มักจะออกมาเชียร์เรื่อย ช่วงนี้แหละครับ ที่รายใหญ่จะเริ่มทยอยขายหุ้น

แต่เนื่องจากหุ้นมันมีเยอะนะครับ ขายลำบาก ก็ต้องเรียกแขกเข้ามาร่วมแจม

วิธีเรียกแขก ก็จะใช้วิธีเดิมครับ เคาะซื้อของตัวเองที่ตั้งขายไว้ที่อีกโบรกเกอร์หนึ่งอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลายๆระดับราคา มีโชว์เคาะซื้อเคาะขายสลับไปมา ครั้งละหลายแสนหลายล้านหุ้น เพื่อให้ดูคึกคัก เป็นที่สนใจของมวลชน

เมื่อมวลชน เห็นว่าหุ้นตัวนี้ วิ่งดี น่าจะทำกำไรได้งาม ก็จะแห่เข้ามาเคาะซื้อสนุกสนานพร้อมความหวัง รวยเร็ว

ตรงนี้แหละครับ ที่รายใหญ่จะเริ่มตั้งขายที่ฝั่ง offer ในแต่ละช่วงราคา พร้อมๆกับตั้ง bid หนาๆ เพื่อจูงใจให้รายย่อยเคาะซื้อเนื่องจากเห็นว่า ขืนตั้งรอซื้อจะไม่ได้ของ

ระหว่างนี้ อาจมีเคาะซื้อนำไม้เล็กๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อจูงใจให้รายย่อยแห่เคาะซื้อตาม เมื่อหุ้นที่ตั้งขายใกล้หมด รายใหญ่จะขนหุ้นมาเติมขาย และอาจมีเคาะซื้อหุ้นที่ตัวเองวางขายไว้ที่โบรกเกอร์อื่นสลับเป็นระยะด้วยครับ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหุ้นนั้น ยังมีแรงซื้อมากอยู่

แต่พอซื้อเสร็จ ก็ขนหุ้นที่เพิ่งซื้อนะแหละ มาวางขายอีกที่ฝั่ง offer อีก หลังจากนั้นไปนาน หุ้นก็จะถูกเปลี่ยนมือไปอย่างเงียบๆ มวลชนก็จะเริ่มครอบครองหุ้นเกือบทั้งหมดของรายใหญ่ ในเวลาต่อมา
ส่วนรายย่อยที่ยังไม่เคาะซื้อก็จะตั้ง bid รอ ใช่ไหมครับ พอรายย่อย bid รอ รายใหญ่ก็จะค่อยๆถอน bid ออก แล้วตั้งซื้อใหม่เพื่อดันให้รายย่อยได้คิวซื้อก่อน

เมื่อ bid ที่เหลืออยู่ มีแต่คำสั่งซื้อของรายย่อยที่หนาแน่นพอแล้ว รายใหญ่ก็จะเทขาย ลงมา และขายต่อเนื่องลงมาเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดพอร์ต

ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าบทนี้ เป็นการเปิดโปงเพื่อให้รู้ทันเกมปั่นหุ้น ไม่ได้สนับสนุนการผิดศีลทำบาป ไม่ได้สนับสนุนการลักทรัพย์ ไม่ได้สนับสนุนการมุสาฯ แต่ประการใด แต่ต้องการสื่อให้เห็นไม่เผลอไปเล่นในเกมของเขา เพื่อเราจะได้ไม่หลงทางไปเป็นเหยื่อ

มาถึงตรงนี้ ก็อดที่จะพูดถึง การไล่ราคาวอแร้นท์และการซ่อนออร์เดอร์ไม่ได้

เริ่มจากการไล่ราคาวอแร้นท์ก่อนแล้วกันครับ

หุ้นเก็งกำไรหลายๆตัว ก็มีวอแร้นท์ และหลายๆครั้งที่คนทำราคาจะเอาหุ้นตัวแม่และวอแร้นท์ขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยไม่ให้ใครได้ทันสังเกตเห็น

เมื่อสะสมหุ้นและวอแร้นท์ได้มากพอ ก็จะลากวอแร้นท์ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพราะราคาถูกกว่า ใช้เงินน้อยกว่า

เมื่อลากวอแร้นท์ขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะลากหุ้นแม่ขึ้นไป พร้อมๆกับวางขายวอแร้นท์ เพราะนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ เมื่อเห็นหุ้นแม่ขึ้น ก็เชื่อว่า วอแร้นท์จะขึ้นตาม แต่หารู้ไม่ ว่าเขาวางขายวอแร้นท์กันแล้ว

ตบท้ายแล้วนะ จะเปิดโปงเรื่องการซ่อนออร์เดอร์หน่อย

ซื้อแล้วลง ขายแล้วขึ้น เป็นเรื่องปกติที่ผิดพลาดกันได้ครับ แต่ความผิดพลาดนั้น สามารถทำให้ลดน้อยลงไปได้ ด้วยความช่างสังเกตครับ

การตั้งซ่อนออร์เดอร์ เพื่อหลอกซื้อของ มักจะใช้ในช่วงที่ราคาอยู่ที่แนวรับ จะหลุดแหล่ไม่หลุดแหล่พอดี ซึ่งตรงจุดนี้ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำ มักจะยอมขายทิ้งลงมา ก่อนที่ราคาจะหลุดแนวรับลงไป หรือไม่ก็มักจะใช้ในช่วงที่ราคาอยู่ที่แนวต้านพอดี ให้เราลุ้นเล่นว่าจะ Breakout ผ่านขึ้นไปได้หรือไม่ พอเราเห็นว่า มันคงไปไม่ไหวแล้ว เราก็จะขายลงมา จากนั้นไม่นาน เขาก็จะลากผ่านแนวต้านขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ใครกล้าตาม

เราไปดูการเล่นกับจิตวิทยามวลชน ด้วยวิธี Partial Publish กันครับ

หากรายใหญ่ต้องการให้มวลชนขายลงมา เขาก็จะขนหุ้นมาวางขายที่ฝั่ง Offer หนาๆ แล้วตั้ง bid น้อยๆให้เราหวาดเสียวเล่น หรือไม่ก็ใช้ กลวิธี “ทุบให้อ๊วก” ตามแต่ความซาดิสต์ที่มีในจิตใจ

แต่เมื่อราคาไหลหรือดิ่งลงไป ณ ระดับราคาหนึ่งแล้ว รายใหญ่เหล่านั้นก็จะสั่งตั้งซื้อแบบซ่อนออร์เดอร์ ที่ฝั่ง bid ด้วยการตั้งซื้อหุ้นจำนวนมาก แต่ใช้คำสั่ง partial publish ทีละน้อยๆ เช่น สั่ง bid ซื้อหุ้นช่องละ 1 ล้านหุ้น แต่ให้เห็นทีละ 40,000 หุ้น

แหม พอเราเห็นฝั่ง offer หนาๆ ขนาดหลายล้านหุ้นขวางอยู่ ขณะที่ bid เหลือแค่ 40,000 หุ้น เราก็รีบขายซิครับ ก่อนที่ราคานั้นจะมีคนชิงขายลงมาก่อน แต่มันก็น่าแปลก พอเราขายลงมา 40,000 หุ้น มันก็โผล่ขึ้นมาอัตโนมัติที่ฝั่ง bid อีก 40,000 หุ้น พอเราขายอีก 40,000 หุ้น มันก็โผล่เข้ามาอีก 40,000 หุ้น พอเราขายอีก 80,000 หุ้น มันก็โผล่เข้ามาอีก 40,000 หุ้น 2 ครั้ง ติดกัน พอเราหยุดขาย มันก็ยังคงรอเราที่ฝั่ง bid อีก 40,000 หุ้น แบบไม่สะทกสะท้านแรงขาย

คำถามคือ หากเป็นท่านเอง ท่านต้องการจะขายหุ้น 2-3 ล้านหุ้น ท่านจะเอามาวางโชว์ที่ฝั่ง offer ไหมครับ ถ้าท่านแสดงให้คนอื่นเห็นว่าท่านอยากขาย 2-3 ล้านหุ้น แล้วใครจะไปเคาะซื้อล่ะครับ

และ ใครกันหนอ จะรับซื้อที่ฝั่ง bid ได้ไม่อั้นขนาดนั้น ใครขายมาเท่าไหร่ รับซื้อหมดเลย แสดงว่า คนที่รับซื้อไม่อั้นคนนั้น เขาต้องมั่นใจสูงเลยใช่ไหมครับว่าราคาจะวิ่งแน่ เพราะถ้าเป็นคนปกติ เขาไม่ซื้อหรอก ถ้าแรงขายยังขายทิ้งลงมาเรื่อยๆ

ถ้าท่านเห็นแบบนี้ ต้องหยุดขาย หรือ หาจังหวะซื้อคืนแล้วนะครับ พลาดแล้วล่ะ เขากำลังตั้งโต๊ะซื้อของอยู่ และเมื่อไม่มีใครขายลงมาให้แล้ว อีกไม่นาน เขาจะกวาดรวบขึ้นไปอย่างรวดเร็ว

พอวิธีนี้ เริ่มมีคนสังเกตเห็น รายใหญ่เลยพัฒนาวิธีใหม่ ด้วยการ ย้าย partial publish มาที่ฝั่ง offer แทน พร้อมๆกับ ทยอยตั้งรับ ที่ฝั่ง bid ด้วย จากนั้น ก็เคาะซื้อของตัวเองไปเรื่อยๆ ที่ฝั่ง offer เพื่อให้ใครๆเห็นว่า นี่เป็น partial publish นะ มีออร์เดอร์ซ่อนขายที่ฝั่ง offer นะ น่ากลัวนะ

พอเขาเคาะซื้อ 100,000 หุ้น โห partial publish ไหลมาให้เห็น 20 รายการๆละ 5,000 หุ้น เลยแหะ อีกสักพัก เขาก็เคาะซื้ออีก 200,000 หุ้น partial publish ก็จะโชว์ให้เห็นมา 40 รายการๆละ 5,000 หุ้น ว่าไง ว่าไง กลัวไหม มีออร์เดอร์ซ่อนขายอยู่นะ

พอเราเห็นว่า เคาะซื้อฝั่ง offer เท่าไหร่ก็ไม่หมดซะที แถมซ่อนออร์เดอร์ซะด้วย ด้วยความรู้เท่าทัน เราก็จะขายโครมลงมาที่ฝั่ง bid แหะๆๆ เสร็จเขาเลยล่ะครับ เขาได้ของไปแล้ว พอฝั่ง bid จะหมด เขาก็เติม bid อีก ขายมาเท่าไหร่ ฝั่ง bid ก็ไม่หมดซะที ไอ้ที่เราขายไปแล้ว นั่งรอทั้งวัน ยังไม่ได้ซื้อคืนเลย

คำถามคือ หากเป็นท่านเอง ท่านต้องการจะซื้อหุ้นจำนวนมาก ท่านเห็นว่า ฝั่ง offer หนาขนาดนั้น เคาะไม่ผ่านสักที ท่านจำเป็นจะต้องรีบตั้ง bid มาจ่อแบบนี้ไหมครับ ทำไมฝั่ง offer ไมผ่าน แต่ฝั่ง bid ก็ไม่หลุดล่ะ ถ้าไม่มีคนตั้งโต๊ะรอซื้อไม่อั้นที่ฝั่ง bid

แต่ถ้า Offer ไม่ผ่าน ฝั่ง bid ก็ไหลรูด ตัวใครตัวมันล่ะกันนะครับ

น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวางนะครับ

www.ThaiDayTrade.com

Saturday, October 3, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 13 : กลลวง ข่าวลือ

“ทุ่งกล้า กลับเข้ามาในตลาดเที่ยวนี้ ผมมองว่า ราคามันควรจะวิ่งไปถึง 12 บาท มันจึงจะเหมาะสม”

“เนี่ยะ หุ้นรับเหมาอีเอซี เฮียเค้าหวังปั้น รายใหญ่ล้วนกอดหุ้นกันหมด อีกไม่นาน จะได้เห็นการก้าวกระโดดของบริษัท คอยดูแล้วกัน เจ๊เองก็จะถือยาวเลยล่ะ ไม่ขายเด็ดขาด ขายไปก็ไม่มีทางได้ซื้อคืนหรอก”

อาจจะจริงก็ได้ หรือ ไม่จริงก็ได้ครับ เราไม่ใช่ผู้กุมชะตาของหุ้นตัวนี้

แต่ที่แน่ๆ ถ้าข่าวลือแพร่หลายในวงกว้างอย่างเป็นระบบ จนใครๆก็รับรู้ข่าว แสดงว่า ผู้กุมชะตา มีความพยายาม ให้ข่าวกระจาย เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง เช่น ต้องการให้มวลชนเข้าซื้อ เพื่อตนจะขายได้ราคาดี หรือ ต้องการให้มวลชนขาย เพื่อจะได้เข้าเก็บของ

เพราะถ้าเป็นความลับสุดยอดจริง ข่าวจะไม่มาถึงเราๆท่านๆ ครับ

เนื่องจาก ผู้กุมข่าว และ ใช้ประโยชน์จากข่าวนั้น จะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มหาศาล หากสาธารณชน ยังไม่ทราบข่าว และหากทุกคนมีข้อมูลเสมอภาค เท่าเทียมกัน ราคาจะวิ่งรับข่าว ในเวลาอันรวดเร็ว จนไม่เหลือส่วนต่าง ให้หาประโยชน์

ตอนประเทศไทยจะลอยตัวค่าเงินบาท สมัยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ท่านได้ข่าวลือมาก่อนไหมคับ

ตอนมาตรการ 30% จะประกาศใช้ กับ ตอนมาตรการ 30% จะได้รับการยกเว้นกับตลาดหุ้น หลังประกาศใช้ ได้เพียงวันเดียว ท่านได้ข่าวลือมาก่อนไหมคับ

ครั้นจะไม่ให้แคร์ข่าวลือเลย ก็ไม่ได้ ต่อให้ท่านลงทุน ในหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูงก็เหอะ

เพราะหากข่าวลือในทางร้าย มันเกิดขึ้นจริง ความเสียหายมากมาย มันก็สามารถเกิดขึ้นกับท่านได้ ในทางตรงข้าม หากมีข่าวลือในทางที่ดี แล้วท่านบอกว่า ไม่สนข่าวลือ มันก็สูญเสียโอกาส ในการทำกำไรได้เหมือนกัน

ข่าวลือที่ฮิตๆ เช่น ข่าวปฏิวัติซ้ำ ปฏิวัติซ้อน ปฏิวัติย้อน ข่าวลือเรื่องรัฐบาลถังแตก เรื่อง IMF คิดถึงไทย เรื่องต่างชาติจะทุบค่าเงิน ฯลฯ ข่าวรายใหญ่เข้าลุยซื้อ หุ้นตัวนี้จำนวนมาก ข่าวรายใหญ่ขายหุ้นบริษัทอยู่ ข่าวบริษัทกำลังจะเพิ่มทุน บริษัทจะชนะประมูล บริษัทจะต้องทำ Tender Offer บริษัทกำลังจะมีข่าวดี บริษัทมีงานใหญ่รออยู่ บริษัทกำลังจะได้พันธมิตรต่างชาติ บริษัทจะประกาศจ่ายปันผลสูงมาก บริษัทจะไปเทคโอเว่อร์กิจการอื่น หรือบริษัทกำลังจะถูกเทคโอเว่อร์ บริษัทจะชนะคดีหรือจะแพ้คดี และ อื่นๆอีกมากมาย

ข่าวอะไรก็ตาม หากมาถึงท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครๆก็รู้เหมือนท่านด้วย แสดงว่า ผู้กุมชะตาหุ้นตัวนั้น มีความพยายามให้ข่าวกระจาย เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง

เดี๋ยวเราไปดูกันครับ ว่าทำไมเซียนหุ้นถึงให้ “ซื้อทันที” ที่มีข่าวลือในเชิงบวก แล้วค่อยขายทำกำไร เมื่อข่าวจริงปรากฏ เข้าตำราที่ว่า “Buy on rumor, Sell on fact”

