Wednesday, September 30, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 10 : กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ

“หุ้นเก็งกำไรทุกวันนี้ คุณอย่าคิดว่าหมูนะ เขาไม่ลากยาวให้พวกคุณมากินเงินเขาฟรีๆหรอก ถ้าคุณจะเก็งกำไร คุณต้องใช้ "ทฤษฎีปิงปอง" คุณท่องไว้ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ" "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ” ……… เซียนหุ้นร้อยล้านท่านหนึ่งเผยเคล็ดลับ ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ให้ฟัง

ทำไม เซียนหุ้นท่านนี้ ถึงระบุว่า ในอดีต หากเราซื้อหุ้นตัวไหนแล้วมันวิ่ง เราถือยาวได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ ขึ้นมาต้องขาย แล้วค่อยรอรับใหม่ด้านล่าง เดี๋ยวไปดูกลวิธีของรายใหญ่พร้อมๆกันครับ

ทุกวันนี้ เขาพัฒนาแล้วครับ เขาใช้ทีมงาน เขาเอาเทรดเดอร์ ที่เก่งกราฟและเก่งจิตวิทยาการลงทุน มาทำหน้าที่แทน และทำแบบทีมพันธมิตร ไม่ใช่หุ้นใครหุ้นมันเหมือนก่อน

หมดยุคเถ้าแก่ ใช้แต่กำลังเงิน แล้วครับ เพราะวิธีลากยาวแบบเก่า มันใช้เงินเยอะ ไม่มีประสิทธิภาพ เลยต้องเอาเซียนกราฟมาสร้างกราฟหลอกล่อ ให้เราซื้อ ให้เราถือ ให้เราขาย ให้เรากระทำไปในทิศทาง ที่เขาต้องการให้เราเป็น เพื่อประสิทธิภาพในการใช้กำลังเงิน

ทุกวันนี้ แนวรับแนวต้าน ใครๆก็รู้พอๆกัน แต่โวลุ่มเทรดนี่สิ จะเป็นตัวยืนยันว่าขึ้นจริงหรือลงจริง หรือไม่

กรณี ราคาขึ้น และมีโวลุ่มเข้า จะยิ่งเป็นการยืนยันการขึ้น แบบนี้ต้องซื้อ

ถ้าโวลุ่มเข้า แต่ราคานิ่งนานเกินไป ต้องหยุดดูทีท่าก่อนล่ะ อย่าไปเคาะขวาซื้อเพลิน เพราะอาจอยู่ระหว่างการรินขายเติมขายไม่หยุดหย่อนก็ได้

แต่ถ้าราคาไหลลง พร้อมๆกับโวลุ่มเข้ามามาก แบบนี้ ต้องขายหนีตายก่อนล่ะครับ

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ เดี๋ยวคงต้องขยายความสักหน่อย คำว่า โวลุ่มเข้า ไม่ได้หมายถึง การดูว่า วันนี้ซื้อไปแล้วเท่าไหร่ ขายไปแล้วเท่าไหร่นะครับ ขืนไปดูว่าวันนี้ มีเคาะซื้อหรือเคาะขาย มากกว่ากัน โดนหลอกเละเทะแน่

คำว่า โวลุ่มเข้า ในที่นี้ หมายถึง โวลุ่มเทรดรวม เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 3 หรือ 5 วันทำการย้อนหลัง นะครับ

ถ้าโวลุ่มไม่เข้า แปลว่า เขายังไม่มา มีแต่พวกเราโซ้ยกันเอง

ดังนั้น หากเราเห็นราคาหุ้นขยับขึ้น แต่เทรดกันไปเพียง 2 แสนหุ้น ก็ให้คิดไว้เหอะว่า เราๆท่านๆนะแหละ ไล่ซื้อกันเอง อย่างนี้ ไปไม่ได้กี่น้ำหรอกครับ

เอาล่ะ เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “โวลุ่มเข้า” ตรงกันแล้ว เราจะเข้าเรื่องต่อ

ในเมื่อทุกวันนี้ เขาใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ดังนั้น เราก็ควรจะเทรดไปตามแนวโน้มที่มันกำลังจะไปด้วยเช่นกัน ใช่ไหมครับ ต่อให้กราฟออกมาสวยสดงดงามขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราถือหุ้นเพลิน ในขณะที่เขากำลังขายกัน มันจะเจ็บหนักได้ในภายหลัง กว่าจะรู้ตัวก็ขาดทุนไปมากเชียว

ดังนั้น เมื่อกราฟยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และทุกแนวต้านที่มันกำลังวิ่งไปทดสอบ เราอาจต้องเพิ่มความสังเกตนิดนึง ว่าเขารินขาย หรือ แอบเก็บ

สังเกตเพิ่มอีกนิดว่า เขาซื้อ 3 ส่วน แล้วตบขู่ด้วยการขาย 1ส่วน หรือ เขาซื้อ 1ส่วน เพื่อหลอกขายไอ้ที่วางไว้ 3 ส่วน

ช่วยสังเกตเพิ่มนิดนึงนะครับว่า ราคาและปริมาณเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่


แล้วทำไมถึงต้องใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ล่ะครับ

ก็ราคาหุ้นมันเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปมากนะซิครับ หากวันนี้ เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ขาย คนอื่นก็ต้องขายใส่อยู่ดี

ดังนั้น การวางแผนการขายจึงเริ่มขึ้น

ขั้นแรก ก็ต้องทำการสะสมหุ้นก่อน ช่วงนี้ ใช้เวลาเป็นไตรมาสนะครับ กว่าจะผูกขาดอำนาจการควบคุมหุ้นของตนมาไว้ในมือได้

หลังจากสะสมหุ้นไว้ในมือของกลุ่มและพรรคพวกมากพอแล้ว ก็จะมีการลากกระชากราคา เรียกร้องความสนใจ ช่วงนี้ โวลุ่มเข้า ราคาขึ้น กราฟสวย นักวิเคราะห์เชียร์ นักลงทุนเริ่มหันมามอง

ขั้นต่อมา จะเริ่มมีการใช้พอร์ตของเจ้าของซื้อหุ้นขึ้นไปต่อเนื่อง เพื่อให้ใครต่อใครรับรู้กันว่า ขนาดเจ้าของยังซื้อเก็บต่อเนื่องเลย มาร์เก็ตติ้งที่อ่อนหัดก็อาจจะเที่ยวไปบอกลูกค้ารายอื่นๆของตนให้ซื้อตาม เพราะเห็นว่าเจ้าของเข้าเก็บ น่าจะมีข่าวดีอะไรบางอย่างในเร็วๆนี้

เมื่อนักวิเคราะห์เชียร์ มาร์เก็ตติ้งเชียร์ โวลุ่มก็เข้า ราคาก็ขึ้น กราฟก็สวย นักลงทุนจะเข้ามาเคาะซื้อบ้าง ตั้งรอซื้อบ้าง กระบวนการหลอกขายของก็เริ่มต้น

บัญชีของเจ้าของอาจจะมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่รอซื้ออยู่ให้รีบเคาะซื้อแต่โดยไว แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกกำลังวางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์ถึง 3 ส่วน

และเมื่อหุ้นที่วางขายอยู่มีคนเคาะซื้อขึ้นไปจนหมด ก็จะเริ่มเติมให้อีก

หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก ไม่รู้จบ

นี่ไงครับ โวลุ่มเข้า แต่ราคากลับแน่นิ่ง ไม่สอดคล้องกับโวลุ่มที่เข้ามาเลย

ในเมื่อคนเคาะซื้อเริ่มเหนื่อยใจ เคาะเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที คนส่วนใหญ่จะเริ่มลังเลที่จะเคาะซื้อแล้วครับ มาวางซื้อที่ฝั่งบิดบ้าง วางซื้อต่ำลงมา 2 ช่องบ้าง 3 ช่องบ้าง

ก่อนที่ไก่จะตื่น ต้องรีบกระทำการใช่ไหมครับ …… ในเมื่อคนเริ่มรู้ทันแล้ว เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะรีรอทำไม เดี๋ยวเขาถอนบิดออกหมดเกลี้ยง จะขายไม่ได้ราคา ….. อย่ากระนั้นเลย ขายทิ้งลงมาเลยยังได้ราคาดีกว่า ขายตอนนี้มีคนมาตั้งรอซื้ออยู่ตั้งเยอะ

แล้วกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ก็ดำเนินไปตามแผน

ขายลงมาทันที ได้ราคาดีซะด้วย เพราะไล่ราคาขึ้นไปก่อนแล้ว พอราคาลงไปมาก ก็หยุดการขาย เดี๋ยวก็จะมีคนที่อยากได้ของถูกมาตั้งรอซื้ออีก เดี๋ยวก็มีนักเก็งกำไรมาเคาะซื้ออีก …… และเพื่อเรียกความมั่นใจ ต้องมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกก็วางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์เช่นกันถึง 3 ส่วน เพื่อบีบให้นักเก็งกำไร บีบให้สิงห์เดย์เทรดเคาะขวา

นี่เป็นอีกกลวิธีในการหาเงินขาลงครับ

กลต. ก็เฝ้าแต่จับหุ้นวิ่งขึ้นอยู่ได้ ไม่ยอมมาจับพวกทุบหุ้นบ้าง ความจริงแล้ว ขาลงก็ทำเงินได้ดีเช่นกัน ได้เงินเร็วกกว่าด้วยซ้ำ และสัดส่วนในการถือครองหุ้นในบริษัทก็ไม่ได้สูญเสียลงไปแต่อย่างใด

เดี๋ยวสมมุติเหตุการณ์ให้ดู ว่าขาลง เขาได้เงินยังไง

หุ้นตัวหนึ่ง มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น มันไม่เท่าไหร่หรอก เขาอาจจะค่อยๆสะสม กวาดซื้อหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ วันละเล็กวันละน้อย โดยไม่มีใครมาสนใจ

ไตรมาสหนึ่งผ่านไป ไวเหมือนโกหก ราคาหุ้นขยับขึ้นจาก 5 บาท ไป 11 บาทกว่าๆ เจ้าของบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็รู้ครับว่าแพงเกินจริงไปมากแล้ว ต้องทำกำไรแล้วล่ะ

สมมุติว่ารายใหญ่ตัดสินใจที่จะเริ่มกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ที่ราคา 11 บาท สมมุติตัวเลขน้อยๆพอ สมมุติขายมาแค่ 100 หุ้น ก็จะได้เงินค่าขายกลับคืนมา 1,100 บาท

พอตกลงมา ที่ 8 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 800 บาท ยังเหลือเงินเข้าบัญชีอีก 300 บาท ใช่ไหมครับ

พอหุ้นขึ้นไป 9 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 900 บาท

พอตกลงมา ที่ 6 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 600 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 300 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 7 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 700 บาท

พอตกลงมา ที่ 5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 500 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 6 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 600 บาท

พอตกลงมา ที่ 4 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 400 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 500 บาท

พอตกลงมา ที่ 3 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 300 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 4 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 400 บาท

พอตกลงมา ที่ 2 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 200 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท

พอหุ้นขึ้นไป 2.5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 250 บาท

พอตกลงมา ที่ 1.5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 150 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 100 บาท

สรุปแล้ว เมื่อสิ้นสุด วงจรอุบาทว์นี้ เจ้าของบริษัทและรายใหญ่ ยังมีหุ้นอยู่ครบ ไม่ได้เสียสัดส่วนการถือครองหุ้นเลย ไม่สูญเสียอำนาจการบริหารกิจการด้วย แถมยังได้เงิน ขาลง มาตลอดทางอีกต่างหาก

เวลาขึ้น จะใช้บัญชีเจ้าของเป็นผู้ซื้อขึ้นครับ แต่เวลาขาย เขาไม่ใช้บัญชีตัวเองขายหรอก พวกเราก็ชอบไปดูกันจังว่า เจ้าของบริษัทซื้อหุ้นตัวเองเข้าพอร์ตหรือยัง ขายหุ้นออกมาหรือไม่ มันบอกอะไรไม่ได้หรอกครับ

มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะสงสัย ว่า เวลาหุ้นอ่อนตัวลงมาแล้วเจ้าของซื้อกลับขึ้นไป ทำไมไม่เอามาคิดคำนวณด้วย อยากจะบอกว่า การซื้อขึ้นไปหาราคาที่ต้องการจะขาย ไม่มีต้นทุนครับ เพราะไอ้ที่เคาะขวาซื้อๆขึ้นไป ในแต่ละรอบ ก่อนทำการขายจริง มันก็ของเขาทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะใช้ชื่อบัญชีไหนวางขายเท่านั้นเอง