และ ทำไมเซียนหุ้นถึงให้ “ขายทันที” ที่มีข่าวลือในเชิงลบ แล้วค่อยซื้อหุ้นคืน ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมมาก เมื่อข่าวจริงปรากฏ เข้าตำราที่ว่า “Sell on Rumor, Buy on fact”

แต่ก่อนจะซื้อหรือขาย ช่วยเช็คหน่อยก็ดี ว่าเราเป็นคนแรกๆที่รู้ข่าวลือนี้ หรือ เขารู้กันทั้งตลาดแล้ว ลองเช็คราคาคร่าวๆดูนะครับ ว่ามันขึ้นหรือลงเล่นข่าวนั้นมากี่วันแล้ว อย่าตกเป็นเหยื่อของข่าวลือ โดยเด็ดขาด

บางที เรื่องราวต่างๆนี้ อาจจะช่วยให้ท่านเข้าใจได้ว่า ทำไมบริษัทออกจะมีข่าวดีปานนั้น แต่พอท่านซื้อแล้ว มันดันทะลึ่งลง และ ทำไมบริษัทเจอมรสุมขนาดนี้ แต่พอท่านขาย มันกลับเด้งกลับ ซะงั้น

ท่านเชื่อเรื่อง ข่าววงในไหมครับ…

โดยเฉพาะข่าววงใน ที่มาจากเจ้าของหุ้น หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว การนำข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้น ก่อนจะแจ้งข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ ต่อนักลงทุนอย่างเป็นทางการนั้น ผิดกฎหมายฐานใช้ข้อมูลวงใน (Insider trading) และผิดจรรยาบรรณ เพราะถือว่าไม่มีธรรมาภิบาลครับ

แต่เอาเข้าจริง ก็มักมีพฤติการณ์ทำนองนี้ อยู่เรื่อยๆ มีทั้งจับได้มั่ง จับไม่ได้มั่ง หรือกว่าจะจับได้ก็เข้าตำรา กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

ผมไม่สนับสนุนให้ท่านทำผิดกฎหมาย หรือร่วมกับเจ้าของหุ้นทำผิดนะครับ แต่ในเมื่อยังมี เจ้าของหุ้น มีพฤติการณ์ Insider trading แล้วก็เป็นการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุน มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ปราบไม่ได้ทำลายไม่หมดมาถึงยุคปัจจุบัน และยังน่าจะมีต่อไป คู่กับตลาดหุ้นในอนาคต ผมก็ขอเปิดกลเกมเจ้าของหุ้นให้รู้กันไว้

พวกเราคนเล่นหุ้นจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือบางทีอาจมีรางวัลงามติดปลายนวม หากเรารู้ทันพวกเจ้าของหุ้นเจ้าเล่ห์ทั้งหลาย

ถ้าบริษัทกำลังจะมีข่าวดี สมมุติว่าท่านเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหาร หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ท่านจะแอบเข้าเก็บหุ้นก่อนหรือเปล่าครับ

และเมื่อท่านเก็บจนพอแล้ว ท่านอยากให้หุ้นขึ้นหรือเปล่าครับ

ถ้าจะให้หุ้นขึ้นด้วย และ ท่านเองก็ได้บุญคุณด้วย ท่านก็ต้องบอกคนใกล้ตัว ให้เข้าเก็บด้วยใช่ไหมครับ

เมื่อคนใกล้ตัว หลายๆคน เข้าเก็บ กราฟราคาหุ้นจะออกอาการ เป็นแนวโน้มขาขึ้น และเมื่อคนใกล้ตัวท่าน โทรกริ๊งกร๊างบอกญาติพี่น้องเพื่อนพ้องเขา ข่าวลือก็จะปูด ออกสู่สาธารณะ พร้อมๆกับ ราคาขยับขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเร็ว จริงปล่าว

และเมื่อข่าวจริงปรากฏ เมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าว นักวิเคราะห์จะปรับราคาเป้าหมายใหม่ พร้อมแนะนำซื้อ บอกว่าดี อย่างงั้นอย่างโง้น อย่างงี้ ทำให้ มวลชนคนส่วนใหญ่ในตลาด ที่เคยลังเล ตอนได้ยินข่าวลือมาใหม่ๆ เกิดมีความมั่นใจอย่างแรง ที่จะเข้าซื้อตาม อย่างเร่งรีบ ด้วยความกลัว ตกขบวนรถไฟสายด่วน

แหม ราคาก็ขึ้นมามากแล้ว ปริมาณหุ้นที่ตั้งรอซื้อก็หนาแน่น ท่านจะขายไหมครับ คนใกล้ตัวและญาติพี่น้องเพื่อนพ้องทั้งหลาย อยากจะขายไหมครับ กำไรขนาดนี้แล้ว

ถึงจะมีข่าวดี แต่หากปริมาณหุ้นจำนวนมหาศาล ถูกเทขายลงมา ยังไงราคาก็รูดลง ตรงนี้เองที่ทำให้ กลุ่มที่ขาย ทำกำไรไปก่อน มีความมั่นใจว่าจะได้ซื้อคืน ในราคาที่ต่ำกว่าเดิม ……. ก่อนที่อานิสงค์ของข่าวดีนั้นจะไปโผล่ในงบการเงิน เจ้าของหรือผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ทำกำไรกันได้ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว

เรื่องนี้ ผมขอแชร์ประสบการณ์หน่อย แล้วกันครับ ว่าผมจัดการอย่างไรกับข่าวลือดีๆเหล่านั้น

เมื่อมีข่าวดีลือเข้ามา ผมจะเคาะซื้อไปก่อน 1 ส่วนเลย เพื่อทดสอบสมมุติฐานของข่าว

ยังไงเสีย ไม่ว่า ข่าวดีที่ลือเข้ามานั้นจะจริงหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อย ผู้เจตนาปล่อยข่าว ก็ต้องมีการ เคาะโชว์นำขึ้นไปก่อนล่ะครับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับข่าว เพื่อลวงมวลชนว่าข้อดีนี้มีมูล

หากผมซื้อไปแล้ว ราคาไม่ยักกะลง ทีนี้แหละ ก็จะซื้อตามขึ้นไป ตามสไตล์ “ยิ่งขึ้นยิ่งซื้อ” แสดงว่า หุ้นตัวนี้ มันมีอะไรซ่อนอยู่ จำนวนหุ้นที่วางขาย มันเลยไม่เพียงพอ ต่อความต้องการซื้อในขณะนั้น จนผู้ซื้อต้องเคาะซื้อขึ้นไปแบบไม่เกี่ยงราคา

แต่หากผมซื้อหุ้นเข้าไปแล้ว ราคาก็ร่วงตกลงมา นี่ซิปัญหา ไฉนหุ้นถึงดิ่งลงมา ให้เราซื้อได้อีกที่ราคาเดิม หรือ บางที ซื้อได้ถูกกว่าเดิมมากๆด้วยซ้ำ แบบนี้ ผมเผ่นล่ะ ขายขาดทุนหนีตายดีกว่า แสดงว่า สมมุติฐานเราผิดแล้ว ใครจะมาใจดี ให้เราได้ซื้อได้ไม่อั้น ขนาดนั้น ถ้ามันมีข่าวดีจริงๆ รออยู่ ในระยะเวลาอันใกล้

สังเกตไหมครับ หากผมซื้อแล้วขึ้น มันจะขึ้นๆๆ จนทำกำไรได้มากมาย แม้ข่าวจะยังไม่ออกก็ตาม แต่หากผมซื้อแล้วลง ผมทิ้งโดยเร็ว เสียหายเพียงเล็กน้อย ถือว่า ยังคุ้มค่าที่จะเข้าไปเสี่ยง

ย้ำอีกทีนะครับ ถ้าซื้อหุ้นแล้วมันไปในทิศทางที่เราคาดหวัง กำไรจะวิ่งไปอย่างมากมาย แต่หากซื้อแล้วผิดคาด รีบยอมแพ้แต่เนิ่นๆ จะเสียหายเพียงเล็กน้อย

แบบนี้ ถูก 5 ครั้ง ผิด 5 ครั้ง ก็รวยแล้ว

และอย่าลืมนะครับ ไม่ว่า ข่าวดีที่ลือกัน ไม่ว่าจะเป็นแจกวอแร้นท์ ได้พันธมิตรใหม่ ได้งานโครงการใหญ่ หรือ จ่ายเงินปันผล ในอัตราที่สูงมากก็ตาม และไม่ว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ส่วนใหญ่ราคาหุ้นจะวิ่งนำขึ้น มาก่อนเสมอ ท่านต้องเลือกแล้วล่ะครับว่าจะซื้อในทันที หรือ ซื้อเมื่อข่าวออก

ถ้าข่าวลือนั้น มีมูลจริง ความต้องการซื้อก็ควรจะสูง ปริมาณหุ้นที่วางขาย ก็ควรจะมีแต่คนที่จ้องจะแย่งกันเก็บ ถึงแม้ อาจจะมีการบล็อกหุ้น หรือ ตบไล่แขก ลงมาบ้าง แต่ราคาก็จะไม่ลงไปลึก เพราะหากลงลึก หุ้นจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของรายย่อยแทน ซึ่งเป็นไปได้หรือครับ หากบริษัทกำลังจะมีข่าวดี แต่เจ้าของ หรือ ผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับนำความมั่งมี คืนสู่มวลชน

ในทางตรงกันข้าม สมมุติใหม่ ให้ท่านเป็นเจ้าของบริษัท หรือ เป็นผู้บริหาร หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เหมือนเดิมแล้วกัน เรายังไม่ปลดท่านออก และท่านก็รู้ดีที่สุดว่า บริษัทมีข่าวร้ายซ่อนอยู่ ท่านจะชิงขายหุ้น ออกมาก่อนไหมครับ

และเมื่อท่านขายออกมาแล้ว ท่านอยากให้มันลงไหมครับ

ด้วยความหวังดี ท่านก็อาจจะกระซิบบอกคนใกล้ตัว บอกญาติพี่น้อง ว่าอีกไม่นานข่าวร้ายจะปูดออกมา

เมื่อคนวงในรู้ข่าวก็จะโทรไปสั่งขาย และเมื่อขาย กราฟราคาหุ้นก็จะออกอาการเป็นแนวโน้มขาลง

ช้างตายทั้งตัว ไม่สามารถเอาใบบัวมาปิดได้ ในไม่ช้า ข่าวลือก็จะปูด ออกสู่สาธารณะ พร้อมๆกับ ราคาไหลลงไปเรื่อยๆ

และเมื่อข่าวร้ายปรากฏ เมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าว นักวิเคราะห์จะปรับราคาเป้าหมายลง พร้อมแนะนำขาย ด้วยเหตุผล อย่างงั้นอย่างโง้น อย่างงี้ ทำให้ รายย่อยส่วนใหญ่ในตลาด ที่เคยลังเล ตอนได้ยินข่าวลือมา เกิดความกลัว และรีบขายล้างพอร์ตหนีตาย

ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของอารมณ์ การตอบสนองต่อข่าว เกินเหตุเสมอ ดังนั้น ราคาหุ้นที่ถูกเททิ้งลงมามากมาย จนราคาต่ำกว่าเหตุนั้น ก็จะเริ่มจูงใจให้เจ้าของบริษัท ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซื้อหุ้นคืนแล้วล่ะ จริงไหมครับ มีข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียว ที่คนวงในจะไม่ซื้อคืน นั่นคือ บริษัทนั้น มันเน่าในจริงๆ กระทั่ง ผู้บริหารและเจ้าของ ยังไม่คิดที่จะซื้อคืนเลย

กรณีนี้ ถ้าเป็นผม ผมจะจัดการอย่างไรกับข่าวลือร้ายๆเหล่านั้น

ปกติแล้ว คนเล่นหุ้น ขี้ตกใจนะ ยังไงเสีย หุ้นก็ลงก่อนล่ะ หากมีข่าวร้ายเข้ามา

ใครบอกว่ากระต่ายตื่นตูม ก็ช่างเถอะ ผมขายก่อนล่ะ ยามที่มีข่าวร้ายวิ่งเข้ามา ยากที่ใครจะไปทนทานแรงขายได้

ในเมื่อหุ้นมีแนวโน้มจะลงเพราะความกังวลข่าวร้าย ผมจะรออะไรอยู่ครับ แทนที่จะไปนั่งเช็คข่าว ไปถามใครต่อใคร หรือ นั่งรอข่าว ผมขอขายก่อนไม่ดีกว่าหรือ

ธรรมชาติของหุ้น ลงได้รวดเร็ว และ รุนแรง กว่าการขึ้นเสมอ ยังไงเสีย ขายไปแล้วก็ยังมีโอกาสได้ซื้อคืนอยู่ดี เพราะเมื่อข่าวลือเข้ามาในตลาด ถึงเราไม่ขาย คนอื่นก็ขาย ยังมีคนอีกตั้งมากมายนะครับ ที่ต้นทุนเขาต่ำมากและอยากจะล็อคกำไรออกมาก่อน

เมื่อคนทั้งตลาดขายหุ้นออกมา จนแรงขายหมดเกลี้ยงแล้ว จนราคาหุ้นต่ำเกินเหตุแล้ว แบบนี้เราค่อยซื้อคืน ก็ยังไม่สายใช่ไหมครับ แถมซื้อหุ้นคืนได้ครบ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมตั้งเยอะ

www.ThaiDayTrade.com

Friday, October 2, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 12 : กลวิธี สงครามกองโจร

“เอ็งมา ข้ามุด เอ็งหยุด ข้าแหย่ เอ็งแย่ ข้าตี เอ็งหนี ข้าตาม” นอกจากจะนำไปใช้ในการรบแบบสงครามกองโจรแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในตลาดหุ้นโดยรายใหญ่เสมอ


จะว่าไปแล้ว กลวิธี สงครามกองโจร ก็แสบไม่แพ้ กลวิธี สวนควันปืนเล่นสวนทางมวลชนนะครับ

ต่างกันเพียง การสวนควันปืนเล่นสวนทางมวลชนนั้น จะใช้จิตวิทยาและอำนาจเงิน ควบคุมตลาด ในขณะที่ กลวิธีสงครามกองโจร จะใช้ข่าววงในและอำนาจบริหารควบคุมราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง

ผมสังเกตเห็นตามเว็บบอร์ดหุ้นหลายแห่ง มักตั้งข้อสงสัยว่า นักวิเคราะห์บางค่าย เชียร์ซื้อให้รายใหญ่ออกของ เชียร์ขายให้รายใหญ่เข้าเก็บ นักวิเคราะห์แนะให้ซื้อ มันกลับลง พอแนะขาย มันกลับขึ้น

ผมขอฟันธงเลยว่า นักวิเคราะห์ “ส่วนใหญ่” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แต่รายใหญ่ต่างหากที่กำลังทำสงครามกองโจรกับคุณ

การที่นักวิเคราะห์เชียร์ให้ซื้อแล้วลง เชียร์ให้ขาย แล้วขึ้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความรู้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีเครื่องมือในการทำงานที่ดีพอนะคับ

ความรู้และเครื่องมือ ในการวิเคราะห์การลงทุนของนักวิเคราะห์ ออกจะมีมากมายหลายหลาก

แต่ทุกวันนี้ รายใหญ่ หรือ เจ้าของบริษัท เขามักจะเลือกคนเก่งกราฟ มาดูแลราคาหุ้น และใช้เครื่องมือเหล่านั้น มาหาประโยชน์ ส่วนตนอีกที

หลังจากรายใหญ่เข้าเก็บหุ้นจนมากพอ เขาก็จะเริ่มด้วยการไล่ราคาหุ้น จนกระทั่งกราฟ "สั่งซื้อ" จากนั้นเขาก็จะวางขาย รินขาย ไม่หยุดหย่อน และลงเอยด้วยการทุบเปรี้ยงลงมาเลย เมื่อแรงเคาะซื้อเริ่มหมดแรง เพื่อให้กราฟ "สั่งขาย"

หลังจากที่กราฟสั่งขายแล้ว เขาไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อยเลยครับ แค่นั่งรอเวลาเฉยๆ อีกไม่นาน เขาก็จะได้ซื้อหุ้นคืน ในราคาที่ต่ำกว่าเดิม ...... นี่คือความจริง ภาคสนามรบ

หลังจากมีโอกาสได้นัดพบนั่งกินข้าวกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ผมก็อดไม่ได้ที่จะถามเขา ในฐานะผู้รู้ดีที่สุดแล้วในตลาด เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้

ไม่รู้ว่า เป็นเพราะเขาเกรงใจที่ผมเลี้ยงข้าวหรือเปล่านะ ในที่สุดเขาก็เล่าให้ฟัง เมื่อผมถามว่า ทำไม หุ้นของนายถึงกวนบาทาขนาดนี้ เที่ยวซิกแซกรังแกชาวบ้าน

“นายคิดดู ถ้านายเป็นรายใหญ่ ใช้เงินสดซื้อหุ้น ไล่ราคาขึ้นมาตั้งเยอะ แต่กลับโดนใครก็ไม่รู้ ที่มีหุ้นต้นทุนต่ำ ขายใส่ตลอดทาง นายเซ็งไหม”

“นายว่า มันต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิมไหมล่ะ ในการทำราคา หากเจอแต่พวกเดย์เทรดมาจับเสือมือเปล่า กินเงินของนาย ไปฟรีๆ ในแต่ละวัน”

“เราเลยจำเป็นต้อง ลาก กระชาก ตบ เป็นระยะๆ ไม่งั้น เงินหมดตัวแน่ กว่าราคาหุ้นจะถึงเป้าหมาย ตามที่ "เจ้านาย" สั่ง”

เอ ถ้าผมบอกเจ้านี่ว่าผมจะเอาเรื่องของเขามาเขียนหนังสือ เขาจะเล่าให้ผมฟังรึปล่าวหว่า

เอาล่ะ จากนี้ไป ผมยกพื้นที่ให้เขาสาธยายเลยแล้วกัน

“ขั้นแรก เราก็จะต้องสะสมหุ้นก่อน เราจะไปเช็คกราฟจากโปรแกรมเทรด เพื่อหาจุดตัดขาดทุน และแนวรับ จากนั้น เราจะสั่งมาร์เก็ตติ้ง อีกโบรกฯ หนึ่ง ให้ตั้งซื้อรอไว้ หลายๆราคา แล้วก็สั่งมาร์เก็ตติ้งอีกโบรกฯ หนึ่ง ให้ตั้งรอซื้อไว้ที่แนวรับ แล้วก็สั่งมาร์เก็ตติ้งอีกโบรกฯ หนึ่ง ให้ตั้งออร์เดอร์รอ ในระดับราคาที่ต่ำกว่าจุดตัดขาดทุน”

“เมื่อออร์เดอร์ตั้งรอไว้หนาแน่น เราก็จะสั่งมาร์เก็ตติ้ง อีกโบรกฯหนึ่ง ให้ขายโครมลงมา ที่ฝั่งบิด นายสังเกตไหมว่า หุ้นไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยนไปอยู่ในมือของอีกโบรกฯหนึ่งแทน แต่ภาพที่ออกมามันน่ากลัวนะ เพราะบิดที่รอไว้เป็นล้านหุ้นโดนขายทิ้งจนหมดในไม้เดียว”

“นายเข้าใจใช่ไหม นี่มันเกิดผลทางจิตวิทยาขึ้นแล้ว คราวนี้ คนที่ถือหุ้นต้นทุนต่ำรายอื่น ก็จะขายทิ้งหุ้นลงมาด้วย ทำให้ออร์เดอร์ของเรา ที่ตั้งรอไว้ที่แนวรับ ได้ของมามากพอสมควรเลยล่ะ”

“จากนั้น ก็จะสั่งขายหุ้นที่เพิ่งซื้อมาเมื่อกี้นี้แหละ โครมลงมาอีกที เพื่อให้หลุดแนวรับ หรือ ให้ถึงจุดที่โปรแกรมจะต้องสั่งขาย .... เมื่อหลุดแนวรับ หรือ เมื่อถึงจุดที่โปรแกรมสั่งขาย คราวนี้ ทุกคนที่มีหุ้นอยู่ก็จะขายหนีตาย ราคามันก็จะไหลรูดดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว ปริมาณหุ้นที่เราตั้งซื้อไว้ในระดับราคาต่ำๆ จะได้รับคืนจนครบ”

“ถ้ายังได้ไม่ครบ แสดงว่ามีคนใจแข็งทนถืออยู่ เราก็จะสั่งบล็อกราคาซะ ขนหุ้นเอามาวางขายหนาๆที่ฝั่งออฟเฟอร์ แล้วก็ตบมั่ง ทุบลงมามั่ง บีบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้หุ้นครบตามที่เจ้านายสั่ง”

“ตอนนี้ กราฟเสียรูปแล้วใช่ปล่าว วันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์ทุกโบรกฯ ก็จะออกมาแนะนำ ขาย ให้ เองแหละ เพราะกราฟมันสั่งขาย เราตั้งรอไว้ไม่นาน เดี๋ยวเราก็จะได้ของครบแล้วไง”

แหม ดูเจ้านี่เล่าให้ฟัง มันช่างโหดร้ายเสียจริงๆ

ระหว่างเล่าเรื่อง ดูเหมือนเพื่อนผมจะมีความสุขแกมซาดิสม์ นั่นนะซิ คนที่ควบคุมอะไรได้แบบเบ็ดเสร็จ มักจะคิดว่าตนมีพลัง มักจะคิดว่าตนมีอำนาจ ชี้เป็นชี้ตายทางไหนก็ได้อยู่ในมือ

นี่ ข้าวยังกินไม่หมดเลย มันกลับโม้ต่อเป็นการใหญ่ ไปฟังแผนอุบาทว์ของมันกันต่อเลยครับ

“คราวนี้ พอได้ของครบ เราก็จะค่อยๆเคาะซื้อไล่ราคาขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แบบไม่ให้ใครสังเกตเห็น ระหว่างนี้ กราฟยังไม่สั่งซื้อนะ คนในตลาดก็จะไม่ค่อยได้สังเกตกัน”

“เมื่อได้ของพอประมาณแล้ว เจ้านายก็จะเริ่มให้ข่าวดีเป็นระยะๆ ผ่านสื่อ แต่ขณะเดียวกัน เราก็จะโทรไปสั่งให้โบรกฯ วางหุ้นหนาๆ ไว้ที่ฝั่งออฟเฟอร์ด้วย แล้วเราก็จะสั่งให้อีกโบรกฯ หนึ่งเคาะซื้อไล่ราคาขึ้นไป นายสังเกตไหมว่า หุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้น เราไม่ได้ใช้เงินมากขึ้นนะ แค่เปลี่ยนหุ้นและเงินไปอยู่ในมือของอีกโบรกฯหนึ่งแทน”

“ข่าวที่ค่อยๆทยอยออกตามสื่อ กับภาพที่ออกมาดูดี เพราะมีคนกวาดซื้อหมดเกลี้ยงเป็นล้านหุ้นในไม้เดียว นายว่ามันน่าสนรึปล่าวล่ะ ตอนนี้ใครๆก็เริ่มจับตาแล้ว”
“เราก็สั่งโบรกฯ หนึ่งให้ซื้อหุ้นของเรา ที่เราสั่งวางขายไว้กับอีกโบรกฯ หนึ่งขึ้นไปเรื่อยๆ อีกไม่นาน มันก็ผ่านพ้นแนวต้านขึ้นไปได้ คราวนี้ โปรแกรมเทรดก็จะสั่งซื้อแล้วใช่ป่ะ วันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์ก็จะออกมาแนะนำ ซื้อ เองแหละ เพราะมันเกิดสัญญาณซื้อ”

“โธ่ นาย คิดดู เราตุนหุ้นไว้ 30 ล้านหุ้น 50 ล้านหุ้น ตอนนี้มีคนมาตั้งรอซื้อเยอะๆในราคาสูงๆอย่างงี้ ถ้าไม่ขายตอนนี้ จะให้ไปขายตอนไหนล่ะ”

“แต่ ครั้นจะขายโครมลงมา กราฟจะเสียรูป เดี๋ยวขายไม่ได้ราคา อย่ากระนั้นเลย ค่อยๆแอบๆขาย ดีกว่า เราเคาะขวาสลับบ้าง นิดๆหน่อยๆ ก็ไม่เป็นไรใช่ป่าว ของเราวางไว้เองทั้งนั้น ไอ้ที่ตั้งรอขายอยู่หน่ะ”

“จนเมื่อไหร่ แรงซื้อชักเริ่มเบา คราวนี้ล่ะ เราก็จะรีบขายโครมลงมาอย่างรวดเร็ว ไม่งั้น อีก 10 ล้านหุ้นที่เหลือ จะออกไม่ทัน”

“เออ นายรู้ปล่าว เวลาขาย เจ้านายสั่งไว้ว่าอย่าขายออกมาจนหมด ทายสิว่าทำไม”

“ก็บางคนใจแข็ง ถือทนนะสิ เวลาขายเลยต้องเหลือหุ้นไว้หน่อยนึง เพื่อทิ้งไม้สุดท้าย โครมลงมา ให้หลุดแนวรับลงไปเลย กราฟจะได้สั่งขาย ไม่งั้น เดี๋ยวจะไม่ได้ของคืน”

“พอวันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์ทุกโบรกฯ ก็จะออกมาแนะนำ ขาย เองแหละ เพราะกราฟมันสั่งขาย เราตั้งรอไม่กี่วัน เดี๋ยวก็มีคนขายคืนเรามาแล้ว"

เมื่อผมฟังเจ้าเพื่อนผมคนนี้มันโม้จบ ก็ได้แต่ถอนใจ

โถ นักวิเคราะห์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกองโจรโดยไม่ได้เจตนา

ถ้าใครจะเล่นหุ้นให้ได้เงินนะครับ ผมว่านะ อย่าไปรอนักวิเคราะห์เลย กว่านักวิเคราะห์จะแนะนำ ซื้อ มันก็ขึ้นไปไกลจนเขาจะขายกันแล้ว และกว่าที่นักวิเคราะห์จะแนะนำ ขาย มันก็ลงมาลึกจนเขาจะทยอยเก็บคืนกันแล้ว

ทางที่ดีนะครับ เราศึกษากราฟ ทำการบ้าน และดูโวลุ่มประกอบในชั่วโมงเทรดน่าจะดีกว่า อยากได้เงินมันก็ต้องทำงานนะครับ

หลังตลาดปิด ดูกราฟแป๊ปนึง คงไม่เสียเวลามากเท่าไหร่ ดูคร่าวๆสักหน่อยก็ยังดี ว่า กราฟหุ้นตัวไหนมีสัญญาณการสะสม ภาวะตลาดรวมและโวลุ่มเทรดในหุ้นตัวนั้น มันเอื้อต่อการเข้าเก็บแล้วหรือยัง

เก็บหุ้นพร้อมๆเขาดีกว่าครับ อย่าไปรอใครมาเชียร์

www.ThaiDayTrade.com

Thursday, October 1, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 11 : กลวิธี สวนควันปืน เล่นฝืนมวลชน

“Beating the Market - by Going Against the Crowd” เป็นหลักการสำคัญของบรรดากองทุนข้ามชาติขนาดยักษ์ ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งปัจจุบัน เจ้าของบริษัทและรายใหญ่ ก็ไม่น้อยหน้า มีการประยุกต์หลักการนี้มาใช้ในหุ้นรายตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

เล่นสวนชาวบ้านซะงั้น ….. ข่าวดี จะขาย ข่าวร้าย จะซื้อ …..

เราจะซื้อ เมื่อ มวลชนล้วนอยากขาย และ เราจะขาย เมื่อ มวลชนล้วนอยากซื้อ

กองทุนต่างชาติขนาดใหญ่เงินทุนหนา ช่วงหลังๆมานี้ เขาใช้กลวิธีนี้กับตลาดหุ้นไทยครับ

ในภาษาอังกฤษ เรียกนักลงทุนกลุ่มนี้ว่า “Contrarian”

โดยทั่วไปแล้ว กลุ่ม Contrarian จำเป็นจะต้องมีเงินลงทุนหนา สายป่านยาว และ มีความอดทน เป็นเลิศที่จะรอคอยการพลิกฟื้นของสถานการณ์

กลุ่ม Contrarian มีความเชื่อว่า นักลงทุนมักจะตื่นตระหนก จนราคาหุ้นร่วงลงมาเกินเหตุ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ราคาหุ้นก็ควรจะวิ่งกลับไปสู่มูลค่าที่ควรจะเป็นของกิจการได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบริษัทนั้น ยังมีฐานะทางการเงินที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตสูง และ มีเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นเสมือนเกราะป้องกันพอร์ตชั้นดี จากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุน

ปัจจุบัน Contrarian ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนระยะยาวเท่านั้น แต่ได้รับความนิยมในหมู่เฮดจ์ฟันด์ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขอเรียกว่า กองทุนสวนมวลชน แทน ก็แล้วกันนะครับ

เดี๋ยวเราไปดูกัน ว่ากองทุนสวนมวลชน เขาเล่นอะไรกับจิตวิทยามวลชน

เมื่อทุกคนในตลาดหุ้นหมดอาลัยตายอยาก ข่าวร้ายท่วมท้น มีการขายหุ้นกระหน่ำซ้ำเติมลงมา กองทุนสวนมวลชน เขาก็จะไปตั้งซื้อรอที่แนวรับ

เมื่อเขารับ มันก็หยุดไหล นักเก็งกำไรระยะสั้นก็จะเข้ามาซื้อหุ้น

เมื่อหุ้นดีดตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนชนแนวต้านแรก กองทุนสวนมวลชนก็รู้ดีว่าเดี๋ยวจะต้องมีคนมาขายใส่แถวแนวต้าน เพราะข่าวร้ายยังปกคลุมตลาดอยู่ ก็เลยไปตั้งซื้อรอที่แนวต้าน

เมื่อมวลชนขายลงมาเมื่อราคาหุ้นชนแนวต้าน แต่กองทุนสวนมวลชนตั้งซื้อรอ ราคาหุ้นมันก็หยุดไหล จากนั้น กองทุนสวนมวลชนก็จะซื้อผ่านแนวต้านขึ้นไป และเมื่อนักเก็งกำไรระยะสั้นเห็นว่า ผ่านแนวต้านไปได้แล้ว ก็จะเริ่มเข้ามาซื้อหุ้น

เมื่อหุ้นดีดตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนชนแนวต้านถัดไป กองทุนสวนมวลชนก็รู้ดีว่าเดี๋ยวจะต้องมีคนมาขายใส่แถวแนวต้าน เพราะข่าวร้ายยังปกคลุมตลาดอยู่ ก็เลยไปตั้งซื้อรอที่แนวต้านที่สอง เมื่อมวลชนขายหุ้นทิ้งลงมาจนหมดแรงขายแล้ว กองทุนสวนมวลชนก็จะซื้อผ่านแนวต้านที่สองขึ้นไป

แปลกไหมล่ะครับ คนส่วนใหญ่ตั้งซื้อที่แนวรับ ตั้งขายที่แนวต้าน แต่ตานี่มาแปลก ดันตั้งซื้อที่แนวต้าน

เมื่อกลุ่มอื่น ขายหุ้นจนเกลี้ยงแล้ว เมื่อกองทุนสวนมวลชนได้หุ้นครบ ตามจำนวนที่วางแผนไว้แล้ว ก็จะกระชาก ลากให้ผ่านแนวต้าน อย่างรวดเร็ว จนเกิด Buy Signal ตรงนี้นี่เอง ที่เสมือนเป็นการบีบให้กองทุนอื่นและมวลชนที่ไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตต้องมาไล่ซื้อหุ้นตามขึ้นไปเรื่อยๆ

และเมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อข่าวดีเต็มตลาด สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์มองโลกในแง่ดี มีการปรับประมาณการดัชนีขึ้นไป เมื่อนั้นแหละครับ คือจังหวะขายของกองทุนสวนมวลชน

ลีลาในการขาย ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการซื้อเลยครับ

เมื่อทุกคนในตลาดหุ้น มองโลกในแง่ดี ข่าวดีเต็มไปหมด กองทุนสวนมวลชน ก็จะขายแล้วล่ะ เพราะต้นทุนตัวเองต่ำกว่าใครเพื่อน แถมยังขายได้ราคาดี ขายได้ปริมาณมากอีกด้วย เพราะอารมณ์ช่วงนี้ มีแต่คนอยากซื้อมากกว่าอยากขาย

เมื่อเขาขายลงมาถึงแนวรับ เขาก็จะหยุดขาย ตรงจุดนี้ มวลชนทั้งตลาดซึ่งรับรู้แต่ข่าวดี ก็กลัวว่าตนจะเสียโอกาส ทุกคนเลยมาตั้งรอซื้อหรือเคาะซื้อขึ้นไป

เมื่อมีออร์เดอร์ซื้อมารออยู่มากมาย ทำไมจะไม่ขายล่ะครับ กองทุนสวนมวลชนดีใจด้วยซ้ำที่มีออร์เดอร์ตั้งเยอะมารอซื้ออยู่

หลังจากที่กองทุนสวนมวลชนทำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่มีใครกล้ามาตั้งซื้ออีก คราวนี้ล่ะ เขาก็จะขายโครมลงมา เพื่อให้หลุดแนวรับ เพื่อให้เกิด Sell Signal ตรงนี้นี่เอง ที่เสมือนเป็นการบีบให้กองทุนอื่นและมวลชนอื่นต้องทำการขายหุ้นทิ้งตามลงมา เพราะขณะนี้ มีแนวโน้มว่า ตลาดหุ้นจะดิ่งลงยาว

เห็นไหมครับ Contrarian เล่นสวนมวลชนตลอด คนส่วนใหญ่ตั้งซื้อที่แนวรับ ตั้งขายที่แนวต้าน แต่ตานี่มาแปลก ดันเจตนาขายให้เสียราคา ขายไปได้จนหลุดแนวรับลงมาเลย

ที่เล่าให้ฟังนี่ ไม่ได้หมายถึงให้ท่านทำตัวฝืนตลาดในฐานะจ่าฝูงนะครับ

ท่านจะเป็นผู้นำในการใช้กลวิธีนี้ไม่ได้

ผู้ที่จะใช้ กลวิธีสวนมวลชนเพื่อบีบให้มวลชนเป็นผู้แพ้ตลอดกาลได้ จะต้องใจเย็น มีสายป่านยาวมาก มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาล เมื่อเทียบกับทั้งตลาด และจำเป็นต้องกล้าได้กล้าเสียซะด้วย

ที่เอามาพูดคุยกัน ก็หวังให้ท่านเห็นกลวิธีของเขา และเกาะติดตามเขาให้ทัน จะได้ชนะแบบเขามั่ง

ดังนั้น ถึงแม้จะมีข่าวดีอยู่ บางทีเราก็ต้องเสี่ยงขาย ล็อคกำไรออกมา และ ถึงบางช่วง จะมีข่าวร้ายท่วมตลาด เราก็อาจต้องกัดฟันซื้อ หากตลาดที่เราเล่นอยู่นั้น มีกองทุนสวนมวลชนเป็นเจ้าพ่อตลาดหุ้นอยู่ แต่การซื้อ ต้องเลือกดูหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงด้วยนะครับ

ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเสียหายใหญ่หลวงอย่างหาสาเหตุมิได้เลยครับท่าน

เมื่อพูดถึง กลวิธี เล่นสวนมวลชนแล้ว ก็อดนึกถึง Mark Mobius ไม่ได้ แกชอบซื้อหุ้นตอนที่ตลาดหุ้นเผชิญหน้าอยู่กับความกลัว

Mark Mobius ราชาแห่งตลาดหุ้นเกิดใหม่ ถือเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา หลายครั้งด้วยกัน ที่แกเลือกจังหวะที่จะเข้าไปลงทุน ในช่วงที่ แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างประเทศ ยังไม่กล้าแม้แต่จะคิดเข้ามาเที่ยว หรือมาลงทุนเลย

“The Best Time to Invest is when there's Blood Running in the Streets” Mark Mobius พูดประโยคนี้อยู่บ่อยครั้ง หลังจากที่แกพบว่า นี่เป็นจังหวะที่จะทำให้เป็นเจ้าของกิจการได้ด้วยราคาต่ำสุด

Mark Mobius มีความชื่นชอบในตลาดหุ้นเกิดใหม่มากครับ ด้วยเล็งเห็นว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่บางประเทศ มีอัตราการเติบโตสูงและคุ้มค่าความเสี่ยงที่จะเข้าลงทุน

พอร์ตการลงทุนในกองทุนที่เขาบริหารอยู่ ส่วนใหญ่กระจายการลงทุนไปในประเทศเกาหลี จีน ไต้หวัน แอฟริกาใต้ และบราซิล

ในแต่ละปี เขาใช้เวลากว่า 10 เดือนต่อปี ในการเดินทางไปประเทศต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อเข้าชมกิจการ เพื่อค้นหาบริษัทที่จะลงทุน โดยไม่คำนึงว่าเป็นประเทศใด เพราะเขาสนใจเฉพาะกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานเยี่ยม และมีบรรษัทภิบาลและความโปร่งใสเท่านั้น



มาถึงตรงนี้ ท่านอาจจะนึกถึงวัน งงๆ ของท่านออก

“น้องค่ะ ทำไมหุ้นมันขึ้นแรงจัง ไหนจะมาตรการ 30% ไหนจะ พรบ.ธุรกิจคนต่างด้าว ไหนจะผลประกอบการตกต่ำ”

“เอ ทำไมมันขึ้นแรงจังครับ ไหนจะปฏิวัติซ้อน ไหนจะมีม็อบหลายกลุ่มมาชุมนุม ไหนจะการเมืองที่ยังไม่นิ่ง”

มาถึงตรงนี้ อยากจะขอเสริมเพิ่มเติมหน่อยนึงครับ ว่าทำไม พวกสวนมวลชนถึงกล้าเสี่ยง หากตัวเองสวนๆซื้อขึ้นไปท่ามกลางข่าวร้ายเต็มตลาด แล้วอยู่ดีๆเกิดเหตุการณ์ช็อคตลาดขึ้นมาอย่างแรง ไม่เจ๊งย่อยยับกลับบ้านเลียแผลเป็นปีหรอกหรือ

เมื่อข่าวร้ายท่วมตลาด ทุกค่ายโบรกเกอร์มองลง กองทุนสวนมวลชนจะเริ่มหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นครับ และทุกครั้งที่เข้าซื้อหุ้นในแต่ละระดับของแนวต้านขึ้นไป เขาเองก็ต้องบริหารความเสี่ยงเหมือนกันนะครับ ด้วยการ “Short” ฟิวเจอร์ กันไว้ เผื่อพลาด

เมื่อเขาล็อคระดับราคาขายดัชนีไว้ล่วงหน้าที่ราคานี้แล้ว หากมีเหตุการณ์พลิกผันมาช็อคตลาด อย่างน้อยที่สุด มูลค่ารวมของพอร์ตก็เจ๊า ไม่กำไรไม่ขาดทุน หรือหากขาดทุนก็จะขาดทุนเล็กน้อยครับ เพราะมีกำไรจากการ “Short” ฟิวเจอร์ มาช่วยชดเชยผลขาดทุนในพอร์ตหุ้น

พอจะตอบคำถามที่ค้างคาใจทุกท่านได้บ้างแล้วนะครับ ว่า ทำไม เวลาข่าวร้ายท่วมตลาด หุ้นกลับขึ้นหน้าตาเฉย แต่พอข่าวดีเต็มไปหมด หุ้นกลับถูกนำมาขายลดราคา

Contrarian เขาจะหาโอกาสในทุกวิกฤติครับ

จึงไม่แปลกเลย ถ้าบางครั้งเราอาจจะต้องซื้อตามกระแสเงินที่เข้ามาผลักดันราคาจนหุ้นขึ้น แม้เปิดทีวี หนังสือพิมพ์ จะเจอแต่ข่าว สถานการณ์การเมืองตึงเครียด การเผชิญหน้ากันทางการเมือง สงคราม การจลาจล ฯลฯ

ขณะเดียวกัน บางครั้งเราอาจจะต้องขาย ทั้งๆที่ มองไปทางไหนก็เจอแต่ข่าวดี

จะว่าไป กลวิธีนี้ ก็คล้ายๆกับกลยุทธ์ทางการทหารเลยนะเนี่ยะ

ใช้เครื่องบินรบไล่ยิงภาคพื้นดินแบบปูพรม แล้วแอบนำ นาวิกโยธิน ยกพลขึ้นบก อย่างเงียบๆ ตามด้วย เหล่าทหารกล้า บุกประชิด ศูนย์บัญชาการ ก่อนจะปักธง ประกาศชัย เหนือข้าศึก

www.ThaiDayTrade.com

Wednesday, September 30, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 10 : กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ

“หุ้นเก็งกำไรทุกวันนี้ คุณอย่าคิดว่าหมูนะ เขาไม่ลากยาวให้พวกคุณมากินเงินเขาฟรีๆหรอก ถ้าคุณจะเก็งกำไร คุณต้องใช้ "ทฤษฎีปิงปอง" คุณท่องไว้ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ" "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ” ……… เซียนหุ้นร้อยล้านท่านหนึ่งเผยเคล็ดลับ ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ให้ฟัง

ทำไม เซียนหุ้นท่านนี้ ถึงระบุว่า ในอดีต หากเราซื้อหุ้นตัวไหนแล้วมันวิ่ง เราถือยาวได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ ขึ้นมาต้องขาย แล้วค่อยรอรับใหม่ด้านล่าง เดี๋ยวไปดูกลวิธีของรายใหญ่พร้อมๆกันครับ

ทุกวันนี้ เขาพัฒนาแล้วครับ เขาใช้ทีมงาน เขาเอาเทรดเดอร์ ที่เก่งกราฟและเก่งจิตวิทยาการลงทุน มาทำหน้าที่แทน และทำแบบทีมพันธมิตร ไม่ใช่หุ้นใครหุ้นมันเหมือนก่อน

หมดยุคเถ้าแก่ ใช้แต่กำลังเงิน แล้วครับ เพราะวิธีลากยาวแบบเก่า มันใช้เงินเยอะ ไม่มีประสิทธิภาพ เลยต้องเอาเซียนกราฟมาสร้างกราฟหลอกล่อ ให้เราซื้อ ให้เราถือ ให้เราขาย ให้เรากระทำไปในทิศทาง ที่เขาต้องการให้เราเป็น เพื่อประสิทธิภาพในการใช้กำลังเงิน

ทุกวันนี้ แนวรับแนวต้าน ใครๆก็รู้พอๆกัน แต่โวลุ่มเทรดนี่สิ จะเป็นตัวยืนยันว่าขึ้นจริงหรือลงจริง หรือไม่

กรณี ราคาขึ้น และมีโวลุ่มเข้า จะยิ่งเป็นการยืนยันการขึ้น แบบนี้ต้องซื้อ

ถ้าโวลุ่มเข้า แต่ราคานิ่งนานเกินไป ต้องหยุดดูทีท่าก่อนล่ะ อย่าไปเคาะขวาซื้อเพลิน เพราะอาจอยู่ระหว่างการรินขายเติมขายไม่หยุดหย่อนก็ได้

แต่ถ้าราคาไหลลง พร้อมๆกับโวลุ่มเข้ามามาก แบบนี้ ต้องขายหนีตายก่อนล่ะครับ

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ เดี๋ยวคงต้องขยายความสักหน่อย คำว่า โวลุ่มเข้า ไม่ได้หมายถึง การดูว่า วันนี้ซื้อไปแล้วเท่าไหร่ ขายไปแล้วเท่าไหร่นะครับ ขืนไปดูว่าวันนี้ มีเคาะซื้อหรือเคาะขาย มากกว่ากัน โดนหลอกเละเทะแน่

คำว่า โวลุ่มเข้า ในที่นี้ หมายถึง โวลุ่มเทรดรวม เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 3 หรือ 5 วันทำการย้อนหลัง นะครับ

ถ้าโวลุ่มไม่เข้า แปลว่า เขายังไม่มา มีแต่พวกเราโซ้ยกันเอง

ดังนั้น หากเราเห็นราคาหุ้นขยับขึ้น แต่เทรดกันไปเพียง 2 แสนหุ้น ก็ให้คิดไว้เหอะว่า เราๆท่านๆนะแหละ ไล่ซื้อกันเอง อย่างนี้ ไปไม่ได้กี่น้ำหรอกครับ

เอาล่ะ เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “โวลุ่มเข้า” ตรงกันแล้ว เราจะเข้าเรื่องต่อ

ในเมื่อทุกวันนี้ เขาใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ดังนั้น เราก็ควรจะเทรดไปตามแนวโน้มที่มันกำลังจะไปด้วยเช่นกัน ใช่ไหมครับ ต่อให้กราฟออกมาสวยสดงดงามขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราถือหุ้นเพลิน ในขณะที่เขากำลังขายกัน มันจะเจ็บหนักได้ในภายหลัง กว่าจะรู้ตัวก็ขาดทุนไปมากเชียว

ดังนั้น เมื่อกราฟยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และทุกแนวต้านที่มันกำลังวิ่งไปทดสอบ เราอาจต้องเพิ่มความสังเกตนิดนึง ว่าเขารินขาย หรือ แอบเก็บ

สังเกตเพิ่มอีกนิดว่า เขาซื้อ 3 ส่วน แล้วตบขู่ด้วยการขาย 1ส่วน หรือ เขาซื้อ 1ส่วน เพื่อหลอกขายไอ้ที่วางไว้ 3 ส่วน

ช่วยสังเกตเพิ่มนิดนึงนะครับว่า ราคาและปริมาณเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่


แล้วทำไมถึงต้องใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ล่ะครับ

ก็ราคาหุ้นมันเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปมากนะซิครับ หากวันนี้ เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ขาย คนอื่นก็ต้องขายใส่อยู่ดี

ดังนั้น การวางแผนการขายจึงเริ่มขึ้น

ขั้นแรก ก็ต้องทำการสะสมหุ้นก่อน ช่วงนี้ ใช้เวลาเป็นไตรมาสนะครับ กว่าจะผูกขาดอำนาจการควบคุมหุ้นของตนมาไว้ในมือได้

หลังจากสะสมหุ้นไว้ในมือของกลุ่มและพรรคพวกมากพอแล้ว ก็จะมีการลากกระชากราคา เรียกร้องความสนใจ ช่วงนี้ โวลุ่มเข้า ราคาขึ้น กราฟสวย นักวิเคราะห์เชียร์ นักลงทุนเริ่มหันมามอง

ขั้นต่อมา จะเริ่มมีการใช้พอร์ตของเจ้าของซื้อหุ้นขึ้นไปต่อเนื่อง เพื่อให้ใครต่อใครรับรู้กันว่า ขนาดเจ้าของยังซื้อเก็บต่อเนื่องเลย มาร์เก็ตติ้งที่อ่อนหัดก็อาจจะเที่ยวไปบอกลูกค้ารายอื่นๆของตนให้ซื้อตาม เพราะเห็นว่าเจ้าของเข้าเก็บ น่าจะมีข่าวดีอะไรบางอย่างในเร็วๆนี้

เมื่อนักวิเคราะห์เชียร์ มาร์เก็ตติ้งเชียร์ โวลุ่มก็เข้า ราคาก็ขึ้น กราฟก็สวย นักลงทุนจะเข้ามาเคาะซื้อบ้าง ตั้งรอซื้อบ้าง กระบวนการหลอกขายของก็เริ่มต้น