ดังนั้น หากท่านเห็นว่าหุ้นหยุดนิ่งอยู่ที่แนวต้าน แม้จะมีโวลุ่มเข้ามาตลอด แต่ราคาก็ตื้อๆ ไม่สามารถขยับขึ้นต่อไปได้ และเมื่อราคานั้นใกล้หมด ก็มีคนเติมขายอีก ท่านรู้แล้วใช่ไหมครับว่าควรทำอย่างไรดี..?

www.ThaiDayTrade.com

Tuesday, September 29, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 9 : ย้อนรอย วัฏจักรตลาดหุ้น

ก่อนที่เราจะไปดูกลลวงเจ้ามือ กลเม็ดรายใหญ่ในตอนต่อจากนี้ไป เรามาเริ่มย้อนรอย ตามดูวัฎจักรของตลาดหุ้นกันก่อน ดีกว่าครับ ว่าแต่ละช่วง ตลาดมีอาการอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพว่าในแต่ละรอบ ผู้เล่นแต่ละกลุ่มเขาทำอะไรกันบ้าง

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด

อาการของตลาดในช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด สังเกตได้ไม่ยากครับ เพราะเป็นช่วงที่ตลาดคึกเป็นม้าดีดกะโหลก ราคาหุ้นปรับขึ้นแบบเว่อร์แล้วยังมีเว่อร์อีก สื่อฯและนักวิเคราะห์เชียร์ซื้อหุ้นสุดลิ่มทิ่มประตู หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ ต่างพากันคึกคักถ้วนหน้าจากปริมาณการซื้อขายล้นทะลัก สายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งก็ไม่เคยว่าง ผู้คนคึกคักและต่างพากันยิ้มแย้มเต็มห้องค้าฯ

หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดจะแสดงอาการประหลาดๆให้เห็น เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าจะปรับฐานแล้วนะ

ช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายต่อวันยังมากอยู่ครับ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความหวัง แต่ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาด ชักจะเริ่มไม่ขยับแล้ว อาจจะมีอาการแตะจุดสูงสุดเดิมซ้ำๆแต่ไม่ผ่านซะทีให้เห็น แล้ว วันต่อๆมา จุดสูงสุดของดัชนีก็ค่อยๆต่ำลง พร้อมๆกับจุดต่ำสุดของดัชนีก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ค่อยๆหดหาย จำนวนสถานะคงค้างในตลาดฟิวเจอร์ก็เริ่มหดตัว พร้อมทั้งราคาอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ที่เริ่มปรับลง

มือใหม่ ที่อดทนรอ ไม่กล้าซื้อหุ้นในตอนแรก เพราะมัวแต่รอให้หุ้นราคาถูกก่อน เริ่มตัดสินใจซื้อหุ้นในช่วงนี้แหละครับ เพราะกลัวตกรถ …… หลังจากรอคอยมานานแสนนาน แต่หุ้นก็วิ่งหนีขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อหุ้นหยุดรอ หรือ อ่อนตัวลงมาให้ซื้อ มือใหม่จึงตัดสินใจซื้อหุ้นทันที ด้วยความคิดว่า หุ้นคงจะไม่ลงแล้วล่ะ

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็เห็นใจมือใหม่ครับ เริ่มขนหุ้นของตนมาวางขายทีละเล็กทีละน้อยแบบเงียบๆ พอปริมาณหุ้นที่วางขายมีคนมาซื้อจนหมดไป เขาก็จะขนหุ้นออกมาเติมขาย ให้มือใหม่ได้ซื้อหุ้นมากเท่าที่ใจจะไขว่คว้า

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ ก็เห็นใจมือใหม่ที่สนใจหุ้นพื้นฐานดีเช่นกัน เริ่มขนหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ในพอร์ตของตน มาวางขายทีละเล็กทีละน้อยแบบเงียบๆ พอปริมาณหุ้นที่วางขายใกล้หมด กองทุนก็จะพากันขนหุ้นมาเติมขายให้อีก

นักเก็งกำไร จะเร่งขายหุ้น และ ทยอยปิดสถานะ “Long” เพื่อทำกำไรใน SET50 Index Futures ก็ช่วงนี้แหละครับ ปริมาณการซื้อขายและจำนวนของสถานะในตลาดฟิวเจอร์จึงลดลงเรื่อยๆ พร้อมด้วยราคาที่ค่อยๆถดถอยลงมา

นักลงทุนระยะยาว ยังสงบนิ่ง สุขุม ท่องคาถา “หุ้นเรา พื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง”

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงขาลง

หลังจากที่ผ่านช่วงตลาดกระทิงแล้ว อาการของตลาดหมีก็เริ่มปรากฏ

ความคึกคักในตลาดเริ่มลดต่ำลง ดัชนีและราคาหุ้นปรับลงแล้วปรับลงอีกในแต่ละวัน นักวิเคราะห์ยังคงเชียร์ซื้อหุ้น “ราคาหุ้นปรับตัวลงมาถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ”

อาการของช่วงขาลง สังเกตได้ไม่ยากครับ หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์จะร่วงลงอย่างรวดเร็ว สายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งยังไม่ว่าง เพราะลูกค้าจะชอบโทรมาถามว่า “มีข่าวอะไรไม๊ ทำไมหุ้นลง”, “รับที่ราคาเท่าไหร่ดี ราคามันถูกแล้วจะซื้อถัวเฉลี่ย” ฯลฯ แน๊ะ หุ้นเป็นขาลงแล้ว ยังจะซื้อถมเข้าไปอีก

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์กลับมาเพิ่มขึ้นมาก พร้อมๆกับมีการเปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ส่วนระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ทรุดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

มือใหม่ ยังมีความหวัง จำราคาเป้าหมายได้แม่น ดังนั้น หุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ยิ่งร่วงลงมา เลยยิ่งเข้าซื้อ หวังถัวเฉลี่ยต้นทุน ….. ส่วนมือใหม่ที่ยังไม่ได้ซื้อในรอบที่รุ่งโรจน์ถึงขีดสุด บังเอิญดันไปเปิดทีวี เจอนักวิเคราะห์พูดอยู่พอดี “ราคาหุ้นปรับตัวลงมาถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ” ก็จะตัดสินใจเข้าซื้อตอนนี้ล่ะ พร้อมทั้งดีใจอีกต่างหากที่ได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่าคราวที่แล้ว

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นเยอะกว่าเพื่อน และยังไม่ได้ขายอีกตั้งหลายสิบล้านหุ้น เมื่อราคาเริ่มยืนไม่ได้แล้ว ก็ต้องเผ่นหนีตายก่อนเหมือนกันล่ะ ว่าแล้วก็โทรไปหามาร์เก็ตติ้ง “คุณ ขายออกไปก่อน 7 ล้านหุ้น” …… นี่แหละครับ หนีตายของจริง ขายให้ครบ ไม่กำหนดราคา ถึงมิน่าล่ะ บางช่วง หุ้นลงดิ่งมาอย่างเร็ว จนขายกันไม่ค่อยจะทันเลย

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ ก็มีหุ้นเยอะมากไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะเนี่ยะ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับสไตลล์ และ นโยบายบริหาร ของแต่ละกองทุนแล้วล่ะครับ ว่าจะงัดกลยุทธ์ไหนขึ้นมาใช้ บางกองทุนที่อนุรักษ์นิยมหน่อย ก็อาจจะเก็บหุ้นไว้ดูเล่น แล้วบริหารความเสี่ยงของพอร์ต ด้วยการ Long Put ใน อินเด็กซ์ออพชั่น หรือ เข้า Short ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์

ส่วนกองทุนไหนที่มีสไตลล์การเล่นรุนแรงในเชิงรุก เขาอาจจะขนหุ้นในพอร์ตออกมาขายก่อนก็ได้ แล้วค่อยซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่า กลับคืนมาในภายหลัง โดยเฉพาะกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ด้วยแล้ว อาจจะเพิ่มความกร้าวด้วยการทำธุรกรรม Short Sell โดยยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขายซ้ำ พร้อมๆกับ Short ใน ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ เพิ่มเข้าไปอีก เพื่อทำกำไรในช่วงตลาดขาลง อย่างเป็นกอบเป็นกำ

นักเก็งกำไรก็ไม่รีรอเช่นกัน ในเมื่อตลาดเป็นขาลงแน่ๆ จะรอซื้อหุ้นทำไมให้ป่วยการ ว่าแล้วก็เปิด Short ใน ใน อินเด็กซ์ฟิวเจอร์ อย่างเร่งรีบ ช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ จึงเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน

นักลงทุนระยะยาว ยังคงสงบนิ่งครับ รอจังหวะซื้อของดีที่ใครต่อใครมาขายลดราคาให้

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงผีหลอก

หลังจากที่ตลาดร่วงรุนแรง ใครๆก็ทราบดีแล้วว่าหุ้นเป็นขาลง นักวิเคราะห์ก็จะออกมาแนะนำขาย “หุ้นตัวนี้ มันไม่ดี อย่างงี้อย่างงั้น เราแนะนำขาย“

หลังจากนั้นมา ตลาดหุ้นก็ไปไม่รอด เพราะคนที่ซื้อไว้ตลอดทาง เริ่มรับรู้แล้วว่า นี่เป็นขาลง ประกอบกับนักวิเคราะห์ ลดราคาเป้าหมายลงมามากด้วย จนไม่มีใครกล้าถือหุ้นแล้วล่ะ ดังนั้น ถ้าตลาดเด้งสลับขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นอันต้องเจอแรงขายใส่ ทุกทีไป

ตอนนี้ ถึงราคาหุ้นจะทรุดลงต่ำ จนเตี้ยติดดิน ก็ไม่มีใครกล้าซื้อแล้วครับ ส่วนคนจะขายก็ทำใจขายไม่ได้แล้ว เพราะมันลงมาลึกจนกว่าจะทำใจขายได้ ช่วงนี้ ตลาดจึงวังเวง ความเงียบเหงาก็เข้ามาเยือน มีเสียงหมีนอนกรนให้ได้ยินเป็นระยะๆ ผู้คนในห้องค้าหดหาย ปริมาณการซื้อขายบางเฉียบ หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ตายเรียบ มาร์เก็ตติ้งนั่งหาวบ้าง นั่งหลับบ้าง ลากิจ ลาป่วยบ้าง ตามแต่จะอ้าง ตลาดช่วงนี้สังเกตได้ง่ายใหญ่ ถ้าท่านโทรไปหามาร์เก็ตติ้งของท่านทีไร ก็โทรติดง่ายแสนง่าย แถมได้คุยด้วยนานๆทุกทีไป ก็แสดงว่า ตลาดกำลังอยู่ในช่วงผีหลอกแล้วล่ะครับ

ในช่วงนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์หดหาย สถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ก็ลดลงอย่างมากมาย ส่วนระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็เริ่มนิ่งๆแล้วเช่นกัน

มือใหม่ เริ่มหมดหวัง แถมเงินก็หมดแล้วอีกต่างหาก เพราะทยอยซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนมาตลอดทาง ตอนนี้ราคาหุ้นถูกกว่าเก่าตั้งเยอะด้วย แต่ไม่มีเงินซื้อแล้วล่ะ ถึงมีเงินซื้อ ก็ไม่อยากจะซื้อแล้ว พร้อมกับนั่งเฝ้าหน้าจอ รอวันเวลา ให้หุ้นในพอร์ตตนกลับขึ้นมาถึงต้นทุนซักที

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่ เห็นว่าแรงขายเริ่มหมด ราคาหุ้นเริ่มนิ่ง ต่างก็เข้ามาตั้งรับ ทยอยซื้อคืนหุ้นของตน ที่ขายทิ้งลงมาก่อนหน้านั้น

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เริ่มทยอยปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ กองทุนไหนที่เคยขายหุ้นลงมาก่อนหน้านั้น ก็ใช้จังหวะนี้เข้าทยอยซื้อหุ้นคืน ส่วนกองทุนที่ไปยืมหุ้นของโบรกเกอร์มาขาย ก็เริ่มซื้อคืนหุ้นไปส่งมอบคืนเจ้าของ

นักเก็งกำไร ก็ใช้โอกาสนี้ เข้าปิดสถานะในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ เช่นกัน

นักลงทุนระยะยาวเริ่มเล็งเห็นแล้วครับ ว่าขณะนี้ หุ้นในดวงใจของตน ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นเกินเหตุแล้ว เขาจึงใช้โอกาสนี้แหละครับ กวาดซื้อหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ราวกับเป็นช่วงโปรโมชั่น ลดกระหน่ำวังเวงแกรนด์เซลล์