บัญชีของเจ้าของอาจจะมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่รอซื้ออยู่ให้รีบเคาะซื้อแต่โดยไว แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกกำลังวางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์ถึง 3 ส่วน

และเมื่อหุ้นที่วางขายอยู่มีคนเคาะซื้อขึ้นไปจนหมด ก็จะเริ่มเติมให้อีก

หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก ไม่รู้จบ

นี่ไงครับ โวลุ่มเข้า แต่ราคากลับแน่นิ่ง ไม่สอดคล้องกับโวลุ่มที่เข้ามาเลย

ในเมื่อคนเคาะซื้อเริ่มเหนื่อยใจ เคาะเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที คนส่วนใหญ่จะเริ่มลังเลที่จะเคาะซื้อแล้วครับ มาวางซื้อที่ฝั่งบิดบ้าง วางซื้อต่ำลงมา 2 ช่องบ้าง 3 ช่องบ้าง

ก่อนที่ไก่จะตื่น ต้องรีบกระทำการใช่ไหมครับ …… ในเมื่อคนเริ่มรู้ทันแล้ว เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะรีรอทำไม เดี๋ยวเขาถอนบิดออกหมดเกลี้ยง จะขายไม่ได้ราคา ….. อย่ากระนั้นเลย ขายทิ้งลงมาเลยยังได้ราคาดีกว่า ขายตอนนี้มีคนมาตั้งรอซื้ออยู่ตั้งเยอะ

แล้วกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ก็ดำเนินไปตามแผน

ขายลงมาทันที ได้ราคาดีซะด้วย เพราะไล่ราคาขึ้นไปก่อนแล้ว พอราคาลงไปมาก ก็หยุดการขาย เดี๋ยวก็จะมีคนที่อยากได้ของถูกมาตั้งรอซื้ออีก เดี๋ยวก็มีนักเก็งกำไรมาเคาะซื้ออีก …… และเพื่อเรียกความมั่นใจ ต้องมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกก็วางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์เช่นกันถึง 3 ส่วน เพื่อบีบให้นักเก็งกำไร บีบให้สิงห์เดย์เทรดเคาะขวา

นี่เป็นอีกกลวิธีในการหาเงินขาลงครับ

กลต. ก็เฝ้าแต่จับหุ้นวิ่งขึ้นอยู่ได้ ไม่ยอมมาจับพวกทุบหุ้นบ้าง ความจริงแล้ว ขาลงก็ทำเงินได้ดีเช่นกัน ได้เงินเร็วกกว่าด้วยซ้ำ และสัดส่วนในการถือครองหุ้นในบริษัทก็ไม่ได้สูญเสียลงไปแต่อย่างใด

เดี๋ยวสมมุติเหตุการณ์ให้ดู ว่าขาลง เขาได้เงินยังไง

หุ้นตัวหนึ่ง มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น มันไม่เท่าไหร่หรอก เขาอาจจะค่อยๆสะสม กวาดซื้อหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ วันละเล็กวันละน้อย โดยไม่มีใครมาสนใจ

ไตรมาสหนึ่งผ่านไป ไวเหมือนโกหก ราคาหุ้นขยับขึ้นจาก 5 บาท ไป 11 บาทกว่าๆ เจ้าของบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็รู้ครับว่าแพงเกินจริงไปมากแล้ว ต้องทำกำไรแล้วล่ะ

สมมุติว่ารายใหญ่ตัดสินใจที่จะเริ่มกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ที่ราคา 11 บาท สมมุติตัวเลขน้อยๆพอ สมมุติขายมาแค่ 100 หุ้น ก็จะได้เงินค่าขายกลับคืนมา 1,100 บาท

พอตกลงมา ที่ 8 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 800 บาท ยังเหลือเงินเข้าบัญชีอีก 300 บาท ใช่ไหมครับ

พอหุ้นขึ้นไป 9 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 900 บาท

พอตกลงมา ที่ 6 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 600 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 300 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 7 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 700 บาท

พอตกลงมา ที่ 5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 500 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 6 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 600 บาท

พอตกลงมา ที่ 4 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 400 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 500 บาท

พอตกลงมา ที่ 3 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 300 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 4 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 400 บาท

พอตกลงมา ที่ 2 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 200 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 2.5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 250 บาท

พอตกลงมา ที่ 1.5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 150 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 100 บาท

สรุปแล้ว เมื่อสิ้นสุด วงจรอุบาทว์นี้ เจ้าของบริษัทและรายใหญ่ ยังมีหุ้นอยู่ครบ ไม่ได้เสียสัดส่วนการถือครองหุ้นเลย ไม่สูญเสียอำนาจการบริหารกิจการด้วย แถมยังได้เงิน ขาลง มาตลอดทางอีกต่างหาก

เวลาขึ้น จะใช้บัญชีเจ้าของเป็นผู้ซื้อขึ้นครับ แต่เวลาขาย เขาไม่ใช้บัญชีตัวเองขายหรอก พวกเราก็ชอบไปดูกันจังว่า เจ้าของบริษัทซื้อหุ้นตัวเองเข้าพอร์ตหรือยัง ขายหุ้นออกมาหรือไม่ มันบอกอะไรไม่ได้หรอกครับ

มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะสงสัย ว่า เวลาหุ้นอ่อนตัวลงมาแล้วเจ้าของซื้อกลับขึ้นไป ทำไมไม่เอามาคิดคำนวณด้วย อยากจะบอกว่า การซื้อขึ้นไปหาราคาที่ต้องการจะขาย ไม่มีต้นทุนครับ เพราะไอ้ที่เคาะขวาซื้อๆขึ้นไป ในแต่ละรอบ ก่อนทำการขายจริง มันก็ของเขาทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะใช้ชื่อบัญชีไหนวางขายเท่านั้นเอง

ดังนั้น หากท่านเห็นว่าหุ้นหยุดนิ่งอยู่ที่แนวต้าน แม้จะมีโวลุ่มเข้ามาตลอด แต่ราคาก็ตื้อๆ ไม่สามารถขยับขึ้นต่อไปได้ และเมื่อราคานั้นใกล้หมด ก็มีคนเติมขายอีก ท่านรู้แล้วใช่ไหมครับว่าควรทำอย่างไรดี..?

www.ThaiDayTrade.com

Tuesday, September 29, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 9 : ย้อนรอย วัฏจักรตลาดหุ้น

ก่อนที่เราจะไปดูกลลวงเจ้ามือ กลเม็ดรายใหญ่ในตอนต่อจากนี้ไป เรามาเริ่มย้อนรอย ตามดูวัฎจักรของตลาดหุ้นกันก่อน ดีกว่าครับ ว่าแต่ละช่วง ตลาดมีอาการอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพว่าในแต่ละรอบ ผู้เล่นแต่ละกลุ่มเขาทำอะไรกันบ้าง

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด

อาการของตลาดในช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด สังเกตได้ไม่ยากครับ เพราะเป็นช่วงที่ตลาดคึกเป็นม้าดีดกะโหลก ราคาหุ้นปรับขึ้นแบบเว่อร์แล้วยังมีเว่อร์อีก สื่อฯและนักวิเคราะห์เชียร์ซื้อหุ้นสุดลิ่มทิ่มประตู หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ ต่างพากันคึกคักถ้วนหน้าจากปริมาณการซื้อขายล้นทะลัก สายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งก็ไม่เคยว่าง ผู้คนคึกคักและต่างพากันยิ้มแย้มเต็มห้องค้าฯ

หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดจะแสดงอาการประหลาดๆให้เห็น เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าจะปรับฐานแล้วนะ

ช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายต่อวันยังมากอยู่ครับ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความหวัง แต่ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาด ชักจะเริ่มไม่ขยับแล้ว อาจจะมีอาการแตะจุดสูงสุดเดิมซ้ำๆแต่ไม่ผ่านซะทีให้เห็น แล้ว วันต่อๆมา จุดสูงสุดของดัชนีก็ค่อยๆต่ำลง พร้อมๆกับจุดต่ำสุดของดัชนีก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ค่อยๆหดหาย จำนวนสถานะคงค้างในตลาดฟิวเจอร์ก็เริ่มหดตัว พร้อมทั้งราคาอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ที่เริ่มปรับลง

มือใหม่ ที่อดทนรอ ไม่กล้าซื้อหุ้นในตอนแรก เพราะมัวแต่รอให้หุ้นราคาถูกก่อน เริ่มตัดสินใจซื้อหุ้นในช่วงนี้แหละครับ เพราะกลัวตกรถ …… หลังจากรอคอยมานานแสนนาน แต่หุ้นก็วิ่งหนีขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อหุ้นหยุดรอ หรือ อ่อนตัวลงมาให้ซื้อ มือใหม่จึงตัดสินใจซื้อหุ้นทันที ด้วยความคิดว่า หุ้นคงจะไม่ลงแล้วล่ะ

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็เห็นใจมือใหม่ครับ เริ่มขนหุ้นของตนมาวางขายทีละเล็กทีละน้อยแบบเงียบๆ พอปริมาณหุ้นที่วางขายมีคนมาซื้อจนหมดไป เขาก็จะขนหุ้นออกมาเติมขาย ให้มือใหม่ได้ซื้อหุ้นมากเท่าที่ใจจะไขว่คว้า

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ ก็เห็นใจมือใหม่ที่สนใจหุ้นพื้นฐานดีเช่นกัน เริ่มขนหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ในพอร์ตของตน มาวางขายทีละเล็กทีละน้อยแบบเงียบๆ พอปริมาณหุ้นที่วางขายใกล้หมด กองทุนก็จะพากันขนหุ้นมาเติมขายให้อีก

นักเก็งกำไร จะเร่งขายหุ้น และ ทยอยปิดสถานะ “Long” เพื่อทำกำไรใน SET50 Index Futures ก็ช่วงนี้แหละครับ ปริมาณการซื้อขายและจำนวนของสถานะในตลาดฟิวเจอร์จึงลดลงเรื่อยๆ พร้อมด้วยราคาที่ค่อยๆถดถอยลงมา

นักลงทุนระยะยาว ยังสงบนิ่ง สุขุม ท่องคาถา “หุ้นเรา พื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง”

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงขาลง

หลังจากที่ผ่านช่วงตลาดกระทิงแล้ว อาการของตลาดหมีก็เริ่มปรากฏ

ความคึกคักในตลาดเริ่มลดต่ำลง ดัชนีและราคาหุ้นปรับลงแล้วปรับลงอีกในแต่ละวัน นักวิเคราะห์ยังคงเชียร์ซื้อหุ้น “ราคาหุ้นปรับตัวลงมาถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ”

อาการของช่วงขาลง สังเกตได้ไม่ยากครับ หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์จะร่วงลงอย่างรวดเร็ว สายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งยังไม่ว่าง เพราะลูกค้าจะชอบโทรมาถามว่า “มีข่าวอะไรไม๊ ทำไมหุ้นลง”, “รับที่ราคาเท่าไหร่ดี ราคามันถูกแล้วจะซื้อถัวเฉลี่ย” ฯลฯ แน๊ะ หุ้นเป็นขาลงแล้ว ยังจะซื้อถมเข้าไปอีก

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์กลับมาเพิ่มขึ้นมาก พร้อมๆกับมีการเปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ส่วนระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ทรุดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

มือใหม่ ยังมีความหวัง จำราคาเป้าหมายได้แม่น ดังนั้น หุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ยิ่งร่วงลงมา เลยยิ่งเข้าซื้อ หวังถัวเฉลี่ยต้นทุน ….. ส่วนมือใหม่ที่ยังไม่ได้ซื้อในรอบที่รุ่งโรจน์ถึงขีดสุด บังเอิญดันไปเปิดทีวี เจอนักวิเคราะห์พูดอยู่พอดี “ราคาหุ้นปรับตัวลงมาถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ” ก็จะตัดสินใจเข้าซื้อตอนนี้ล่ะ พร้อมทั้งดีใจอีกต่างหากที่ได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่าคราวที่แล้ว

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นเยอะกว่าเพื่อน และยังไม่ได้ขายอีกตั้งหลายสิบล้านหุ้น เมื่อราคาเริ่มยืนไม่ได้แล้ว ก็ต้องเผ่นหนีตายก่อนเหมือนกันล่ะ ว่าแล้วก็โทรไปหามาร์เก็ตติ้ง “คุณ ขายออกไปก่อน 7 ล้านหุ้น” …… นี่แหละครับ หนีตายของจริง ขายให้ครบ ไม่กำหนดราคา ถึงมิน่าล่ะ บางช่วง หุ้นลงดิ่งมาอย่างเร็ว จนขายกันไม่ค่อยจะทันเลย

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ ก็มีหุ้นเยอะมากไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะเนี่ยะ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับสไตลล์ และ นโยบายบริหาร ของแต่ละกองทุนแล้วล่ะครับ ว่าจะงัดกลยุทธ์ไหนขึ้นมาใช้ บางกองทุนที่อนุรักษ์นิยมหน่อย ก็อาจจะเก็บหุ้นไว้ดูเล่น แล้วบริหารความเสี่ยงของพอร์ต ด้วยการ Long Put ใน อินเด็กซ์ออพชั่น หรือ เข้า Short ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์

ส่วนกองทุนไหนที่มีสไตลล์การเล่นรุนแรงในเชิงรุก เขาอาจจะขนหุ้นในพอร์ตออกมาขายก่อนก็ได้ แล้วค่อยซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่า กลับคืนมาในภายหลัง โดยเฉพาะกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ด้วยแล้ว อาจจะเพิ่มความกร้าวด้วยการทำธุรกรรม Short Sell โดยยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขายซ้ำ พร้อมๆกับ Short ใน ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ เพิ่มเข้าไปอีก เพื่อทำกำไรในช่วงตลาดขาลง อย่างเป็นกอบเป็นกำ

นักเก็งกำไรก็ไม่รีรอเช่นกัน ในเมื่อตลาดเป็นขาลงแน่ๆ จะรอซื้อหุ้นทำไมให้ป่วยการ ว่าแล้วก็เปิด Short ใน ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ อย่างเร่งรีบ ช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ จึงเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน

นักลงทุนระยะยาว ยังคงสงบนิ่งครับ รอจังหวะซื้อของดีที่ใครต่อใครมาขายลดราคาให้

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงผีหลอก

หลังจากที่ตลาดร่วงรุนแรง ใครๆก็ทราบดีแล้วว่าหุ้นเป็นขาลง นักวิเคราะห์ก็จะออกมาแนะนำขาย “หุ้นตัวนี้ มันไม่ดี อย่างงี้อย่างงั้น เราแนะนำขาย“

หลังจากนั้นมา ตลาดหุ้นก็ไปไม่รอด เพราะคนที่ซื้อไว้ตลอดทาง เริ่มรับรู้แล้วว่า นี่เป็นขาลง ประกอบกับนักวิเคราะห์ ลดราคาเป้าหมายลงมามากด้วย จนไม่มีใครกล้าถือหุ้นแล้วล่ะ ดังนั้น ถ้าตลาดเด้งสลับขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นอันต้องเจอแรงขายใส่ ทุกทีไป

ตอนนี้ ถึงราคาหุ้นจะทรุดลงต่ำ จนเตี้ยติดดิน ก็ไม่มีใครกล้าซื้อแล้วครับ ส่วนคนจะขายก็ทำใจขายไม่ได้แล้ว เพราะมันลงมาลึกจนกว่าจะทำใจขายได้ ช่วงนี้ ตลาดจึงวังเวง ความเงียบเหงาก็เข้ามาเยือน มีเสียงหมีนอนกรนให้ได้ยินเป็นระยะๆ ผู้คนในห้องค้าหดหาย ปริมาณการซื้อขายบางเฉียบ หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ตายเรียบ มาร์เก็ตติ้งนั่งหาวบ้าง นั่งหลับบ้าง ลากิจ ลาป่วยบ้าง ตามแต่จะอ้าง ตลาดช่วงนี้สังเกตได้ง่ายใหญ่ ถ้าท่านโทรไปหามาร์เก็ตติ้งของท่านทีไร ก็โทรติดง่ายแสนง่าย แถมได้คุยด้วยนานๆทุกทีไป ก็แสดงว่า ตลาดกำลังอยู่ในช่วงผีหลอกแล้วล่ะครับ

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์หดหาย สถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ก็ลดลงอย่างมากมาย ส่วนระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็เริ่มนิ่งๆแล้วเช่นกัน

มือใหม่ เริ่มหมดหวัง แถมเงินก็หมดแล้วอีกต่างหาก เพราะทยอยซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนมาตลอดทาง ตอนนี้ราคาหุ้นถูกกว่าเก่าตั้งเยอะด้วย แต่ไม่มีเงินซื้อแล้วล่ะ ถึงมีเงินซื้อ ก็ไม่อยากจะซื้อแล้ว พร้อมกับนั่งเฝ้าหน้าจอ รอวันเวลา ให้หุ้นในพอร์ตตนกลับขึ้นมาถึงต้นทุนซักที

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่ เห็นว่าแรงขายเริ่มหมด ราคาหุ้นเริ่มนิ่ง ต่างก็เข้ามาตั้งรับ ทยอยซื้อคืนหุ้นของตน ที่ขายทิ้งลงมาก่อนหน้านั้น

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เริ่มทยอยปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ กองทุนไหนที่เคยขายหุ้นลงมาก่อนหน้านั้น ก็ใช้จังหวะนี้เข้าทยอยซื้อหุ้นคืน ส่วนกองทุนที่ไปยืมหุ้นของโบรกเกอร์มาขาย ก็เริ่มซื้อคืนหุ้นไปส่งมอบคืนเจ้าของ

นักเก็งกำไร ก็ใช้โอกาสนี้ เข้าปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ เช่นกัน

นักลงทุนระยะยาวเริ่มเล็งเห็นแล้วครับ ว่าขณะนี้ หุ้นในดวงใจของตน ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นเกินเหตุแล้ว เขาจึงใช้โอกาสนี้แหละครับ กวาดซื้อหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ราวกับเป็นช่วงโปรโมชั่น ลดกระหน่ำวังเวงแกรนด์เซลล์

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงสะสม

อาการของตลาดในช่วงสะสมครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากที่เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมทั้งบรรดากองทุน และ นักลงทุนระยะยาว เริ่มเข้าเก็บหุ้นกัน หลังจากที่เห็นแล้วว่า ณ ราคานี้ ไม่มีใครอยากขายแล้ว ณ ตรงนี้แรงขายหมดแล้ว

เมื่อราคาและดัชนีหยุดไหลลงได้ ก็ถึงคราวที่มูลค่ากิจการ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ต่ำเตี้ยติดดิน ควรจะฟื้นคืนสู่มูลค่าที่แท้จริงของมันได้แล้ว ใช่ไหมครับ

ในช่วงนี้ ความมั่นใจยังไม่มากนัก ราคาหุ้นและดัชนีจะเริ่มปรับขึ้นทีละเล็กละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในตลาดฟิวเจอร์ก็ยังคงเงียบอยู่ มีปริมาณการเทรดและการเปิดสถานะใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ส่วนมือใหม่ เลิกดูหุ้น เลิกตามตลาดไปตั้งนานแล้วครับ หวังว่า มาถึงทุนอีกที จะขายให้เกลี้ยงเลย เลิกๆๆจริงๆด้วย

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เร่งทยอยซื้อคืนหุ้นของตนต่อเนื่อง มีการเคาะขวาซื้อหุ้นทีละช่อง 2 ช่องให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว เพราะเท่าที่เก็บหุ้นของตนคืนในช่วงที่ผ่านมา ยังเก็บคืนได้น้อยมากเมื่อเทียบกับที่ตนขายลงมาในช่วงก่อนหน้านี้

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เร่งทยอยซื้อหุ้นต่อเนื่องเหมือนกัน มีการเคาะขวาซื้อหุ้นทีละช่อง 2 ช่องให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว เพราะเท่าที่สะสมหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังสะสมได้น้อยมาก

นักเก็งกำไรส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยทำอะไรเป็นพิเศษในช่วงนี้ครับ

นักลงทุนระยะยาว ยังคงตั้งหน้าตั้งตา กวาดซื้อหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ต่อเนื่อง ตราบใดที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงขาขึ้น

ตลาดในช่วงขาขึ้น เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาด หลังจากที่เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และบรรดากองทุน เร่งรีบซื้อหุ้นให้ครบ ตามที่ตั้งใจ

เมื่อต่างคนต่างซื้อ และ ต่างคนต่างก็อยากได้ของถูก อาการของตลาดในช่วงนี้ที่แสดงให้เราเห็น จึงเป็นภาพของการแย่งกันซื้อ ไม่งั้น เดี๋ยวจะได้ของไม่ครบ หรือหากจะซื้อมาให้ได้ครบก็กลัวจะได้ราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากมัวแต่รีรอ

ช่วงนี้ ทั้งตลาดหุ้นและตัวหุ้น เริ่มกลับตัวให้เห็นเด่นชัด ปริมาณการซื้อขายเข้ามามาก ดัชนีขยับขึ้นค่อนข้างเร็ว ราคาหุ้นวิ่งแรงขึ้น กลุ่มหลักทรัพย์เริ่มฟื้นนิดๆ

ตลาดฟิวเจอร์ก็ไม่แพ้กัน ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาก โดยระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็วิ่งขึ้นนำ เสมือนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภาวะกระทิงกำลังจะกลับเข้ามาแล้ว

มือใหม่ส่วนหนึ่ง ไม่มีนโยบายเติมเงิน นั่งรอจุดคุ้มทุนอย่างเดียว

มือใหม่อีกส่วนหนึ่ง เงินหมดซะแล้ว เพราะซื้อของถูกถัวเฉลี่ยต้นทุนมาตลอดทาง แต่ก็ยังเจอถูกกว่า แบบไม่รู้จบ

ส่วนมือใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง มีเงินนะ แต่ “เดี๋ยวรอให้มันราคาลงมาอีกรอบก่อน แล้วจะซื้อ” ….. หลังจากรอไปสักระยะนึง เห็นหุ้นวิ่งขึ้นไปไกล ไม่กลับลงมาให้ซื้ออีก ก็ปลอบตัวเองไปพลางๆ “เอ มันจะขึ้นจริงๆหรือ ใจเย็นๆน่า เดี๋ยวมันก็คงกลับลงมาให้เราซื้อ” …… หลังจากรอไปอีกสักระยะหนึ่ง เห็นหุ้นวิ่งไปไกลมากๆแล้ว เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ “ไม่ซื้อแล้ว มันขึ้นไปมากแล้ว”

ในระหว่างที่มือใหม่คิดแบบนี้ เราไปดูกันครับ ว่า เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่ กองทุน และนักเก็งกำไร เขาคิดกันยังไง ทำไมกลุ่มหนึ่งชนะตลอด และทำไมอีกกลุ่มหนึ่งถึงเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่ กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เร่งรีบซื้อหน้าตั้งซิครับ เพราะนี่เป็นขาขึ้นเห็นๆ ต่างพากันแย่งซื้อก่อนที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปมาก ในระหว่างนี้ เราจะเห็นการไล่เคาะซื้อทีละ 3 ช่อง 4 ช่องราคา เพื่อให้ได้หุ้นมาก่อนที่ราคาจะวิ่งไปไกลกว่านี้

นักเก็งกำไร ก็ไม่น้อยหน้า ในเมื่อเป็นขาขึ้นแจ่มใส ทำไมจะไม่แย่งเขาซื้อด้วยล่ะครับ ทั้งซื้อหุ้น ทั้ง เปิดสถานะ Long ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์อย่างเร่งรีบ ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ กลับมาคึกคักผิดหูผิดตา

ส่วนนักลงทุนระยะยาว เริ่มเข้าสู่ช่วงเสวยสุข เพราะหุ้นที่ตนซื้อลงทุนไว้เริ่มเติบโตเดินหน้า เข้าหามูลค่าที่ควรจะเป็น

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด

เมื่อทุกคนประจักษ์ชัดว่าเป็นขาขึ้น ความคึกคักก็กลับมาเยือนตลาดอีกหน ทั้งดัชนีตลาดทั้งหุ้นรายตัวต่างก็ทำจุดสูงสุดใหม่กันถ้วนหน้า โดยมีปริมาณการซื้อขายคับคั่งการันตีการขึ้น ระดับราคาตามสัญญาฟิวเจอร์ก็ไม่น้อยหน้า กระดี้กระด้าเฮฮาพร้อมปริมาณการเทรดที่ทะลักเข้ามามหาศาล

นักวิเคราะห์โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ กลับมาเชียร์ซื้อหุ้น พร้อมโม้ซะหน่อย “เราแนะนำซื้อมาอย่างต่อเนื่อง หุ้นปรับตัวขึ้นตามคาด ให้ราคาเป้าหมายเท่าโน้นเท่านี้”

คนกลุ่มอื่นจะเป็นยังไง ก็ช่างเขาเถอะ ห่วงแต่มือใหม่นี่สิครับ ที่เข้าสู่วัฎจักรเดิมๆอีก

ตอนเขาสะสมกัน มือใหม่ก็ไม่มั่นใจ ตอนตลาดฟื้นตัว มือใหม่ก็รอซื้อถูก ตอนตลาดกระทิง มือใหม่ก็บ่นว่ามันขึ้นมามากแล้ว แต่พอตลาดคึกคักสุดขีด นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายขึ้น มือใหม่ก็กลัวตกรถ ในที่สุด ซวยซ้ำซวยซากอีกตามเคย มาซื้อเป็นคนสุดท้ายของตลาดเรื่อยเชียว


ในตอนท้ายของปลายตลาดขาขึ้น ก็จะยังคงเป็นภาพเดิมๆ แหละครับ บ่งบอกถึงอาการส่งสัญญาณหมดรอบ

ดังนั้น ถ้าท่านเห็นหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์คึกคักต่อเนื่อง เห็นสายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งไม่ค่อยว่าง เห็นมือใหม่หน้าใหม่มาเปิดบัญชี เห็นผู้คนกลับเข้ามาคึกคักยิ้มแย้มเต็มห้องค้า เห็นนักวิเคราะห์มาปรับเป้าหมายดัชนีตลาด ท่านคงรู้แล้วนะครับ ว่าช่วงนั้น ท่านต้องพร้อมจะขายทำกำไรทุกเมื่อแล้วล่ะ

www.ThaiDayTrade.com

Monday, September 28, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 8 : ขายหมูดีกว่าขายหมา น้ำลายหกดีกว่าน้ำตาตก

ครั้งแรกที่ได้ยิน เสี่ย “ย.” พูด “วิธีแรกที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น คือ อย่าทำให้ตัวเองขาดทุน” …… ขำกลิ้งเลย ….. บ้าหรอ ใครล่ะ ทำให้ตัวเองขาดทุน ใครๆก็ไม่อยากขาดทุนกันทั้งนั้นแหละ ขำอ่ะ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่นั่งสมองกลวงๆ เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นอายุ 29 มันก็ถามขึ้นมาว่า “พี่ๆ พี่ว่าคนเล่นหุ้นเจ๊ง กับ คนเล่นหุ้นกำไร แบบไหนมีมากกว่ากัน” เราก็ได้ยินแต่ใครๆบ่นว่าเจ๊งๆ ก็เลยตอบว่า “คนเล่นเจ๊ง ซิ น่าจะมากกว่า”

เจ้าต้นยิงคำถามใส่กบในกะลาอย่างผมต่อว่า “รู้ไม๊ ทำไม คนเล่นหุ้นเจ๊ง มีมากกว่า” ตายละซิ ไม่รู้แหะ

แค่คิด ยังไม่ทันจะตอบ เจ้าต้นก็เปิดโปรแกรม Excel โชว์ผลกำไรเป็นเท่าตัวของเขาให้เราอิจฉาเล่น แล้วพูดอย่างมีความสุขและภูมิใจว่า

“พี่ เห็นไม๊ นี่ไง หุ้นที่ต้นถืออยู่ มันปีนเส้นค่าเฉลี่ยมาตลอด แล้วต้นจะขายทำไม ต้นก็ปล่อยกำไรวิ่งไปเรื่อยๆซิ คนส่วนใหญ่นะพี่ พอมีกำไรนิดหน่อยก็ดีใจ ขายกันแล้ว กลัวหุ้นลง แต่แปลกนะพี่ ถ้าหุ้นที่ซื้อแล้วดิ่งลง ดิ่งลง กลับถือได้ทนดีจัง ของต้นนะ หลุดเส้นนี้ลงมาปุ๊ป ก็ขายทิ้ง”

เซียนต้นสอนผม ทำให้ผมเข้าใจ กลยุทธ์ “อย่าขาดทุน” ของ เสี่ย “ย.” ขึ้นมาในทันที แหม โง่อยู่ได้ตั้งนาน

เวลาหุ้นร่วง คนส่วนใหญ่ก็เอาแต่นั่งกอดหุ้น เพราะความกลัวว่าขายแล้วจะขาดทุน ได้แต่นั่งเฝ้ามองหุ้นตัวเองต่ำลง ต่ำลง จน เครียด

หลังจากหุ้นตกไปพอสมควรแล้ว เวลามันดีดกลับขึ้นมา กี่รอบกี่รอบ ก็ไม่เห็นถึงทุนซะที ขณะที่เจ้าต้นเลือกที่จะเสี่ยงขายไปก่อน

“ก็ในเมื่อหุ้นมันจะลง จะไปพะวงเรื่องกำไรอยู่ทำไมล่ะพี่ เดี๋ยวลงสุดแล้ว ต้นกลับไปซื้อคืนใหม่ก็ยังทัน” นี่ ดูความคิดของเซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นอายุ 29 ดูซิครับ ทำไมมันช่างต่างจากคนกลุ่มใหญ่ที่กลัวการขาดทุนจนทุนขาดไปหมดพอร์ตแล้ว ขนาดนี้

ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ นั่งเฝ้าหน้าจอ รอความหวังที่จะขายทิ้งไปในราคาต้นทุน วันแล้ววันเล่า เจ้าต้นกลับสนุกสนานในการซื้อคืน ขายทิ้ง ซื้อคืน ขายทิ้ง ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ

เท่าที่ได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเซียนหุ้นมา ทุกท่านมีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ครับ

“เวลาหุ้นมีแนวโน้มลง ผมจะขายทิ้งทันที”

“ขายเพื่อไม่ให้กำไรที่อยู่ในพอร์ตกลับไปเป็นขาดทุน”

“ขายแล้วจะขึ้น ก็ไม่เป็นไร ดีกว่ามานั่งเสียใจในภายหลังที่ต้องกลับมาขาดทุน”

อ้อ อย่างงี้นี้เอง เล่นหุ้นร่ำรวยเรื้อรัง ก็เสี่ยทั้งหลายรับมาแต่กำไร ไม่ยอมกลับไปเป็นขาดทุนนี่เอง

เรื่องนี้ ป๋าบุญ ขยายความเพิ่มเติมให้ฟัง

“ในการเล่นหุ้นนั้น ถ้าซื้อแล้ว ถูกทาง ก็ปล่อยมันวิ่ง และทิ้งทันที ถ้ามีแนวโน้มลง ห้ามคิดเด็ดขาดว่ากำไรเพิ่งนิดเดียวเองยังไม่ขายหรอก อย่าไปคิดว่า เมื่อเช้ายังเห็นราคาเท่านี้เท่านี้อยู่เลย ลองวางขายที่ราคานั้นอีกทีซิ เผื่อฟลุ๊ค ถ้ามันมีแนวโน้มร่วงลง ต้องเอาเงินออกมาก่อน อย่ายอมขาดทุน”