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงสะสม

อาการของตลาดในช่วงสะสมครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากที่เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมทั้งบรรดากองทุน และ นักลงทุนระยะยาว เริ่มเข้าเก็บหุ้นกัน หลังจากที่เห็นแล้วว่า ณ ราคานี้ ไม่มีใครอยากขายแล้ว ณ ตรงนี้แรงขายหมดแล้ว

เมื่อราคาและดัชนีหยุดไหลลงได้ ก็ถึงคราวที่มูลค่ากิจการ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ต่ำเตี้ยติดดิน ควรจะฟื้นคืนสู่มูลค่าที่แท้จริงของมันได้แล้ว ใช่ไหมครับ

ในช่วงนี้ ความมั่นใจยังไม่มากนัก ราคาหุ้นและดัชนีจะเริ่มปรับขึ้นทีละเล็กละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในตลาดฟิวเจอร์ก็ยังคงเงียบอยู่ มีปริมาณการเทรดและการเปิดสถานะใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ส่วนมือใหม่ เลิกดูหุ้น เลิกตามตลาดไปตั้งนานแล้วครับ หวังว่า มาถึงทุนอีกที จะขายให้เกลี้ยงเลย เลิกๆๆจริงๆด้วย

เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เร่งทยอยซื้อคืนหุ้นของตนต่อเนื่อง มีการเคาะขวาซื้อหุ้นทีละช่อง 2 ช่องให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว เพราะเท่าที่เก็บหุ้นของตนคืนในช่วงที่ผ่านมา ยังเก็บคืนได้น้อยมากเมื่อเทียบกับที่ตนขายลงมาในช่วงก่อนหน้านี้

กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เร่งทยอยซื้อหุ้นต่อเนื่องเหมือนกัน มีการเคาะขวาซื้อหุ้นทีละช่อง 2 ช่องให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว เพราะเท่าที่สะสมหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังสะสมได้น้อยมาก

นักเก็งกำไรส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยทำอะไรเป็นพิเศษในช่วงนี้ครับ

นักลงทุนระยะยาว ยังคงตั้งหน้าตั้งตา กวาดซื้อหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ต่อเนื่อง ตราบใดที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงขาขึ้น

ตลาดในช่วงขาขึ้น เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาด หลังจากที่เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และบรรดากองทุน เร่งรีบซื้อหุ้นให้ครบ ตามที่ตั้งใจ

เมื่อต่างคนต่างซื้อ และ ต่างคนต่างก็อยากได้ของถูก อาการของตลาดในช่วงนี้ที่แสดงให้เราเห็น จึงเป็นภาพของการแย่งกันซื้อ ไม่งั้น เดี๋ยวจะได้ของไม่ครบ หรือหากจะซื้อมาให้ได้ครบก็กลัวจะได้ราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากมัวแต่รีรอ

ช่วงนี้ ทั้งตลาดหุ้นและตัวหุ้น เริ่มกลับตัวให้เห็นเด่นชัด ปริมาณการซื้อขายเข้ามามาก ดัชนีขยับขึ้นค่อนข้างเร็ว ราคาหุ้นวิ่งแรงขึ้น กลุ่มหลักทรัพย์เริ่มฟื้นนิดๆ

ตลาดฟิวเจอร์ก็ไม่แพ้กัน ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาก โดยระดับราคาของอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ ก็วิ่งขึ้นนำ เสมือนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภาวะกระทิงกำลังจะกลับเข้ามาแล้ว

มือใหม่ส่วนหนึ่ง ไม่มีนโยบายเติมเงิน นั่งรอจุดคุ้มทุนอย่างเดียว

มือใหม่อีกส่วนหนึ่ง เงินหมดซะแล้ว เพราะซื้อของถูกถัวเฉลี่ยต้นทุนมาตลอดทาง แต่ก็ยังเจอถูกกว่า แบบไม่รู้จบ

ส่วนมือใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง มีเงินนะ แต่ “เดี๋ยวรอให้มันราคาลงมาอีกรอบก่อน แล้วจะซื้อ” ….. หลังจากรอไปสักระยะนึง เห็นหุ้นวิ่งขึ้นไปไกล ไม่กลับลงมาให้ซื้ออีก ก็ปลอบตัวเองไปพลางๆ “เอ มันจะขึ้นจริงๆหรือ ใจเย็นๆน่า เดี๋ยวมันก็คงกลับลงมาให้เราซื้อ” …… หลังจากรอไปอีกสักระยะหนึ่ง เห็นหุ้นวิ่งไปไกลมากๆแล้ว เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ “ไม่ซื้อแล้ว มันขึ้นไปมากแล้ว”

ในระหว่างที่มือใหม่คิดแบบนี้ เราไปดูกันครับ ว่า เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่ กองทุน และนักเก็งกำไร เขาคิดกันยังไง ทำไมกลุ่มหนึ่งชนะตลอด และทำไมอีกกลุ่มหนึ่งถึงเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่ กองทุนไทยและกองทุนต่างชาติ เร่งรีบซื้อหน้าตั้งซิครับ เพราะนี่เป็นขาขึ้นเห็นๆ ต่างพากันแย่งซื้อก่อนที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปมาก ในระหว่างนี้ เราจะเห็นการไล่เคาะซื้อทีละ 3 ช่อง 4 ช่องราคา เพื่อให้ได้หุ้นมาก่อนที่ราคาจะวิ่งไปไกลกว่านี้

นักเก็งกำไร ก็ไม่น้อยหน้า ในเมื่อเป็นขาขึ้นแจ่มใส ทำไมจะไม่แย่งเขาซื้อด้วยล่ะครับ ทั้งซื้อหุ้น ทั้ง เปิดสถานะ Long ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์อย่างเร่งรีบ ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์ และ การเปิดสถานะใหม่ในอินเด็กซ์ฟิวเจอร์ กลับมาคึกคักผิดหูผิดตา

ส่วนนักลงทุนระยะยาว เริ่มเข้าสู่ช่วงเสวยสุข เพราะหุ้นที่ตนซื้อลงทุนไว้เริ่มเติบโตเดินหน้า เข้าหามูลค่าที่ควรจะเป็น

วัฏจักรตลาดหุ้น ช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด

เมื่อทุกคนประจักษ์ชัดว่าเป็นขาขึ้น ความคึกคักก็กลับมาเยือนตลาดอีกหน ทั้งดัชนีตลาดทั้งหุ้นรายตัวต่างก็ทำจุดสูงสุดใหม่กันถ้วนหน้า โดยมีปริมาณการซื้อขายคับคั่งการันตีการขึ้น ระดับราคาตามสัญญาฟิวเจอร์ก็ไม่น้อยหน้า กระดี้กระด้าเฮฮาพร้อมปริมาณการเทรดที่ทะลักเข้ามามหาศาล

นักวิเคราะห์โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ กลับมาเชียร์ซื้อหุ้น พร้อมโม้ซะหน่อย “เราแนะนำซื้อมาอย่างต่อเนื่อง หุ้นปรับตัวขึ้นตามคาด ให้ราคาเป้าหมายเท่าโน้นเท่านี้”

คนกลุ่มอื่นจะเป็นยังไง ก็ช่างเขาเถอะ ห่วงแต่มือใหม่นี่สิครับ ที่เข้าสู่วัฎจักรเดิมๆอีก

ตอนเขาสะสมกัน มือใหม่ก็ไม่มั่นใจ ตอนตลาดฟื้นตัว มือใหม่ก็รอซื้อถูก ตอนตลาดกระทิง มือใหม่ก็บ่นว่ามันขึ้นมามากแล้ว แต่พอตลาดคึกคักสุดขีด นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายขึ้น มือใหม่ก็กลัวตกรถ ในที่สุด ซวยซ้ำซวยซากอีกตามเคย มาซื้อเป็นคนสุดท้ายของตลาดเรื่อยเชียว


ในตอนท้ายของปลายตลาดขาขึ้น ก็จะยังคงเป็นภาพเดิมๆ แหละครับ บ่งบอกถึงอาการส่งสัญญาณหมดรอบ

ดังนั้น ถ้าท่านเห็นหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์คึกคักต่อเนื่อง เห็นสายโทรศัพท์ของมาร์เก็ตติ้งไม่ค่อยว่าง เห็นมือใหม่หน้าใหม่มาเปิดบัญชี เห็นผู้คนกลับเข้ามาคึกคักยิ้มแย้มเต็มห้องค้า เห็นนักวิเคราะห์มาปรับเป้าหมายดัชนีตลาด ท่านคงรู้แล้วนะครับ ว่าช่วงนั้น ท่านต้องพร้อมจะขายทำกำไรทุกเมื่อแล้วล่ะ

www.ThaiDayTrade.com

Monday, September 28, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 8 : ขายหมูดีกว่าขายหมา น้ำลายหกดีกว่าน้ำตาตก

ครั้งแรกที่ได้ยิน เสี่ย “ย.” พูด “วิธีแรกที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น คือ อย่าทำให้ตัวเองขาดทุน” …… ขำกลิ้งเลย ….. บ้าหรอ ใครล่ะ ทำให้ตัวเองขาดทุน ใครๆก็ไม่อยากขาดทุนกันทั้งนั้นแหละ ขำอ่ะ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่นั่งสมองกลวงๆ เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นอายุ 29 มันก็ถามขึ้นมาว่า “พี่ๆ พี่ว่าคนเล่นหุ้นเจ๊ง กับ คนเล่นหุ้นกำไร แบบไหนมีมากกว่ากัน” เราก็ได้ยินแต่ใครๆบ่นว่าเจ๊งๆ ก็เลยตอบว่า “คนเล่นเจ๊ง ซิ น่าจะมากกว่า”

เจ้าต้นยิงคำถามใส่กบในกะลาอย่างผมต่อว่า “รู้ไม๊ ทำไม คนเล่นหุ้นเจ๊ง มีมากกว่า” ตายละซิ ไม่รู้แหะ

แค่คิด ยังไม่ทันจะตอบ เจ้าต้นก็เปิดโปรแกรม Excel โชว์ผลกำไรเป็นเท่าตัวของเขาให้เราอิจฉาเล่น แล้วพูดอย่างมีความสุขและภูมิใจว่า

“พี่ เห็นไม๊ นี่ไง หุ้นที่ต้นถืออยู่ มันปีนเส้นค่าเฉลี่ยมาตลอด แล้วต้นจะขายทำไม ต้นก็ปล่อยกำไรวิ่งไปเรื่อยๆซิ คนส่วนใหญ่นะพี่ พอมีกำไรนิดหน่อยก็ดีใจ ขายกันแล้ว กลัวหุ้นลง แต่แปลกนะพี่ ถ้าหุ้นที่ซื้อแล้วดิ่งลง ดิ่งลง กลับถือได้ทนดีจัง ของต้นนะ หลุดเส้นนี้ลงมาปุ๊ป ก็ขายทิ้ง”

เซียนต้นสอนผม ทำให้ผมเข้าใจ กลยุทธ์ “อย่าขาดทุน” ของ เสี่ย “ย.” ขึ้นมาในทันที แหม โง่อยู่ได้ตั้งนาน

เวลาหุ้นร่วง คนส่วนใหญ่ก็เอาแต่นั่งกอดหุ้น เพราะความกลัวว่าขายแล้วจะขาดทุน ได้แต่นั่งเฝ้ามองหุ้นตัวเองต่ำลง ต่ำลง จน เครียด

หลังจากหุ้นตกไปพอสมควรแล้ว เวลามันดีดกลับขึ้นมา กี่รอบกี่รอบ ก็ไม่เห็นถึงทุนซะที ขณะที่เจ้าต้นเลือกที่จะเสี่ยงขายไปก่อน

“ก็ในเมื่อหุ้นมันจะลง จะไปพะวงเรื่องกำไรอยู่ทำไมล่ะพี่ เดี๋ยวลงสุดแล้ว ต้นกลับไปซื้อคืนใหม่ก็ยังทัน” นี่ ดูความคิดของเซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นอายุ 29 ดูซิครับ ทำไมมันช่างต่างจากคนกลุ่มใหญ่ที่กลัวการขาดทุนจนทุนขาดไปหมดพอร์ตแล้ว ขนาดนี้

ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ นั่งเฝ้าหน้าจอ รอความหวังที่จะขายทิ้งไปในราคาต้นทุน วันแล้ววันเล่า เจ้าต้นกลับสนุกสนานในการซื้อคืน ขายทิ้ง ซื้อคืน ขายทิ้ง ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ

เท่าที่ได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเซียนหุ้นมา ทุกท่านมีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ครับ

“เวลาหุ้นมีแนวโน้มลง ผมจะขายทิ้งทันที”

“ขายเพื่อไม่ให้กำไรที่อยู่ในพอร์ตกลับไปเป็นขาดทุน”

“ขายแล้วจะขึ้น ก็ไม่เป็นไร ดีกว่ามานั่งเสียใจในภายหลังที่ต้องกลับมาขาดทุน”

อ้อ อย่างงี้นี้เอง เล่นหุ้นร่ำรวยเรื้อรัง ก็เสี่ยทั้งหลายรับมาแต่กำไร ไม่ยอมกลับไปเป็นขาดทุนนี่เอง

เรื่องนี้ ป๋าบุญ ขยายความเพิ่มเติมให้ฟัง

“ในการเล่นหุ้นนั้น ถ้าซื้อแล้ว ถูกทาง ก็ปล่อยมันวิ่ง และทิ้งทันที ถ้ามีแนวโน้มลง ห้ามคิดเด็ดขาดว่ากำไรเพิ่งนิดเดียวเองยังไม่ขายหรอก อย่าไปคิดว่า เมื่อเช้ายังเห็นราคาเท่านี้เท่านี้อยู่เลย ลองวางขายที่ราคานั้นอีกทีซิ เผื่อฟลุ๊ค ถ้ามันมีแนวโน้มร่วงลง ต้องเอาเงินออกมาก่อน อย่ายอมขาดทุน”

ปัญหาในขณะนี้คือ แล้วถ้ามันวิ่งขึ้นๆๆ เราจะขายราคาไหนดี

เซียนหุ้นหลายท่านตอบตรงกันยังกะนัดกันมา “ก็ขายเมื่อเจอตอนะสิ”

อ้าว แล้วตอนั้น สำคัญไฉน

มวลชนมักลังเลที่จะขายเสมอเลยครับ เมื่อเห็นโวลุ่มทะลักเข้าคึกคัก

แต่หลังจากที่ผมได้ยินจากเสี่ยๆทั้งหลายว่า เจอตอ ให้ขาย ผมเลยลองๆสังเกตดู และในที่สุดก็เข้าใจความหมายของตอ

สมมุติตัวเลขแล้วกัน สมมุติ ท่านซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 8 บาท จากนั้น ท่านสังเกตเห็นโวลุ่มเข้ามาต่อเนื่อง พร้อมกับการค่อยๆขยับขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนปิดตลาดที่ราคา 8.40 บาทได้ แบบนี้ยังโล่งครับ ปล่อยกำไรมันวิ่งไปเถอะ

พอวันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์เชียร์ หุ้นก็ดีดดีจัง โวลุ่มเข้ามามากกว่าเมื่อวานอีก ราคาก็ขยับขึ้นแรง จนกระทั่งไปถึง 9 บาทได้ในที่สุด วันนั้น โวลุ่มก็เข้า ราคาก็วิ่งขึ้น แบบนี้ ไม่มีตอครับ

อีกวันถัดมา โวลุ่มเข้ามาแรงเลย นักวิเคราะห์เชียร์อีก ให้คำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 12 บาท เพราะมันดีอย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ปรากฏว่า หุ้นคึกกว่าเก่า โวลุ่มมาจากไหนไม่รู้มหาศาล และราคาก็ทะยานแบบทำท่าจะกู่ไม่กลับ แต่แล้วพอถึงราคา 9.70 บาท ราคามันชักจะไม่ค่อยวิ่งขึ้นตามโวลุ่มที่ทะลักเข้ามา หย่อนลงมาได้นิดนึง มีโวลุ่มเข้ามาอีก แต่ก็ไม่ผ่าน 9.70 บาทซะที เรียกง่ายๆก็คือ หุ้นไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ แม้ช่วงเย็นของวันก็แล้ว โวลุ่มซื้อยังคงมีมากมายต่อเนื่อง แต่ราคาก็ยังไม่ผ่าน 9.70 บาทเหมือนเดิม

แบบนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนนะครับ ว่าเจอตอเข้าให้แล้ว

ถึงหุ้นจะคึก ถึงจะมีแรงเชียร์ซื้อ ถึงมีความเสี่ยงที่ขายไปแล้วจะขึ้น อย่างนี้ก็น่าขายหมูออกไปก่อนครับ เพราะท่านกำลังเจอตอ ท่านกำลังเจอรายใหญ่วางขายอยู่ที่ราคา 9.70 ไม่จบไม่สิ้น

เมื่อทุกคนเห็นว่า 9.70 บาท ไม่ผ่าน เมื่อรายใหญ่เห็นว่า ที่ 9.70 ไม่มีใครเคาะซื้อแล้ว มีโอกาสที่แรงขายหนักๆจะตามมา

ผมพบเห็นมามากเลยนะ ผู้คนในห้องค้าที่ไม่กล้าจะขาย ทั้งๆที่เจอตอ เหตุผลง่ายๆที่ได้ยินมาก็คือ

“ไม่ขายล่ะ กลัวขายแล้วมันขึ้น”

“ไม่ขายหรอก ราคาพื้นฐานมันอยู่ที่ 12 บาท”

“จะรีบขายไปทำไมค่ะ เห็นเขาบอกว่า มันดีอย่างนี้อย่างนั้นอย่างโน้น”

อันนี้ก็ไม่แปลกนะครับที่จะไม่ขาย เพราะท่านอาจจะเป็นผู้ยอมรับความเสี่ยงได้สูงก็ได้ ท่านจึงต้องการลุ้นให้ผ่านตอนี้ไปให้ได้ก่อน

แต่ที่แปลกใจก็คือ ผมเห็นผู้คนในห้องค้าจำนวนมากเลย ที่ปล่อยให้กำไรจำนวนมากมาย กลายเป็นขาดทุนได้ด้วย เดี๋ยวไปดูกัน ว่าท่านเหล่านั้นมีเทคนิควิธีทำกำไรให้เป็นขาดทุนอย่างง่ายๆได้อย่างไร

ในช่วงต้นๆ ที่หุ้นมันไม่ผ่านด่านราคานั้นไป พี่ป้าน้าอาในห้องค้า ก็ตั้งลุ้นที่ราคาสูงสุดของวัน หวังฟลุ๊ค ฮั่นแน๊ะ เจอตอแล้วยังหวังจะขายที่ราคาสูงสุดของวันอีก

พอรายใหญ่รู้ตัวว่าเจอตอ เขาก็เริ่มขายทิ้งแล้วล่ะสิ พี่ป้าน้าอา เห็นว่าหุ้นลงซะ ก็ยอมลดราคาขายลงมานิ๊ดนึง ไม่ขายที่ราคาสูงสุดก็ได้

พอรายใหญ่แย่งกันทิ้งหุ้น คราวนี้ หุ้นก็ดิ่งลงเร็วเลยล่ะครับ แทนที่ ผู้คนในห้องค้าจะรีบเอาเงินต้นออกมาก่อน ส่วนใหญ่กลับไปวิ่งหาข่าว หาเหตุผล ว่าหุ้นลงเพราะอะไร

ถามหน่อยเหอะ เวลาเลือดไหลออกมากๆ ทำไงครับ

ห้ามเลือดในทันที ก่อนที่จะตาย หรือ ต้องหาสาเหตุให้ได้ ว่า ทำไมถึงไหล ใครแทง แทงโดนเส้นเลือดใหญ่หรือเส้นเลือดฝอย แล้วนี่เลือดจะหยุดไหลหรือยัง เลือดจะไหลอีกนานไม๊ ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม แบบไหน ….. และอื่นๆอีกมากมาย หลากหลายคำถาม ฯลฯ ก่อนจะหาคำตอบได้ ไม่ตายไปก่อนแล้วรึ

นี่ก็เหมือนกันครับ หุ้นดิ่งลง มัวแต่หาสาเหตุ ไปๆมาๆ ตกเย็นวันนั้น ขาดทุนจนได้ พอขาดทุนก็ยากแล้วล่ะที่จะทำใจขายหุ้นออกมา เพราะเห็นๆอยู่ว่าเมื่อกี้นี้ยังกำไรอยู่เลย

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เข้าสู่เทศกาลปรับฐาน หุ้นแต่ละตัวต่ำเตี้ยสาละวัน

หนึ่งเดือนผ่านไป ไวเหมือนโกหก หุ้นที่เราๆท่านๆถืออยู่ ร่วงมาให้ขาดทุนไปแล้วถึง 50% ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะขอแค่คืนทุน หุ้นตัวนั้น ต้องดีดมา 100% เลยนะ มันคงไม่เกิดขึ้นบ่อยหรอกครับ และไม่รู้ด้วยว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน กว่ามันจะกลับขึ้นไปเพียงเท่าทุน

ผู้ที่ประสบความสำเร็จ เขาอยู่กับปัจจุบันครับ ไม่ได้อยู่ด้วยการคาดหวังเลื่อนลอย

ต่อให้รวยแค่ไหน เงินเราก็ถือว่า ช่างเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับปริมาณเงินทั้งตลาด

เซียนหุ้นตัวจริงถึงกล่าวอยู่เสมอว่า “ให้ว่าไปตามภาวะตลาด น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง”

ถ้าไม่มั่นใจว่ามันจะไปได้ต่อ ล็อคกำไรออกมาก่อนครับ ภาษิตสำนวนฝรั่งว่าไว้ “When In Doubt, Stay out!” …… หากมีลางสังหรณ์ไม่ดี หรือเจอตอ ต้องเผ่นก่อนเป็นดี

www.ThaiDayTrade.com

Sunday, September 27, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 7 : เกาะไปกับ Fund Flow

"ตอนที่เริ่มสตาร์ท ผมลงเงินไป 500,000 บาท ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามี "ราคาถูก" ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มี พี/อี เรโช ต่ำ และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอดจนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้วค่อยๆ เรียนรู้ ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!" …….. ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม (หมอยง) เศรษฐีหุ้น พันล้าน

มวลชนมักจะเลือกซื้อหุ้นถูก ดักซื้อ รอเก็บ เพราะคาดว่า เดี๋ยวมันจะขึ้น

นักวิเคราะห์ก็ออกมาการันตีว่าปัจจัยพื้นฐานดี เราก็อุ่นใจ ใช่ไหมครับ ว่าเดี๋ยวคงจะขึ้น

ส่วนหุ้นเก็งกำไรที่มันลงมาแรงแล้ว เราก็เข้าเก็บเหมือนกัน ด้วยความหวังว่า เดี๋ยวมันคงจะขึ้น

หุ้นที่มีพื้นฐานดี หรือ หุ้นเก็งกำไร ล้วนแต่ราคาลงมามากแล้วทั้งนั้น ดังนั้น เราดักซื้อรอไว้ มันก็น่าจะขึ้น

อย่างที่บอกไว้ในตอนก่อนล่ะครับ ยังไงมันก็ไม่ขึ้นหรอก หากโชเฟอร์ยังหลับอยู่

ทำไมไม่ดูรถที่มีโชเฟอร์สตาร์ทรอจนเครื่องร้อนแล้ว และโชเฟอร์กำลังจะออกรถล่ะครับ

จริงๆแล้ว เซียนหุ้นทั้งหลาย ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ว่าหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เก็งกำไร เขาเลือกตัวที่มันกำลังจะวิ่ง หรือ เพิ่งวิ่ง กันทั้งนั้น

หุ้นที่ดีในมุมมองของคนเล่นหุ้น ควรจะเป็นหุ้นที่เข้าซื้อแล้วมีกำไร อย่าเกี่ยงเลยว่าหุ้นตัวนั้น พื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เป็นหุ้นปั่น เพราะนักลงทุนจำนวนมากในตลาด ก็ล้วนเคยมีผลขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีมาแล้วทั้งสิ้น

เพราะการลงทุนในหุ้นที่เราสมมุติกันว่า มีปัจจัยพื้นฐานดี มันก็คือ การเก็งกำไรเหมือนกันล่ะครับ เพียงแต่ว่า มันเป็นการเก็งกำไรจากการเก็งมูลค่ากิจการโดยนักวิเคราะห์ ในขณะที่การเล่นหุ้นเก็งกำไรเป็นการเก็งกำไรจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าหุ้นตัวนั้นๆโดยนักเล่นหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้น หรือที่เรียกให้ดูแย่หน่อยว่า หุ้นปั่น

แต่จะวิเคราะห์แบบไหน ก็เก็งกำไรทั้งนั้นแหละ ไม่งั้น จะกำหนดราคาเป้าหมาย ราคาที่ควรจะเป็นไปทำไม การกำหนดเช่นนั้น ก็คือการเก็งอยู่ดีนะแหละว่า ถ้าคุณซื้อที่ราคานี้ คุณน่าจะขายได้ที่ราคานั้น

คนที่เข้ามาในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ก็หวังส่วนต่างราคา คาดว่าจะขายได้แพงกว่าราคาที่ตนซื้อมากันทั้งนั้น มีเพียงส่วนน้อยครับ ที่เข้ามาลงทุนระยะยาว เพื่อหวังเพียงเงินปันผล

ดังนั้น หากท่านตกลงปลงใจแล้วว่าจะเข้ามาหากำไรจากส่วนต่างราคา ก็เชื่อว่า หนังสือที่ท่านถืออยู่นี้ จะช่วยปรับปรุงการเทรดของท่านให้ดีขึ้นได้แน่นอน

นี่ ไม่ได้หมายถึง เราสนับสนุนหุ้นปั่นนะครับ แต่ต่างชาติหรือกองทุน หรือ เราๆท่านๆ ซื้อหุ้นก็หวังกำไรกันทั้งนั้น

เก็งว่า รายได้จะเป็นไปตามเป้า เก็งว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้น เก็งว่าต้นทุนน่าจะลดลง เก็งว่าน่าจะได้งานประมูลโครงการใหญ่เข้ามา เก็งว่าต่างชาติจะมาร่วมทุน เก็งว่าราคาขายน่าจะปรับตัวดีขึ้น

ถ้าไม่เก็งกำไร แล้วหุ้นขนาดใหญ่ ราคาตัวละ 100 หรือ 200 บาท จะวิ่งขึ้นไปได้ยังไง วันละ 5% หรือ 8% ทั้งๆที่ ยังไม่รู้เลยว่า รายได้ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ผลประกอบการปลายปีจะดีขึ้นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งราคาขาย ก็ประเมินยากว่าจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต เพราะราคาของผลิตภัณฑ์บางอย่าง มันแปรไปตามตลาดโลกเป็นหลัก

มันก็เก็งกำไรกันทั้งนั้นแหละ

เพียงแต่หุ้นตัวไหนที่นักวิเคราะห์อธิบายได้ว่ามันขึ้นเพราะอะไร ก็จะเรียกว่าหุ้นพื้นฐานดี หุ้นตัวไหนหาเหตุมาใส่ผลไม่ได้ ก็จะเรียกว่า หุ้นปั่น

แล้วการที่หุ้นขนาดใหญ่ มีแรงซื้อเข้ามามาก ออกอาการวิ่งขึ้นพรวดๆ ซึ่งเกิดจากการใช้เงินกวาดซื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงภายในวันเดียว ไม่เรียกว่าปั่นหรือครับ ไม่เรียกว่าเก็งกำไรหรือครับ หรือ ปัจจัยพื้นฐานของกิจการสามารถดีวันดีคืนทันตาเห็นภายในเวลาแค่วันเดียว

การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน ก็มีรากฐานแก่นแท้ มาจากการเก็งกำไรเหมือนกัน เพียงแต่เรียกให้ดูดีในคำที่แตกต่างกันไป เช่น เรา Estimate ว่า, เรา Forecast ว่า, เรา project ว่า, เรา think ว่า, เรา evaluate ว่า, เรา calculate ว่า, เรา appraise ว่า, เรา compute ว่า ……

จริงๆแล้ว ก็คือ เรา Guess ว่า … นั่นเอง เพราะโลกของความเป็นจริง ใครจะมาทำนายทายได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าเป็นปีๆ เพียงแต่การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน มันดีกว่าการเดาสุ่มแทงสูงต่ำ เพราะเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานที่มีหลักมีเกณฑ์

เห็นบางทีให้ ราคาเป้าหมาย 12 เดือน เท่านั้นเท่านี้ พอหุ้นร่วงลงมา “เรายังคงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงอีก นักวิเคราะห์ก็มาบอกอีก “เรายังคงคำแนะนำให้ซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงสุดๆ นักวิเคราะห์ก็เปลี่ยนคำแนะนำ “อ้อ โทษที เราปรับประมาณการรายได้ลงมาแล้ว เราแนะนำขาย ปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ xxx บาท” แป่ววววววว! นี่ก็แสดงว่า เก็งกำไรผิดแล้วนะซิ

ในเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเกี่ยงไปทำไมครับว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐาน หุ้นตัวไหนเก็งกำไร

ก็ตัวไหนมันจะวิ่งขึ้น เราก็ซื้อตัวนั้น ไม่ดีกว่าหรือครับ

อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้น

ผมไปเจอคุณอาคนนึงในห้องค้า แกบอกว่า แกไม่เชื่อใครทั้งนั้น แกวิเคราะห์เอง ว่าแล้ว แกก็วางฟอร์มว่ามีคามรู้ ขอข้อมูลมหาศาลจากทางโบรกเกอร์ เพื่อมาวิเคราะห์หุ้น กว่าท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคาหุ้นก็ไปไหนต่อไหนแล้วครับ

ถ้าท่านอยากประสพความสำเร็จ อย่าทำเป็นเก่งมาวิเคราะห์หุ้นเอง นอกเสียจากท่านจะมั่นใจว่า ท่านมีความสามารถในการวิเคราะห์บริษัทนั้นๆได้ดีกว่าต่างชาติ กองทุน รายใหญ่ และนักวิเคราะห์

ขนาดกองทุนต่างชาติ ยังต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาประจำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเลย แล้วท่านจะเก่งขนาดไหนครับ ถึงจะสามารถประมาณภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ราคาน้ำมัน ในอนาคต ได้แม่นยำกว่าเขา

ถ้าท่านบอกว่า ท่านวิเคราะห์กิจการเป็น คำถามคือ ท่านสามารถประมาณการความต้องการสินค้า และ อัตราการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมนั้นๆได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า ท่านสามารถประมาณการจำนวนยอดขายและราคาขายในอนาคตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า

ท่านสามารถประมาณการต้นทุนการผลิตในสินค้าแต่ละประเภท ในทุกๆองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า และ ท่านยังคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารได้แม่นยำกว่าเขาอีกด้วยหรือเปล่า

และกว่าที่ท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคามันไม่ไปไหนต่อไหนแล้วหรือครับ

ก่อนกองทุนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศก็ตาม จะใส่เม็ดเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เป็นพันล้าน หรือ หลายพันล้าน เขาไม่ใช่ไร้สตินะครับ เขาวิเคราะห์ดีกว่าเรา เขามีทีมงาน ข้อมูล และเครื่องมือ ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าเรา และถ้าเขาวิเคราะห์ผิด กองทุนเขาเสียหายมากกว่าเราเยอะ

รายใหญ่ หรือ เจ้าของกิจการ ก็เช่นกันครับ ก่อนที่เขาจะอัดฉีดเม็ดเงินหลายร้อยล้านเข้าไปในหุ้นเก็งกำไร เขาต้องเช็คกราฟ เช็คข้อมูลภายใน จนเป็นที่แน่นอนแล้ว หรืออาจขอให้นักวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาให้เสร็จสรรพแล้ว เขาถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามา

ก็ในเมื่อมันเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจะไม่เกาะติดรายใหญ่ที่เขาทำการบ้านมาดี เกาะติดเม็ดเงินเขาไปล่ะครับ จะมาทำเก่ง นั่งวิเคราะห์พื้นฐานกิจการเองอยู่ทำไม ด๊อกเตอร์ทางการเงินเจ๊งมามากต่อมากแล้ว จริงๆนะครับ

ถ้าช่วงนี้ กองทุนต่างชาติเห็นแนวโน้มปิโตรเคมีดี ท่านจะไปดักซื้อกลุ่มธนาคารนั่งรอทำไมล่ะ ถ้าราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่ง แต่ไปซื้อดักรอในหุ้นกลุ่มรับเหมาก็คนละเรื่อง ถ้ารถคันนี้จะออก ท่านกลับไปหาขึ้นรถเมลล์ที่มีที่นั่งว่างอยู่เพียบ แล้วเมื่อไหร่ท่านจะได้ออกจากท่ารถล่ะครับ

ถ้าท่านจะขายซีดี ก็คงต้องดูว่า ช่วงนี้เขาฮิตอะไร ถึงราคาต้นทุนจะแพงหน่อย ก็ดีกว่าเพลงไทยเดิมต้นทุนต่ำ แต่ไม่รู้จะไปขายใคร ใช่ไหมครับ

หุ้นก็เหมือนกัน ดูสักนิดนึงว่าเม็ดเงินทะลักเข้าไปเล่นกลุ่มไหนกันอยู่ ไม่งั้น ตกรถแน่ แล้วยังชอบมาหลอกตัวเองอีกนะ คนเรา ว่าเดี๋ยวมันก็คงจะมา

มีนักลงทุนฟูลไทม์ อยู่ 2 ท่าน ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นความต่าง ท่านแรกเคยเป็นนักวิเคราะห์มือดีของโบรกเกอร์ดังแห่งหนึ่ง รอบรู้สารพัดที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นเซียนหุ้นหลายร้อยล้าน ผู้ชำนาญในการทำกำไร

ท่านแรก ก็อยู่ในตลาดมาพอสมควร โดยเริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิธีการเล่นหุ้นของท่านก็คือ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหน ท่านจะทำการศึกษากิจการของบริษัทมาเป็นอย่างดี แล้วค้นหารายชื่อผู้ถือหุ้น อ่านดูนโยบายบริษัทและนโยบายเงินปันผล แล้วทำการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบแนวโน้ม แล้วทำประมาณการกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน จากนั้นทำการประมาณการกระแสเงินสด เพื่อคำนวณหามูลค่ากิจการ เมื่อได้มูลค่ากิจการแล้ว จึงนำเอาจำนวนหุ้นมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาที่ควรจะเป็นต่อหุ้น

ปรากฏว่า เมื่อท่านได้ราคาที่ควรจะเป็นออกมาแล้ว กลับทำใจซื้อไม่ลงอีก เพราะมีคนลุยซื้อไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนราคาขึ้นไปมาก สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นไปซะแล้ว ท่านเลยต้องเริ่มต้นทำการศึกษาหาหุ้นตัวอื่นแทน

ท่านที่สองคือ เสี่ย ม. ขออภัยที่ต้องพาดพิง …… เสี่ย ม. มีประสบการณ์สูงในตลาด ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ท่านเป็นประเภท “Low profile, High Profit” ไม่โอ้อวด ไม่ขี้โม้ ชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง VIP เล็กๆ แต่เก็บโกยกำไรมหาศาล แปลงตลาดหุ้นเป็นเครื่อง ATM ส่วนตัว วันแล้ววันเล่า …… ในช่วงตลาดดีๆ เทรดไปได้ กว่าพันล้านบาทต่อเดือน

กลยุทธ์หลักของ เสี่ย ม. คือ “ยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อ” ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นกลยุทธ์เดียวกันกับเสี่ยพันล้านทั้งหลายที่เคยเรียนร่วมชั้นกันมา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ย “ย.” หรือ เสี่ย “ป.” ผู้โด่งดัง

แต่ดูเหมือนว่า กลยุทธ์นี้ จะตรงข้ามกันสุดโต่งกับวิธีการเล่นของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น

คนสติปัญญาน้อยๆอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นอีกปัจจัยนึงหรือเปล่า ที่ทำให้ เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นฟูลไทม์อายุ 29 สรุปว่า

“คนเล่นหุ้นเจ๊งมีมากกว่าคนเล่นหุ้นแล้วรวย คนส่วนใหญ่ ชอบเข้าซื้อหุ้นตอนที่เขาเลิกเล่นกันหมดแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่า ซื้อได้ถูกลง”

แต่ที่แน่ๆ เสี่ยทั้งหลายใช้กลยุทธ์นี้กัน ทุกคน ไม่มียกเว้น

เดี๋ยวไปฟังเสี่ย ม. มั่ง แกคิดยังไง ทำไม ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ

“นี่นะคุณ ถ้ายิ่งซื้อยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อยิ่งแพง แปลว่า หุ้นกำลังจะทะยานขึ้น เงินกำลังวิ่งเข้า”

“ก่อนที่เขาจะไล่ซื้อตัวไหนกันมากๆ เขาวิเคราะห์มาหมดแล้ว เราแค่เกาะกระแสเงินเขาไปก็พอ หาให้เจอว่าเงินกำลังวิ่งไปที่ไหน” ความลับของเสี่ยหุ้นที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่อยากรู้ ถูกเปิดเผย

“ถ้าผมซื้อไปแล้วมันลง แล้วยังลงอีกให้ผมได้ซื้ออีกเรื่อยๆนะ ซวยแล้ว คุณรู้ปล่าว ถ้ายิ่งซื้อได้ถูกลง ผมจะหยุดเลย สงสัยเราจะผิดแล้ว แล้วถ้ายังลงมาให้ซื้อได้ถูกลงเรื่อยๆอีก ผมขายทิ้งหมด” เสี่ย ม. เผยกลยุทธ์กล้วยๆที่ฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป

ยิ่งกลัวยิ่งขึ้น ยิ่งกล้ายิ่งลง

ไม่รู้ ว่า เราถูกปลูกฝังมาหรือเปล่าว่าต้องเลือกซื้อหุ้นที่ถูกๆ จริงๆแล้ว หุ้นถูกมีอยู่เต็มตลาดเลยนะครับ ราคาไม่ถึงมูลค่าทางบัญชีมีเพียบเลย แต่ทำไม ถูกยังไงก็ไม่มีใครเอาล่ะครับ

ถ้าจะพูดจาเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องบอกว่า การเล่นหุ้นให้ได้เงิน ต้องเลือกหุ้นตัวที่มี Demand มากกว่า Supply ที่รองรับได้ ณ ขณะนั้น หุ้นแบบนี้แหละ เสี่ย ม. ชอบบบบบ เพราะเล่นแล้วได้ตังค์

แต่ก็แปลก ตอนขึ้นแรกๆ ไม่ยักจะกล้าเข้าซื้อกัน พอมันขึ้นไปมากๆกลับยิ่งเสียดาย

พอมันลงมาได้ไม่นาน เราก็กลับไปมองว่า ถูกกว่าราคาก่อนหน้านี้ตั้งเยอะ ดังนั้น ยิ่งลงเราเลยยิ่งซื้อกัน เพราะหวังว่า เดี๋ยวมันจะวิ่งกลับขึ้นไปที่เก่า โดยหารู้ไม่ว่า เผลอๆ เขาจะบ้ายบายตัวนี้กันแล้วด้วยซ้ำ


มาถึงตรงนี้ ก็ยังทำใจยากอยู่ดีกับกลยุทธ์ยิ่งขึ้นยิ่งซื้อ ใช่ไหมครับ

“แล้วถ้าไปซื้อหุ้นตอนราคายิ่งขึ้น มันไม่ยิ่งเสี่ยงหรอกหรือ” ท่านถามผมในใจอยู่แน่เลย บังเอิญผมได้ยินครับ เลยขออนุญาตตอบนอกใจดีกว่า

เมื่อท่านเห็นหุ้นกำลังวิ่งหน้าตั้งขึ้นไป ท่านอาจต้องเช็คราคา เช็คกราฟหน่อยแล้วล่ะครับ

หากหุ้นตัวนั้น เพิ่งฟื้นจากจุดต่ำสุดของราคาขึ้นมาเป็นวันแรกๆ และ ผ่านแนวต้าน เก่าขึ้นมาได้พร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น อย่างนี้ แปลว่า ของจริงครับ “เจ้าเข้าแล้ว” แบบนี้ ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อครับ

อยากให้เห็นภาพประกอบหน่อยนึง ขอสมมุติเป็นตัวเลขแล้วกันครับ

หุ้นตัวหนึ่ง พื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี แถมเป็นผู้ผูกขาดในอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ แต่การส่งมอบงานที่ล่าช้า ทำให้ผลกำไรที่ผ่านมา ลดลง ราคาหุ้นก็เลยร่วงลงมาโดยตลอด จาก 3 บาท มาเหลือเพียง 2 บาทเท่านั้น

ราคาลงมาถูกแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะลงอีกไหม

สมมุติแล้วกันครับ ว่าผมรู้แน่ๆ ว่าราคาไม่ลงไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ผมก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า ราคามันจะขึ้นเมื่อไหร่ ขืนไปซื้อดักไว้ เพียงเพราะว่า มันถูกและปัจจัยพื้นฐานดี เงินทุนของผมอาจจมไปนาน

ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ผมแอบชำเลืองสายตา จ้องมองหุ้นตัวนี้มาโดยตลอดครับ แต่มันไม่เคยแคร์ความรู้สึกผมเลย

ในปลายเดือนที่ 6 ราคาหุ้นค่อยๆฟื้นตัวขึ้นจาก 2.08-2.10 บาท ขึ้นมาชนแถว 2.20 บาทบวกลบ แล้วก็ร่วงลงอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ทุกครั้งที่พยายามขึ้นมา โวลุ่มเทรดน้อยเกินไป แต่เอาเถอะ อย่างน้อย มันก็พยายามตะเกียกตะกายขึ้น โดยไม่กลับไปที่จุดต่ำสุดเดิมอีก

หุ้นแบบนี้ เริ่มน่าสนแล้วครับ หุ้นที่ยกจุดต่ำสุดขึ้นมาเรื่อยๆ ขาดแต่เพียงโวลุ่มที่มากพอเท่านั้นเอง แบบนี้ ยังต้องติดตามมองมันต่อไป

แล้วต้นเดือนที่ 7 วันแห่งการรอคอยก็มาถึง เช้าวันนั้น โวลุ่มทะลักเข้ามามากมาย หลังตลาดหุ้นเปิดได้ไม่นาน แนวต้านแถว 2.20 บาทบวกลบ สามารถผ่านขึ้นไปได้อย่างง่ายดาย พร้อมด้วยโวลุ่มที่ยืนยันการกลับมาของ “เขา” โดยไม่มีทีท่าว่าจะร่วงลงมาต่ำกว่า 2.20 บาทบวกลบอีกเลย

แบบนี้ ต้องลุย!

คนส่วนใหญ่ อาจรู้สึกว่า มันขึ้นมามากแล้ว เพราะมันขึ้นมาตั้งแต่จาก 2 บาท กว่าๆแน๊ะ

คนส่วนใหญ่ อาจต่อรองราคา ตั้งซื้อที่ 2.14 บาท หรือ 2.16 บาท ซึ่งถ้าได้จริง ท่านแย่แน่ แสดงว่า ท่านจะต้องเงินจมต่อไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะถ้าท่านซื้อได้ที่ราคานั้น แสดงว่า มันหลุดแนวรับลงมาแล้ว

สำหรับผม ผมเคาะซื้อทันทีที่มันผ่านด่านเดิมแถว 2.20 บาท ไปได้ครับ และตามซื้ออีก ที่ 2.30 และ 2.34 บาท ซึ่งแต่ละครั้งที่เคาะซื้อ เป็นราคาสูงสุดของวันตลอดเลย เพราะหลังจากเช็คดูแล้ว แนวต้านถัดไป ยังยาวไกลอีกมาก

ส่วนท่านที่รอซื้อที่จุดต่ำสุดของปี แถว 2 บาทต้นๆ หรือ รอซื้อที่ 2.14 บาท หรือ 2.16 บาท ก็จะยิ่งไม่กล้าซื้อเข้าไปใหญ่ เพราะวันนั้น หุ้นตัวนี้ปิดที่ 2.38 บาท และมีแนวโน้มจะวิ่งตรงไปสู่ 2.70 ในเวลาไม่นานด้วย

หากท่านเห็นหุ้นวิ่ง ถ้าท่านซื้อไล่ราคา โดยไม่ได้เช็คอะไรเลย ท่านอาจจะเข้าซื้อที่แนวต้านก็ได้ ใช่ไหมครับ อย่างนี้ เรียกว่า แมงเม่า บินเข้ากองไฟ หุ้นตัวไหนกระดิก วิ่งตามเข้าไป ก็ติดแหง็ก

แต่หากท่านเห็นแล้วว่า ราคาที่วิ่งขึ้นไป ยังไม่ผ่านแนวต้านอยู่ดี ท่านก็จะไม่เข้าซื้อ และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่มันผ่านด่านหินไปได้ด้วยเม็ดเงินมหาศาล แบบนี้ ยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อครับ ความร่ำรวยจะเกิดกับท่าน ชั่วข้ามคืน ไม่จำเป็นต้องไปดักซื้อดักเก็บล่วงหน้า 5-6 เดือน

ก่อนจะเข้าซื้อหุ้นตัวไหน ตามกลิ่นเม็ดเงินให้เจอซะหน่อยดีไหมครับ ว่าเม็ดเงินในตลาด กำลังวิ่งไปที่ไหน

www.ThaiDayTrade.com

Saturday, September 26, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 6 : รู้เขารู้เรา

ตอนที่แล้ว เราเริ่มจากการทำการบ้านแล้วหาแนวรับแนวต้าน รวมทั้งจุดตัดขาดทุนรอไว้แล้ว พอตลาดเปิดมา เราก็มาดูโวลุ่มใช่ไหมครับ เพื่อค้นหาว่า หุ้นตัวไหนที่เราว่าดี และมีคนขับสตาร์ทรถรออยู่ พร้อมจะวิ่งจากจุดสตาร์ทได้ก่อนกัน

ในระหว่างเส้นทางการเดิน คนขับแต่ละคนก็มีนิสัยไม่เหมือนกันอีก

โชเฟอร์บางคน ชอบทำตัวเป็นหนุ่มซิ่ง วิ่งโชว์สาว

โชเฟอร์กลุ่มนี้ จะชอบลากหุ้นยาวๆ ลากไปไกลๆ อย่างรวดเร็ว จนคนที่ไม่ได้ทำการบ้านรอไว้ น้ำลายหก เลือดกำเดาไหล กว่าจะไปตรวจกราฟ ตรวจโวลุ่ม กว่าจะมั่นใจ กว่าจะเข้าคิวรอซื้อ ก็ถึงเวลาเขาขายทำกำไรกันซะแล้ว

โชเฟอร์บางคน ชอบทำตัวเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ

โชเฟอร์กลุ่มนี้ วิ่งไปได้ไม่ไกล ก็จอดพักระหว่างทาง หาข้าวปลาอาหารกิน หาเพลงฟัง แล้วค่อยวิ่งรถไปต่อ ทำนองว่า ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง แบบนี้ คนใจร้อน ก็ขอลงก่อนเหมือนกันล่ะ ขี้เกียจรอ กว่าจะไปถึงปลายทาง ต้องต่อรถไม่รู้กี่ต่อ เปลืองตังค์อีกต่างหาก

โชเฟอร์บางคน ก็มารยาทแย่มาก

โชเฟอร์กลุ่มนี้ มีเยอะซะด้วย ออกรถกระชาก แล้วเบรกเอี๊ยดกะทันหัน แล้วไล่คนลงจากรถ พอไปถึงป้ายหน้า ก็เบรกเอี๊ยดกะทันหันอีกครั้ง แล้วตะเพิดคนลงจากรถอีก กว่าจะไปถึงสถานีปลายทาง ผู้โดยสารก็อ๊วกแตกอ๊วกแตน อาเจียนออกมาเป็นเลือดหมด

แล้วเราจะรู้นิสัยโชเฟอร์แต่ละคนได้ยังไงล่ะ
แหม ถ้าจะตอบแบบไม่เกรงใจกัน ก็ต้องบอกว่า ลองไปนั่งดู แล้วเดี๋ยวก็จะรู้เอง!

ทุกวันหลังตลาดปิด แม้เราจะทำการบ้านดูกราฟ แนวรับแนวต้าน มาดีเพียงใด และเมื่อตลาดเปิดมาแล้ว โวลุ่มเทรดจะเข้ามาสนับสนุนการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่จำเป็นมากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ต้องรู้ใจ “เจ้ามือ” ด้วย ซึ่งต่อไปนี้ จะขอเรียกว่า “นิสัยหุ้น” แทนแล้วกันนะครับ

นิสัยหุ้นแต่ละตัว ไม่เหมือนกัน บางตัวซน บางตัวเล่นๆอยู่ก็เลิกดื้อๆ บางตัวซิ๊กแซ๊กขึ้นเป็นระเบียบ ถ้าท่านเป็นคนช่างสังเกตอยู่แล้ว จะช่วยได้มากครับ เพราะมันจะช่วยให้เรารู้รูปแบบการวิ่งของหุ้นได้ดีขึ้นมากเลยล่ะ

เจ้ายุธ เพื่อนผมเอง เป็นคนใจร้อน ชอบเล่นหุ้นไว จริงๆแล้ว เขาเล่นหุ้นอยู่เพียง 2 ตัวเท่านั้น แต่อยู่กับ 2 ตัวนั้นมานาน จนรู้นิสัย รู้รูปแบบหุ้น โดยไม่ต้องใช้กราฟ จนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีของเจ้ายุธรู้สึกทึ่งไปด้วย

“น้อง เคาะซื้อเลย 5 หมื่นหุ้น เร็วๆ ราคาเท่าไหร่ก็ซื้อมาเหอะ ซื้อให้ทัน” เจ้ายุธสั่งเจ้าหน้าที่โบรกเกอร์ให้ซื้อหุ้นในดวงใจหลังจากราคาถูกลากไปไกลกว่า 8 ช่อง

“เฮ้ย ยุธ ลื้อไม่กลัวหรอ ซื้อปุ๊ปลงปั๊ปหน่ะ” ผม งง ที่เห็นเจ้ายุธสั่งเคาะซื้อแบบไม่เกี่ยงราคา

“ตัวนี้ อั้วรู้ ถ้ามันลากเร็วๆหลายๆช่อง แบบไม่รอใคร เป็นวันแรกนะ เข้าได้เลย มันจะลากไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนกล้ามาตั้งซื้อ ดังนั้น ถ้าลื้อจะเข้าต้องเข้าทันที ราคาไหนก็ได้ เข้าให้ทัน” เจ้ายุธ บอกนิสัยหุ้นให้ฟัง หลังจากเล่นตัวนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายเดือน

“น้อง ขายทิ้งเลย มันหยุดวิ่งแล้ว” เจ้ายุธสั่งให้เจ้าหน้าที่คีย์ขายทิ้ง แกรู้ดีว่า ถ้าตัวนี้หยุดวิ่ง หมายถึง รอขายใส่คนที่มาวางซื้อ เจ้ายุธเลยสั่งขายทิ้งทันทีก่อนที่ราคาจะร่วงลง

“เฮียครับ คอนเฟิร์มนะครับ ขายได้ครบ 5 หมื่นหุ้น กำไร 9 พันกว่าบาท” เจ้าหน้าที่โบรกเกอร์ โทรมารายงานการขายหุ้น
นอกจากการเล่นตามแบบฉบับเจ้ายุธแล้ว ยังมี พี่ชัช ที่ชอบเลือกหุ้นที่เพิ่งฟื้นตัวแล้วไต่ขึ้นช้าๆ แกก็จะถือหุ้นไปเรื่อยๆ ระยะนึงเลยล่ะ ตามประสาคนใจเย็น จนกว่าจะเห็นการวิ่งแรงๆติดกันเป็นวันที่สอง

“อ้าว พี่ กำไรตั้ง 50% แล้ว พี่ไม่ขายหรอคับ” ผมถามคำถามโง่ๆ กับพี่ชัช

“ตัวนี้ ยังไม่ขายหรอก พี่ซื้อมาตอนที่มันฟื้นตัว ตอนนี้ เพิ่งฟื้นมาได้ไม่นาน ยังไม่มีเคยสังเกตเห็นหรอก หลายสัปดาห์แล้วหุ้นวิ่งเหนือเส้นค่าเฉลี่ยมาตลอด ปล่อยมันวิ่งไปเหอะ” พี่ชัชตอบแบบนักปราชญ์

“เอ แล้วพี่จะขายเมื่อไหร่ล่ะครับ” ผมถามแบบโง่ๆเป็นครั้งที่สอง

“ว่าจะรอให้นักวิเคราะห์เชียร์ก่อนแล้วพี่ค่อยขาย (ฮา)” พี่ชัช กัดเบาๆ แล้วขยายความต่อ “ไอ้ตัวนี้นะ พี่ได้มาหลายรอบแล้ว ถ้าไม่มีใครมาเล่นด้วย มันก็ขึ้นไปเรื่อยๆแหละ พอคนมาแห่ซื้อมากๆ มันจะวิ่งเร็ว พอวิ่งเร็ว นักวิเคราะห์ก็จะออกมาเชียร์ซื้อ นั่นแหละ ขายได้เลย ไม่งั้นจะไม่ได้ขายอีก” โอ้โห พี่ชัชรู้จริงแหะ

แต่ถ้าจะเล่นหุ้นซาดิสต์ ต้องคุยกับเจ้าตองครับ ผู้เชี่ยวชาญทางจิต

“เห็นไหม ฉันขายไปแล้ว ยังไงก็ได้ซื้อคืน ซื้อปิดขายเปิด ซื้อปิดขายเปิด ได้เงินทุกวันเลยล่ะ ไอ้ตัวนี้ มันชอบเปิดสูงปิดต่ำ ตบ 2 ครั้ง ค่อยเข้าซื้อ” นั่นแน่ เจ้าตอง เผยสูตร

“แกรู้ไหมว่าทำไม” เจ้าตองจะเฉลยง่ายๆทั้งที ก็กลัวเสียฟอร์ม งั้นผมต้องรบเร้าซะหน่อย ว่าแล้วก็ทำท่าอยากรู้ให้เจ้าตองเห็น

“ก็อาหารโปรดของตัวนี้ คือ เงินของพวกเล่นเน็ตเซ็ตเทิ้ลเม้นท์นะซี่ ราคาเปิดยกสูง แล้วไล่ราคาขึ้น พอพวกเน็ตเซ็ตเทิ้ลเม้นท์เข้ามา ก็เจอขายใส่ แล้วกดราคาหุ้นลงไปเรื่อยๆ แล้วตบทิ้งอีกทีตอนตลาดปิด ได้หุ้นคืนจากพวกเน็ตเซ็ตเทิ้ลเม้นท์เพียบเลย ซื้อคืนได้ถูกกว่าที่ขายไปตั้งเยอะ” เจ้าตองแจงแบบรู้จริง

หลายท่านได้ยินแบบนี้ คงคิดว่า เล่นหุ้นพื้นฐาน น่าจะดีกว่า ความจริงแล้ว หุ้นที่มีฝรั่งเป็นโชเฟอร์ขับเคลื่อนก็แสบไม่แพ้กันครับ

ฝรั่ง เขาเก่งในเรื่องเล่นสลับ เดี๋ยวธนาคาร เดี๋ยวพลังงาน โยกไปมา ไม่ให้ใครได้แอ้มเงินเขาง่ายๆหรอก

ตอนตลาดซบเซา ความเชื่อมั่นหดหาย ฝรั่งเขาก็ทยอยเก็บทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ ใครขายมา เขาก็ตั้งโต๊ะรับซื้อหมด ในช่วงนี้ คนส่วนใหญ่ก็ยังปอดๆนะ

หลังจากทยอยกวาดสินค้าแกรนด์เซลล์ เป็นเดือนแล้ว หากฝรั่งเห็นว่า ของยังขาดอยู่มาก แต่ไม่มีใครขายลงมาแล้ว เขาจะเร่งซื้อของให้ครบตามที่นโยบายกองทุนกำหนด พอฝรั่งผู้นำกวาดรวบ ฝรั่งผู้ตามกับกองทุนไทยก็เหมือนกับถูกบีบให้ซื้อตาม ไม่งั้น ราคาจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

เมื่อกองทุนและต่างชาติรายอื่นซื้อตาม หุ้นก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ พอหุ้นขึ้นไปมากๆ รายย่อยเริ่มมั่นใจก็จะกลับเข้ามาซื้อ สังเกตได้ง่ายๆ หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์จะเริ่มฟื้น

พอรายย่อยและกองทุนไทยกลับเข้ามา ลีลาการขายของฝรั่งก็เริ่มออกลวดลาย และยิ่งขายได้แพงขึ้นไปเรื่อยๆซะด้วย แสบไหมล่ะครับท่าน เดี๋ยวยกตัวอย่างให้ดูแล้วกัน

เมื่อฝรั่งลากแบ็งค์ขึ้นต่อเนื่อง ก็จะแอบทยอยขายพลังงานต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ คนจะเริ่มรู้สึกว่า เล่นกลุ่มพลังงานไม่ได้ตังค์ ต้องเล่นแบ็งค์ถึงจะได้ตังค์ เลยขายพลังงานไปเข้าแบ็งค์

สัปดาห์ถัดมา พอคนมั่นใจว่าแบ็งค์มา คนทั้งตลาดก็จะไปตั้งรอซื้อแบ็งค์ ฝรั่งก็จะขายแบ็งค์ พร้อมๆกับช้อนซื้อพลังงานที่คนทั้งตลาดขายลงมา

หลังจากลากพลังงานขึ้นต่อเนื่อง ขายแบ็งค์ต่อเนื่อง มาเป็นสัปดาห์ คนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มรู้สึกว่า เขาเลิกเล่นแบ็งค์แล้ว เขาเล่นพลังงานกันอยู่ ก็เลยขายแบ็งค์ไปเข้าพลังงาน

สัปดาห์ถัดมา พอคนมั่นใจว่าพลังงานมา คนทั้งตลาดก็จะไปตั้งรอซื้อพลังงาน ฝรั่งก็ใจดี ขายพลังงานให้เรา แล้วช้อนซื้อแบ็งค์ที่คนทั้งตลาดขายลงมา

สังเกตเห็นใช่ไหมครับ ระหว่างการเล่นสลับในหุ้นสองกลุ่มนี้ เขาขายได้ราคาหมดเลย โดยใช้เงินเพียงเล็กน้อย ก็สามารถหาออร์เดอร์ซื้อจำนวนมาก มารองรับปริมาณหุ้นที่เขาต้องการจะขายได้แล้ว

สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนแคร์ โดยเฉพาะกองทุนต่างชาติด้วยแล้ว เขาไม่ได้แคร์เรื่องราคานะครับ แต่เขาแคร์ปริมาณ เขาห่วงแต่เพียงว่า จะทำอย่างไรจึงจะมีปริมาณเสนอซื้อที่มากพอที่จะรองรับปริมาณหุ้นที่เขาต้องการจะขายได้

แหม ดูๆไป ไม่ได้ต่างจากหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กๆของไทยเลยนะ มันก็เหมือนกับกับพวกทำราคาหุ้นเก็งกำไรนั่นแหละ

ทำไมเวลาลากต้องลากเว่อร์ๆ? ก็ถ้าเขาไม่ลากขึ้นให้เว่อร์ แล้วเขาจะขายได้ครบปริมาณที่ต้องการขายหรือ แหมๆ ถามได้

กลับมาดูฝรั่งต่อ ....... เมื่อทุกคนเริ่มเวียนหัว มันก็เป็นช่วงเวลาที่เขาทยอยขายได้เกือบครบแล้ว แถมทยอยขายได้ ในราคาที่แพงขึ้นเรื่อยๆซะด้วย เจ๋งป่ะ

ระหว่างทางที่แอบขายกลุ่มนึง ฝรั่งก็จะซื้อโชว์อีกกลุ่มนึงขึ้นไป เพื่อสร้างอารมณ์ความเชื่อมั่นร่วม ศิลปะการขายนี้ เป็นการทยอยขายพร้อมๆกับลากขึ้น พอคนเวียนหัว เริ่ม งง พอคนส่วนใหญ่เริ่มระอา ที่เข้าผิดตัวตลอด คราวนี้ เขาก็จะขายแบบไม่ลากอะไรขึ้นแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่า ตลาดเริ่มคึกแล้ว เดี๋ยวเราจะไปตั้งรับออร์เดอร์ที่เขาขายใส่ลงมาให้เอง

ในเมื่อเรารู้เขาแล้ว เรามารู้เรากันมั่งดีกว่า

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่หุ้นเริ่มฟื้น ไม่ว่าหุ้นนั้นจะเป็นหุ้นเล็กเก็งกำไร หรือ หุ้นพื้นฐานดีมีฝรั่งขับเคลื่อนก็ตาม หากเงินเพิ่งเริ่มออกสตาร์ท ต้องซื้อตามเกาะกระแสเข้าไปก่อน อย่ารีรอ

และเมื่อไหร่ที่ยิ่งคึก เมื่อไหร่ที่ขวัญกำลังใจมากันแบบตื่นเต้นสนุกสุดขีด เมื่อนั้น น่าจะเป็นจังหวะขายซะมากกว่า ทั้งนี้ แนวรับแนวต้านตามกราฟจะช่วยได้มากครับ

www.ThaiDayTrade.com

Friday, September 25, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 5 : วิ่งไปตามแนวโน้ม

“จงวิ่งไปในที่ที่ "แนวโน้ม" กำลังจะไป” …….. วิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) รายใหญ่ต่างยกนิ้วให้ว่าเป็น "เสือ" ในวงการหุ้น ตัวจริง

นักลงทุนมากหน้าหลายตา ทั้ง ขาใหม่ ขาจร ขาประจำ พากันทยอยเข้าห้องค้า เพื่อเตรียมซื้อขายหุ้น

“วันนี้ มีข่าวอะไรมั่ง” ประโยคฮิตที่ได้ยินบ่อยในห้องค้า

“วันนี้ ตลาดจะเป็นยังไง” นี่ก็ฮิตติดชาร์ตเลยแหละ

แต่ 2 ประโยคนี้ เราจะไม่ได้ยินเลยจากเซียนหุ้นพันล้าน ที่มานั่งเงียบๆอยู่ภายในห้อง VIP

เงินฟรี ไม่มีในโลก ครับ นักลงทุนมืออาชีพ ล้วนทำการบ้านเตรียมมาเป็นอย่างดี ก่อนที่ตลาดจะเปิด

การทำการบ้านล่วงหน้า ทำให้เซียนหุ้น เห็นภาพตลาดชัดเจน เห็นหุ้นเด่นที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะเล่นได้ชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดจุดเข้า กำหนดจุดออก รวมทั้งจุดหมอบ (หากพลาดท่า) ไว้ล่วงหน้า……ทำให้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดถูกกำหนดขึ้นมา ก่อนที่ตลาดจะเปิดด้วยซ้ำ

นักลงทุนมืออาชีพ เขากำหนดจุดเข้าจุดออกอย่างมีแบบแผน ไม่ได้นึกอยากขายราคาไหนก็ขาย อยากซื้อที่ราคาไหนก็ซื้อ

ต่างจากคนส่วนใหญ่ที่ขาดทุนยังไง …….. เดี๋ยวเราไปแอบฟังกัน ว่าคนส่วนใหญ่เหล่านั้น มีวิธีคิดเรื่องราคาซื้อ ราคาขาย ยังไง แล้วเดี๋ยวค่อยตามไปดูกันภายหลังว่า รายใหญ่ กับ เซียนหุ้นระดับมืออาชีพ เขามีวิธีคิดเรื่องราคาซื้อ ราคาขาย ต่างจากคนส่วนใหญ่อย่างไร

“หุ้นตัวนี้มันขึ้นมาจาก 3 บาทนะ นี่ 4 บาท แล้ว ไม่ซื้อหรอก แพงแล้ว เสียเปรียบพวกต้นทุน 3 บาท”

“หุ้นตัวนี้ เคยอยู่ 4 บาท นี่ ลงมาถึง 3 บาทแล้ว ได้ของถูก ต้องซื้อ ต้องซื้อ ได้เปรียบพวกต้นทุน 4 บาทตั้งเยอะ”

“หุ้นตัวนี้ ขายไปแล้วที่ราคา 4 บาท จะให้ซื้อที่ราคา 4.04 บาท ไม่มีทาง รอให้มันลงมาต่ำกว่าที่ขายก่อนถึงจะซื้อ”

“หุ้นตัวนี้ เพิ่งซื้อมาในราคา 5 บาท จะให้ขายที่ราคา 4.80 บาท ไม่มีทาง”

แหม ถ้าผมเป็นผู้กำหนดราคาตลาด ผมก็คงคิดและทำแบบนั้นเหมือนกัน

คนส่วนใหญ่ในตลาด มักกำหนดราคาที่จะซื้อหรือขาย เสมือนเป็นผู้กำหนดหรือควบคุมราคาหุ้นได้อย่างเด็ดขาด …. ไม่รู้แหละ ไม่ได้ราคานี้ ก็จะไม่ซื้อ ไม่ได้ราคานี้ก็จะไม่ขาย

ผลของการไม่ได้ทำการบ้านมาล่วงหน้า แล้วเที่ยวมากำหนดราคาซื้อราคาขายเอาเอง ตามอำเภอใจ เราเลยเห็นคนส่วนใหญ่ มีอาการแบบนี้บ่อยๆในห้องค้า ใช่ไหมครับ

เวลาหุ้นขึ้นๆๆๆๆ กลับนั่งเครียดซึมเศร้า เพราะไม่มีหุ้นติดมือเลย ขณะที่คนอื่นเขาเฮฮา ตบไม้ตบมือ แล้วมานั่งบ่นว่า รู้งี้ สัปดาห์ที่แล้วน่าจะซื้อ ไม่งั้นป่านนี้ กำไรบานเลย

เวลาหุ้นลงๆๆๆๆ ก็เครียดอีก เพราะหุ้นลงมาให้ซื้อ จนติดไม้ติดมือเต็มไปหมด เกะกะน่ารำคาญ ตั้งซื้อราคาไหนที่ว่าถูก ก็ได้หมด จนเงินหมดไม่มีให้ซื้อแล้ว ราคายังไม่ยอมหยุดไหลเลย ขณะที่เซียนหุ้นที่กำหนดจุดเข้าจุดออกไว้ล่วงหน้า กำลังนั่งเลือกหุ้นถูกๆอยู่ ว่าจะซื้อตัวไหนดี

เซียนหุ้นที่อยู่ในตลาดมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก หลายท่านด้วยกัน ล้วนเปิดเผยตรงกันโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนครับ

“ผมไม่เคยจำราคาด้วยซ้ำไป ว่าผมซื้อราคาไหน ขายราคาไหน ผมดูแต่แนวโน้ม ตราบใดที่หุ้นยังมีแนวโน้มขึ้น ผมก็ซื้อตามขึ้นไปเรื่อยๆล่ะครับ และถ้ามันเปลี่ยนกลายเป็นแนวโน้ม ขาลง ผมขายทิ้งหมด” เสียงเซียนหุ้นออกมาเหมือนกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งๆที่สัมภาษณ์ต่างคน ต่างกรรม ต่างวาระ

การทำการบ้านมาล่วงหน้า มันมีคุณค่าคุ้มค่าเหนื่อยมากเลยครับ เงินฟรี ไม่มีหรอก อย่าไปรอ นั่งขอหวยจากโบรกเกอร์

ผมเองลองทำตามที่จอมยุทธ์ในวงการหุ้นสอนสั่งเหมือนกัน ผมเลือกหุ้นผิดเป็นประจำเลยล่ะครับ แหะๆ ถูก 5 ครั้ง ผิด 5 ครั้ง เสมอเลย

แต่เวลาผมผิด ผมเสียหายน้อยมากๆ …… ถ้าเล็งจุดซื้อไว้ดีแล้ว ยังลงได้ ผมก็ยอมรับว่า ผิดคาดพลาดท่า ขายทิ้งลิมิตผลขาดทุน ไม่ให้บานปลาย

แต่ถ้าผมเข้าซื้อแล้วมันขึ้น ผมจะปล่อยกำไรวิ่งไปเรื่อยไม่ขวางทางมัน บางตัวสามารถทำกำไร ได้ 5-10% ภายในวันได้เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถูก 5 ผิด 5 ก็รวยแล้วล่ะครับ ดีกว่ากำหนดราคาซื้อ กำหนดราคาขายเอง ตามอำเภอใจมั่วซั่ว

แล้วเราจะเริ่มการบ้านกันที่จุดไหนดี?

อันนี้ ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละท่านนะ แต่ถ้าเป็นผม ผมจะเริ่มจากการดูโวลุ่มก่อน เพราะผมถือว่า หุ้นตัวไหนมีปริมาณการซื้อขายเยอะ แสดงว่า หุ้นตัวนั้น มีการกระจุกตัวของราคาแล้วล่ะ จะเรียกว่า “เจ้าเข้า” ก็ได้

ทำไม ผมถึงให้ความสำคัญของโวลุ่มล่ะครับ แหะๆๆ ขอแซวตลาดหลักทรัพย์หน่อยเหอะ ที่บอกว่า “การลงทุนต้องมีหลักการ”

ไหนๆจะถอดรหัสลับตลาดหุ้นกันแล้ว ผมขอแก้หน่อยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ไหมครับ

“การลงทุนต้องมีเจ้ามือ”

ไม่มีผู้นำมาไล่ซื้อขึ้น แล้วอยู่ๆ มันจะขึ้นไปเองมากๆได้ยังไง เพราะใครๆก็อยากซื้อถูกด้วยกันทั้งนั้นแหละ

หุ้นทุกตัวในตลาด ล้วนมีเจ้ามือทั้งนั้นครับ อย่ามาทำเป็นแยกแยะหน่อยเลย ว่านี่หุ้นปั่นของรายใหญ่ นี่เป็นหุ้นปั้นของกองทุน และนั่นเป็นหุ้นพื้นฐานดี ฝรั่งเลยรีบแย่งกันซื้อ

ดังนั้น หากท่านเกาะเงินของเจ้ามือขึ้นไปได้ ท่านก็กำไรสถานเดียว

อ้าว แล้วตัวไหนล่ะ ที่เจ้ามือเข้าสถิต ….. นี่ไงครับ ที่เราจำเป็นต้องทำการบ้าน

การทำการบ้านเลือกหุ้นที่จะเข้าซื้อ มันก็เหมือนกับการเลือกรถเมล์ว่าจะขึ้นรถเมล์สายอะไร ที่จะพาเราไปถึงที่หมายปลายทางได้

ตอนที่พวกเราเป็นเด็กนักเรียน ถ้าเราจะไปโรงเรียน เราจะขึ้นรถเมล์สายหนึ่ง แต่ถ้าเราจะไปบ้านเพื่อนที่ลาดพร้าว เราก็จะขึ้นรถเมล์อีกสายหนึ่ง และถ้าวันไหน เรานัดไปเที่ยวสวนสยามกับเพื่อน เราก็จะต้องเช็คดูก่อน ใช่ไหมครับ ว่าจะไปสวนสยามต้องขึ้นรถเมล์สายไหน จนกระทั่งเราโตมา เราก็ยังต้องเลือกอยู่ดี ว่าหากจะไปบ้านแฟนคนที่สี่ จะต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร หรืออยากจะไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่สนามหลวง แต่ดันไปขึ้นรถที่จะไปปากเกร็ด ก็คงไม่ได้ร่วมชุมนุมกับเขาแน่

เมื่อเราเลือกได้แล้วว่าจะต้องขึ้นรถเมล์สายไหน เราก็ต้องมาเลือกอีกว่าจะขึ้นคันไหน

รถเมล์บางคัน จอดเข้าพัก รอเข้ากะในรอบต่อไป คนขับขอตัวไปนอนก่อน ในขณะที่ รถบางคัน คนขับรถมัวแต่ วอร์มอัพ ปรึ้นนนนๆๆ อยู่นั่น ไม่ไปซะที ลีลาเยอะ ถ้าเป็นเราๆท่านๆ ก็คงอยากขึ้นคันที่คนขับสตาร์ทพร้อมแล้ว กำลังจะขับออกไปเดี๋ยวนี้แล้ว เท่านั้น ใช่ไหมครับ

ก็เหมือนกันแหละ หลังจากที่เราทำการบ้านหลังตลาดปิด เลือกหุ้นที่กราฟสวยๆมาได้แล้ว เช่น หุ้นตัวนั้นเกิด Golden cross หุ้นตัวนี้ มี Buy signal ได้แนวรับแนวต้านมาเรียบร้อยแล้ว 4-5 ตัว คราวนี้ เราก็ต้องมาดูในชั่วโมงเทรดแล้วล่ะครับ ว่าตัวไหนจะพร้อมวิ่งก่อนกัน

หลังจากที่ตลาดเปิดไปได้ไม่นาน หากหุ้น 4-5 ตัวนั้นที่เราเลือกมา ตัวไหนมีโวลุ่มทะลักเข้ามามาก หรือ บางท่านอาจจะเรียกว่า “โวลุ่มเอ้าท์เพอฟอร์ม” สอดคล้องไปกับการขึ้นของราคา ก็ตัวนั้นแหละ ที่กำลังจะวิ่งแรง

หากโวลุ่มไม่มา ราคาไม่ขึ้นหรอกครับ แม้กราฟจะสวยรอไว้ล่วงหน้าแล้วขนาดไหนก็ตาม

พอมาถึงตรงนี้ เกิดคำถามขึ้นมาในทันที ใช่ปล่าวครับ “แล้วเราจะดูจากไหนล่ะ ว่าโวลุ่มเข้า เจ้ามือมา?”

สมมุติว่า ตลอด 4-5 วันที่ผ่านมา หุ้นที่เราหมายตา เทรดทั้งวันเฉลี่ยเพียง 4 แสนหุ้นเท่านั้น แต่มาวันนี้ หลังตลาดเปิดเพียง 5 นาที volume ปาเข้าไปแล้ว 1 ล้านหุ้นแล้ว ก็แสดงว่า เจ้ามือเข้าแล้ว เจ้าของลุยแล้ว

แน๊ะ มีคำถามเกิดขึ้นอีก “อ้าว แล้วอย่างนี้ ไม่ใช่แมงเม่าบินเข้ากองไฟหรอกหรือ?”

แมงเม่าบินเข้ากองไฟ มันหมายถึง ตามแห่นะครับ เห็นตัวไหนวิ่งดี ก็วิ่งเข้าตาม วิ่งซื้อทัน แต่