ปัญหาในขณะนี้คือ แล้วถ้ามันวิ่งขึ้นๆๆ เราจะขายราคาไหนดี

เซียนหุ้นหลายท่านตอบตรงกันยังกะนัดกันมา “ก็ขายเมื่อเจอตอนะสิ”

อ้าว แล้วตอนั้น สำคัญไฉน

มวลชนมักลังเลที่จะขายเสมอเลยครับ เมื่อเห็นโวลุ่มทะลักเข้าคึกคัก

แต่หลังจากที่ผมได้ยินจากเสี่ยๆทั้งหลายว่า เจอตอ ให้ขาย ผมเลยลองๆสังเกตดู และในที่สุดก็เข้าใจความหมายของตอ

สมมุติตัวเลขแล้วกัน สมมุติ ท่านซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 8 บาท จากนั้น ท่านสังเกตเห็นโวลุ่มเข้ามาต่อเนื่อง พร้อมกับการค่อยๆขยับขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนปิดตลาดที่ราคา 8.40 บาทได้ แบบนี้ยังโล่งครับ ปล่อยกำไรมันวิ่งไปเถอะ

พอวันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์เชียร์ หุ้นก็ดีดดีจัง โวลุ่มเข้ามามากกว่าเมื่อวานอีก ราคาก็ขยับขึ้นแรง จนกระทั่งไปถึง 9 บาทได้ในที่สุด วันนั้น โวลุ่มก็เข้า ราคาก็วิ่งขึ้น แบบนี้ ไม่มีตอครับ

อีกวันถัดมา โวลุ่มเข้ามาแรงเลย นักวิเคราะห์เชียร์อีก ให้คำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 12 บาท เพราะมันดีอย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ปรากฏว่า หุ้นคึกกว่าเก่า โวลุ่มมาจากไหนไม่รู้มหาศาล และราคาก็ทะยานแบบทำท่าจะกู่ไม่กลับ แต่แล้วพอถึงราคา 9.70 บาท ราคามันชักจะไม่ค่อยวิ่งขึ้นตามโวลุ่มที่ทะลักเข้ามา หย่อนลงมาได้นิดนึง มีโวลุ่มเข้ามาอีก แต่ก็ไม่ผ่าน 9.70 บาทซะที เรียกง่ายๆก็คือ หุ้นไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ แม้ช่วงเย็นของวันก็แล้ว โวลุ่มซื้อยังคงมีมากมายต่อเนื่อง แต่ราคาก็ยังไม่ผ่าน 9.70 บาทเหมือนเดิม

แบบนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนนะครับ ว่าเจอตอเข้าให้แล้ว

ถึงหุ้นจะคึก ถึงจะมีแรงเชียร์ซื้อ ถึงมีความเสี่ยงที่ขายไปแล้วจะขึ้น อย่างนี้ก็น่าขายหมูออกไปก่อนครับ เพราะท่านกำลังเจอตอ ท่านกำลังเจอรายใหญ่วางขายอยู่ที่ราคา 9.70 ไม่จบไม่สิ้น

เมื่อทุกคนเห็นว่า 9.70 บาท ไม่ผ่าน เมื่อรายใหญ่เห็นว่า ที่ 9.70 ไม่มีใครเคาะซื้อแล้ว มีโอกาสที่แรงขายหนักๆจะตามมา

ผมพบเห็นมามากเลยนะ ผู้คนในห้องค้าที่ไม่กล้าจะขาย ทั้งๆที่เจอตอ เหตุผลง่ายๆที่ได้ยินมาก็คือ

“ไม่ขายล่ะ กลัวขายแล้วมันขึ้น”

“ไม่ขายหรอก ราคาพื้นฐานมันอยู่ที่ 12 บาท”

“จะรีบขายไปทำไมค่ะ เห็นเขาบอกว่า มันดีอย่างนี้อย่างนั้นอย่างโน้น”

อันนี้ก็ไม่แปลกนะครับที่จะไม่ขาย เพราะท่านอาจจะเป็นผู้ยอมรับความเสี่ยงได้สูงก็ได้ ท่านจึงต้องการลุ้นให้ผ่านตอนี้ไปให้ได้ก่อน

แต่ที่แปลกใจก็คือ ผมเห็นผู้คนในห้องค้าจำนวนมากเลย ที่ปล่อยให้กำไรจำนวนมากมาย กลายเป็นขาดทุนได้ด้วย เดี๋ยวไปดูกัน ว่าท่านเหล่านั้นมีเทคนิควิธีทำกำไรให้เป็นขาดทุนอย่างง่ายๆได้อย่างไร

ในช่วงต้นๆ ที่หุ้นมันไม่ผ่านด่านราคานั้นไป พี่ป้าน้าอาในห้องค้า ก็ตั้งลุ้นที่ราคาสูงสุดของวัน หวังฟลุ๊ค ฮั่นแน๊ะ เจอตอแล้วยังหวังจะขายที่ราคาสูงสุดของวันอีก

พอรายใหญ่รู้ตัวว่าเจอตอ เขาก็เริ่มขายทิ้งแล้วล่ะสิ พี่ป้าน้าอา เห็นว่าหุ้นลงซะ ก็ยอมลดราคาขายลงมานิ๊ดนึง ไม่ขายที่ราคาสูงสุดก็ได้

พอรายใหญ่แย่งกันทิ้งหุ้น คราวนี้ หุ้นก็ดิ่งลงเร็วเลยล่ะครับ แทนที่ ผู้คนในห้องค้าจะรีบเอาเงินต้นออกมาก่อน ส่วนใหญ่กลับไปวิ่งหาข่าว หาเหตุผล ว่าหุ้นลงเพราะอะไร

ถามหน่อยเหอะ เวลาเลือดไหลออกมากๆ ทำไงครับ

ห้ามเลือดในทันที ก่อนที่จะตาย หรือ ต้องหาสาเหตุให้ได้ ว่า ทำไมถึงไหล ใครแทง แทงโดนเส้นเลือดใหญ่หรือเส้นเลือดฝอย แล้วนี่เลือดจะหยุดไหลหรือยัง เลือดจะไหลอีกนานไม๊ ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม แบบไหน ….. และอื่นๆอีกมากมาย หลากหลายคำถาม ฯลฯ ก่อนจะหาคำตอบได้ ไม่ตายไปก่อนแล้วรึ

นี่ก็เหมือนกันครับ หุ้นดิ่งลง มัวแต่หาสาเหตุ ไปๆมาๆ ตกเย็นวันนั้น ขาดทุนจนได้ พอขาดทุนก็ยากแล้วล่ะที่จะทำใจขายหุ้นออกมา เพราะเห็นๆอยู่ว่าเมื่อกี้นี้ยังกำไรอยู่เลย

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เข้าสู่เทศกาลปรับฐาน หุ้นแต่ละตัวต่ำเตี้ยสาละวัน

หนึ่งเดือนผ่านไป ไวเหมือนโกหก หุ้นที่เราๆท่านๆถืออยู่ ร่วงมาให้ขาดทุนไปแล้วถึง 50% ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะขอแค่คืนทุน หุ้นตัวนั้น ต้องดีดมา 100% เลยนะ มันคงไม่เกิดขึ้นบ่อยหรอกครับ และไม่รู้ด้วยว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน กว่ามันจะกลับขึ้นไปเพียงเท่าทุน

ผู้ที่ประสบความสำเร็จ เขาอยู่กับปัจจุบันครับ ไม่ได้อยู่ด้วยการคาดหวังเลื่อนลอย

ต่อให้รวยแค่ไหน เงินเราก็ถือว่า ช่างเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับปริมาณเงินทั้งตลาด

เซียนหุ้นตัวจริงถึงกล่าวอยู่เสมอว่า “ให้ว่าไปตามภาวะตลาด น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง”

ถ้าไม่มั่นใจว่ามันจะไปได้ต่อ ล็อคกำไรออกมาก่อนครับ ภาษิตสำนวนฝรั่งว่าไว้ “When In Doubt, Stay out!” …… หากมีลางสังหรณ์ไม่ดี หรือเจอตอ ต้องเผ่นก่อนเป็นดี

www.ThaiDayTrade.com

Sunday, September 27, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 7 : เกาะไปกับ Fund Flow

"ตอนที่เริ่มสตาร์ท ผมลงเงินไป 500,000 บาท ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามี "ราคาถูก" ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มี พี/อี เรโช ต่ำ และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอดจนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้วค่อยๆ เรียนรู้ ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!" …….. ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม (หมอยง) เศรษฐีหุ้น พันล้าน

มวลชนมักจะเลือกซื้อหุ้นถูก ดักซื้อ รอเก็บ เพราะคาดว่า เดี๋ยวมันจะขึ้น

นักวิเคราะห์ก็ออกมาการันตีว่าปัจจัยพื้นฐานดี เราก็อุ่นใจ ใช่ไหมครับ ว่าเดี๋ยวคงจะขึ้น

ส่วนหุ้นเก็งกำไรที่มันลงมาแรงแล้ว เราก็เข้าเก็บเหมือนกัน ด้วยความหวังว่า เดี๋ยวมันคงจะขึ้น

หุ้นที่มีพื้นฐานดี หรือ หุ้นเก็งกำไร ล้วนแต่ราคาลงมามากแล้วทั้งนั้น ดังนั้น เราดักซื้อรอไว้ มันก็น่าจะขึ้น

อย่างที่บอกไว้ในตอนก่อนล่ะครับ ยังไงมันก็ไม่ขึ้นหรอก หากโชเฟอร์ยังหลับอยู่

ทำไมไม่ดูรถที่มีโชเฟอร์สตาร์ทรอจนเครื่องร้อนแล้ว และโชเฟอร์กำลังจะออกรถล่ะครับ

จริงๆแล้ว เซียนหุ้นทั้งหลาย ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ว่าหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เก็งกำไร เขาเลือกตัวที่มันกำลังจะวิ่ง หรือ เพิ่งวิ่ง กันทั้งนั้น

หุ้นที่ดีในมุมมองของคนเล่นหุ้น ควรจะเป็นหุ้นที่เข้าซื้อแล้วมีกำไร อย่าเกี่ยงเลยว่าหุ้นตัวนั้น พื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เป็นหุ้นปั่น เพราะนักลงทุนจำนวนมากในตลาด ก็ล้วนเคยมีผลขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีมาแล้วทั้งสิ้น

เพราะการลงทุนในหุ้นที่เราสมมุติกันว่า มีปัจจัยพื้นฐานดี มันก็คือ การเก็งกำไรเหมือนกันล่ะครับ เพียงแต่ว่า มันเป็นการเก็งกำไรจากการเก็งมูลค่ากิจการโดยนักวิเคราะห์ ในขณะที่การเล่นหุ้นเก็งกำไรเป็นการเก็งกำไรจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าหุ้นตัวนั้นๆโดยนักเล่นหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้น หรือที่เรียกให้ดูแย่หน่อยว่า หุ้นปั่น

แต่จะวิเคราะห์แบบไหน ก็เก็งกำไรทั้งนั้นแหละ ไม่งั้น จะกำหนดราคาเป้าหมาย ราคาที่ควรจะเป็นไปทำไม การกำหนดเช่นนั้น ก็คือการเก็งอยู่ดีนะแหละว่า ถ้าคุณซื้อที่ราคานี้ คุณน่าจะขายได้ที่ราคานั้น

คนที่เข้ามาในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ก็หวังส่วนต่างราคา คาดว่าจะขายได้แพงกว่าราคาที่ตนซื้อมากันทั้งนั้น มีเพียงส่วนน้อยครับ ที่เข้ามาลงทุนระยะยาว เพื่อหวังเพียงเงินปันผล

ดังนั้น หากท่านตกลงปลงใจแล้วว่าจะเข้ามาหากำไรจากส่วนต่างราคา ก็เชื่อว่า หนังสือที่ท่านถืออยู่นี้ จะช่วยปรับปรุงการเทรดของท่านให้ดีขึ้นได้แน่นอน

นี่ ไม่ได้หมายถึง เราสนับสนุนหุ้นปั่นนะครับ แต่ต่างชาติหรือกองทุน หรือ เราๆท่านๆ ซื้อหุ้นก็หวังกำไรกันทั้งนั้น

เก็งว่า รายได้จะเป็นไปตามเป้า เก็งว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้น เก็งว่าต้นทุนน่าจะลดลง เก็งว่าน่าจะได้งานประมูลโครงการใหญ่เข้ามา เก็งว่าต่างชาติจะมาร่วมทุน เก็งว่าราคาขายน่าจะปรับตัวดีขึ้น

ถ้าไม่เก็งกำไร แล้วหุ้นขนาดใหญ่ ราคาตัวละ 100 หรือ 200 บาท จะวิ่งขึ้นไปได้ยังไง วันละ 5% หรือ 8% ทั้งๆที่ ยังไม่รู้เลยว่า รายได้ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ผลประกอบการปลายปีจะดีขึ้นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งราคาขาย ก็ประเมินยากว่าจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต เพราะราคาของผลิตภัณฑ์บางอย่าง มันแปรไปตามตลาดโลกเป็นหลัก

มันก็เก็งกำไรกันทั้งนั้นแหละ

เพียงแต่หุ้นตัวไหนที่นักวิเคราะห์อธิบายได้ว่ามันขึ้นเพราะอะไร ก็จะเรียกว่าหุ้นพื้นฐานดี หุ้นตัวไหนหาเหตุมาใส่ผลไม่ได้ ก็จะเรียกว่า หุ้นปั่น

แล้วการที่หุ้นขนาดใหญ่ มีแรงซื้อเข้ามามาก ออกอาการวิ่งขึ้นพรวดๆ ซึ่งเกิดจากการใช้เงินกวาดซื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงภายในวันเดียว ไม่เรียกว่าปั่นหรือครับ ไม่เรียกว่าเก็งกำไรหรือครับ หรือ ปัจจัยพื้นฐานของกิจการสามารถดีวันดีคืนทันตาเห็นภายในเวลาแค่วันเดียว

การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน ก็มีรากฐานแก่นแท้ มาจากการเก็งกำไรเหมือนกัน เพียงแต่เรียกให้ดูดีในคำที่แตกต่างกันไป เช่น เรา Estimate ว่า, เรา Forecast ว่า, เรา project ว่า, เรา think ว่า, เรา evaluate ว่า, เรา calculate ว่า, เรา appraise ว่า, เรา compute ว่า ……

จริงๆแล้ว ก็คือ เรา Guess ว่า … นั่นเอง เพราะโลกของความเป็นจริง ใครจะมาทำนายทายได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าเป็นปีๆ เพียงแต่การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน มันดีกว่าการเดาสุ่มแทงสูงต่ำ เพราะเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานที่มีหลักมีเกณฑ์

เห็นบางทีให้ ราคาเป้าหมาย 12 เดือน เท่านั้นเท่านี้ พอหุ้นร่วงลงมา “เรายังคงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงอีก นักวิเคราะห์ก็มาบอกอีก “เรายังคงคำแนะนำให้ซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงสุดๆ นักวิเคราะห์ก็เปลี่ยนคำแนะนำ “อ้อ โทษที เราปรับประมาณการรายได้ลงมาแล้ว เราแนะนำขาย ปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ xxx บาท” แป่ววววววว! นี่ก็แสดงว่า เก็งกำไรผิดแล้วนะซิ

ในเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเกี่ยงไปทำไมครับว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐาน หุ้นตัวไหนเก็งกำไร

ก็ตัวไหนมันจะวิ่งขึ้น เราก็ซื้อตัวนั้น ไม่ดีกว่าหรือครับ

อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้น

ผมไปเจอคุณอาคนนึงในห้องค้า แกบอกว่า แกไม่เชื่อใครทั้งนั้น แกวิเคราะห์เอง ว่าแล้ว แกก็วางฟอร์มว่ามีคามรู้ ขอข้อมูลมหาศาลจากทางโบรกเกอร์ เพื่อมาวิเคราะห์หุ้น กว่าท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคาหุ้นก็ไปไหนต่อไหนแล้วครับ

ถ้าท่านอยากประสพความสำเร็จ อย่าทำเป็นเก่งมาวิเคราะห์หุ้นเอง นอกเสียจากท่านจะมั่นใจว่า ท่านมีความสามารถในการวิเคราะห์บริษัทนั้นๆได้ดีกว่าต่างชาติ กองทุน รายใหญ่ และนักวิเคราะห์

ขนาดกองทุนต่างชาติ ยังต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาประจำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเลย แล้วท่านจะเก่งขนาดไหนครับ ถึงจะสามารถประมาณภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ราคาน้ำมัน ในอนาคต ได้แม่นยำกว่าเขา

ถ้าท่านบอกว่า ท่านวิเคราะห์กิจการเป็น คำถามคือ ท่านสามารถประมาณการความต้องการสินค้า และ อัตราการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมนั้นๆได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า ท่านสามารถประมาณการจำนวนยอดขายและราคาขายในอนาคตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า

ท่านสามารถประมาณการต้นทุนการผลิตในสินค้าแต่ละประเภท ในทุกๆองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า และ ท่านยังคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารได้แม่นยำกว่าเขาอีกด้วยหรือเปล่า

และกว่าที่ท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคามันไม่ไปไหนต่อไหนแล้วหรือครับ

ก่อนกองทุนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศก็ตาม จะใส่เม็ดเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เป็นพันล้าน หรือ หลายพันล้าน เขาไม่ใช่ไร้สตินะครับ เขาวิเคราะห์ดีกว่าเรา เขามีทีมงาน ข้อมูล และเครื่องมือ ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าเรา และถ้าเขาวิเคราะห์ผิด กองทุนเขาเสียหายมากกว่าเราเยอะ

รายใหญ่ หรือ เจ้าของกิจการ ก็เช่นกันครับ ก่อนที่เขาจะอัดฉีดเม็ดเงินหลายร้อยล้านเข้าไปในหุ้นเก็งกำไร เขาต้องเช็คกราฟ เช็คข้อมูลภายใน จนเป็นที่แน่นอนแล้ว หรืออาจขอให้นักวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาให้เสร็จสรรพแล้ว เขาถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามา

ก็ในเมื่อมันเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจะไม่เกาะติดรายใหญ่ที่เขาทำการบ้านมาดี เกาะติดเม็ดเงินเขาไปล่ะครับ จะมาทำเก่ง นั่งวิเคราะห์พื้นฐานกิจการเองอยู่ทำไม ด๊อกเตอร์ทางการเงินเจ๊งมามากต่อมากแล้ว จริงๆนะครับ

ถ้าช่วงนี้ กองทุนต่างชาติเห็นแนวโน้มปิโตรเคมีดี ท่านจะไปดักซื้อกลุ่มธนาคารนั่งรอทำไมล่ะ ถ้าราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่ง แต่ไปซื้อดักรอในหุ้นกลุ่มรับเหมาก็คนละเรื่อง ถ้ารถคันนี้จะออก ท่านกลับไปหาขึ้นรถเมลล์ที่มีที่นั่งว่างอยู่เพียบ แล้วเมื่อไหร่ท่านจะได้ออกจากท่ารถล่ะครับ

ถ้าท่านจะขายซีดี ก็คงต้องดูว่า ช่วงนี้เขาฮิตอะไร ถึงราคาต้นทุนจะแพงหน่อย ก็ดีกว่าเพลงไทยเดิมต้นทุนต่ำ แต่ไม่รู้จะไปขายใคร ใช่ไหมครับ

หุ้นก็เหมือนกัน ดูสักนิดนึงว่าเม็ดเงินทะลักเข้าไปเล่นกลุ่มไหนกันอยู่ ไม่งั้น ตกรถแน่ แล้วยังชอบมาหลอกตัวเองอีกนะ คนเรา ว่าเดี๋ยวมันก็คงจะมา

มีนักลงทุนฟูลไทม์ อยู่ 2 ท่าน ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นความต่าง ท่านแรกเคยเป็นนักวิเคราะห์มือดีของโบรกเกอร์ดังแห่งหนึ่ง รอบรู้สารพัดที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นเซียนหุ้นหลายร้อยล้าน ผู้ชำนาญในการทำกำไร

ท่านแรก ก็อยู่ในตลาดมาพอสมควร โดยเริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิธีการเล่นหุ้นของท่านก็คือ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหน ท่านจะทำการศึกษากิจการของบริษัทมาเป็นอย่างดี แล้วค้นหารายชื่อผู้ถือหุ้น อ่านดูนโยบายบริษัทและนโยบายเงินปันผล แล้วทำการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบแนวโน้ม แล้วทำประมาณการกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน จากนั้นทำการประมาณการกระแสเงินสด เพื่อคำนวณหามูลค่ากิจการ เมื่อได้มูลค่ากิจการแล้ว จึงนำเอาจำนวนหุ้นมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาที่ควรจะเป็นต่อหุ้น

ปรากฏว่า เมื่อท่านได้ราคาที่ควรจะเป็นออกมาแล้ว กลับทำใจซื้อไม่ลงอีก เพราะมีคนลุยซื้อไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนราคาขึ้นไปมาก สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นไปซะแล้ว ท่านเลยต้องเริ่มต้นทำการศึกษาหาหุ้นตัวอื่นแทน

ท่านที่สองคือ เสี่ย ม. ขออภัยที่ต้องพาดพิง …… เสี่ย ม. มีประสบการณ์สูงในตลาด ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ท่านเป็นประเภท “Low profile, High Profit” ไม่โอ้อวด ไม่ขี้โม้ ชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง VIP เล็กๆ แต่เก็บโกยกำไรมหาศาล แปลงตลาดหุ้นเป็นเครื่อง ATM ส่วนตัว วันแล้ววันเล่า …… ในช่วงตลาดดีๆ เทรดไปได้ กว่าพันล้านบาทต่อเดือน

กลยุทธ์หลักของ เสี่ย ม. คือ “ยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อ” ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นกลยุทธ์เดียวกันกับเสี่ยพันล้านทั้งหลายที่เคยเรียนร่วมชั้นกันมา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ย “ย.” หรือ เสี่ย “ป.” ผู้โด่งดัง

แต่ดูเหมือนว่า กลยุทธ์นี้ จะตรงข้ามกันสุดโต่งกับวิธีการเล่นของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น

คนสติปัญญาน้อยๆอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นอีกปัจจัยนึงหรือเปล่า ที่ทำให้ เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นฟูลไทม์อายุ 29 สรุปว่า

“คนเล่นหุ้นเจ๊งมีมากกว่าคนเล่นหุ้นแล้วรวย คนส่วนใหญ่ ชอบเข้าซื้อหุ้นตอนที่เขาเลิกเล่นกันหมดแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่า ซื้อได้ถูกลง”

แต่ที่แน่ๆ เสี่ยทั้งหลายใช้กลยุทธ์นี้กัน ทุกคน ไม่มียกเว้น

เดี๋ยวไปฟังเสี่ย ม. มั่ง แกคิดยังไง ทำไม ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ

“นี่นะคุณ ถ้ายิ่งซื้อยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อยิ่งแพง แปลว่า หุ้นกำลังจะทะยานขึ้น เงินกำลังวิ่งเข้า”

“ก่อนที่เขาจะไล่ซื้อตัวไหนกันมากๆ เขาวิเคราะห์มาหมดแล้ว เราแค่เกาะกระแสเงินเขาไปก็พอ หาให้เจอว่าเงินกำลังวิ่งไปที่ไหน” ความลับของเสี่ยหุ้นที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่อยากรู้ ถูกเปิดเผย

“ถ้าผมซื้อไปแล้วมันลง แล้วยังลงอีกให้ผมได้ซื้ออีกเรื่อยๆนะ ซวยแล้ว คุณรู้ปล่าว ถ้ายิ่งซื้อได้ถูกลง ผมจะหยุดเลย สงสัยเราจะผิดแล้ว แล้วถ้ายังลงมาให้ซื้อได้ถูกลงเรื่อยๆอีก ผมขายทิ้งหมด” เสี่ย ม. เผยกลยุทธ์กล้วยๆที่ฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป

ยิ่งกลัวยิ่งขึ้น ยิ่งกล้ายิ่งลง

ไม่รู้ ว่า เราถูกปลูกฝังมาหรือเปล่าว่าต้องเลือกซื้อหุ้นที่ถูกๆ จริงๆแล้ว หุ้นถูกมีอยู่เต็มตลาดเลยนะครับ ราคาไม่ถึงมูลค่าทางบัญชีมีเพียบเลย แต่ทำไม ถูกยังไงก็ไม่มีใครเอาล่ะครับ

ถ้าจะพูดจาเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องบอกว่า การเล่นหุ้นให้ได้เงิน ต้องเลือกหุ้นตัวที่มี Demand มากกว่า Supply ที่รองรับได้ ณ ขณะนั้น หุ้นแบบนี้แหละ เสี่ย ม. ชอบบบบบ เพราะเล่นแล้วได้ตังค์

แต่ก็แปลก ตอนขึ้นแรกๆ ไม่ยักจะกล้าเข้าซื้อกัน พอมันขึ้นไปมากๆกลับยิ่งเสียดาย

พอมันลงมาได้ไม่นาน เราก็กลับไปมองว่า ถูกกว่าราคาก่อนหน้านี้ตั้งเยอะ ดังนั้น ยิ่งลงเราเลยยิ่งซื้อกัน เพราะหวังว่า เดี๋ยวมันจะวิ่งกลับขึ้นไปที่เก่า โดยหารู้ไม่ว่า เผลอๆ เขาจะบ้ายบายตัวนี้กันแล้วด้วยซ้ำ


มาถึงตรงนี้ ก็ยังทำใจยากอยู่ดีกับกลยุทธ์ยิ่งขึ้นยิ่งซื้อ ใช่ไหมครับ

“แล้วถ้าไปซื้อหุ้นตอนราคายิ่งขึ้น มันไม่ยิ่งเสี่ยงหรอกหรือ” ท่านถามผมในใจอยู่แน่เลย บังเอิญผมได้ยินครับ เลยขออนุญาตตอบนอกใจดีกว่า

เมื่อท่านเห็นหุ้นกำลังวิ่งหน้าตั้งขึ้นไป ท่านอาจต้องเช็คราคา เช็คกราฟหน่อยแล้วล่ะครับ

หากหุ้นตัวนั้น เพิ่งฟื้นจากจุดต่ำสุดของราคาขึ้นมาเป็นวันแรกๆ และ ผ่านแนวต้าน เก่าขึ้นมาได้พร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น อย่างนี้ แปลว่า ของจริงครับ “เจ้าเข้าแล้ว” แบบนี้ ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อครับ

อยากให้เห็นภาพประกอบหน่อยนึง ขอสมมุติเป็นตัวเลขแล้วกันครับ

หุ้นตัวหนึ่ง พื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี แถมเป็นผู้ผูกขาดในอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ แต่การส่งมอบงานที่ล่าช้า ทำให้ผลกำไรที่ผ่านมา ลดลง ราคาหุ้นก็เลยร่วงลงมาโดยตลอด จาก 3 บาท มาเหลือเพียง 2 บาทเท่านั้น

ราคาลงมาถูกแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะลงอีกไหม

สมมุติแล้วกันครับ ว่าผมรู้แน่ๆ ว่าราคาไม่ลงไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ผมก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า ราคามันจะขึ้นเมื่อไหร่ ขืนไปซื้อดักไว้ เพียงเพราะว่า มันถูกและปัจจัยพื้นฐานดี เงินทุนของผมอาจจมไปนาน

ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ผมแอบชำเลืองสายตา จ้องมองหุ้นตัวนี้มาโดยตลอดครับ แต่มันไม่เคยแคร์ความรู้สึกผมเลย

ในปลายเดือนที่ 6 ราคาหุ้นค่อยๆฟื้นตัวขึ้นจาก 2.08-2.10 บาท ขึ้นมาชนแถว 2.20 บาทบวกลบ แล้วก็ร่วงลงอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ทุกครั้งที่พยายามขึ้นมา โวลุ่มเทรดน้อยเกินไป แต่เอาเถอะ อย่างน้อย มันก็พยายามตะเกียกตะกายขึ้น โดยไม่กลับไปที่จุดต่ำสุดเดิมอีก

หุ้นแบบนี้ เริ่มน่าสนแล้วครับ หุ้นที่ยกจุดต่ำสุดขึ้นมาเรื่อยๆ ขาดแต่เพียงโวลุ่มที่มากพอเท่านั้นเอง แบบนี้ ยังต้องติดตามมองมันต่อไป

แล้วต้นเดือนที่ 7 วันแห่งการรอคอยก็มาถึง เช้าวันนั้น โวลุ่มทะลักเข้ามามากมาย หลังตลาดหุ้นเปิดได้ไม่นาน แนวต้านแถว 2.20 บาทบวกลบ สามารถผ่านขึ้นไปได้อย่างง่ายดาย พร้อมด้วยโวลุ่มที่ยืนยันการกลับมาของ “เขา” โดยไม่มีทีท่าว่าจะร่วงลงมาต่ำกว่า 2.20 บาทบวกลบอีกเลย

แบบนี้ ต้องลุย!

คนส่วนใหญ่ อาจรู้สึกว่า มันขึ้นมามากแล้ว เพราะมันขึ้นมาตั้งแต่จาก 2 บาท กว่าๆแน๊ะ

คนส่วนใหญ่ อาจต่อรองราคา ตั้งซื้อที่ 2.14 บาท หรือ 2.16 บาท ซึ่งถ้าได้จริง ท่านแย่แน่ แสดงว่า ท่านจะต้องเงินจมต่อไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะถ้าท่านซื้อได้ที่ราคานั้น แสดงว่า มันหลุดแนวรับลงมาแล้ว

สำหรับผม ผมเคาะซื้อทันทีที่มันผ่านด่านเดิมแถว 2.20 บาท ไปได้ครับ และตามซื้ออีก ที่ 2.30 และ 2.34 บาท ซึ่งแต่ละครั้งที่เคาะซื้อ เป็นราคาสูงสุดของวันตลอดเลย เพราะหลังจากเช็คดูแล้ว แนวต้านถัดไป ยังยาวไกลอีกมาก

ส่วนท่านที่รอซื้อที่จุดต่ำสุดของปี แถว 2 บาทต้นๆ หรือ รอซื้อที่ 2.14 บาท หรือ 2.16 บาท ก็จะยิ่งไม่กล้าซื้อเข้าไปใหญ่ เพราะวันนั้น หุ้นตัวนี้ปิดที่ 2.38 บาท และมีแนวโน้มจะวิ่งตรงไปสู่ 2.70 ในเวลาไม่นานด้วย

หากท่านเห็นหุ้นวิ่ง ถ้าท่านซื้อไล่ราคา โดยไม่ได้เช็คอะไรเลย ท่านอาจจะเข้าซื้อที่แนวต้านก็ได้ ใช่ไหมครับ อย่างนี้ เรียกว่า แมงเม่า บินเข้ากองไฟ หุ้นตัวไหนกระดิก วิ่งตามเข้าไป ก็ติดแหง็ก

แต่หากท่านเห็นแล้วว่า ราคาที่วิ่งขึ้นไป ยังไม่ผ่านแนวต้านอยู่ดี ท่านก็จะไม่เข้าซื้อ และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่มันผ่านด่านหินไปได้ด้วยเม็ดเงินมหาศาล แบบนี้ ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อครับ ความร่ำรวยจะเกิดกับท่าน ชั่วข้ามคืน ไม่จำเป็นต้องไปดักซื้อดักเก็บล่วงหน้า 5-6 เดือน

ก่อนจะเข้าซื้อหุ้นตัวไหน ตามกลิ่นเม็ดเงินให้เจอซะหน่อยดีไหมครับ ว่าเม็ดเงินในตลาด กำลังวิ่งไปที่ไหน

www.ThaiDayTrade.com

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน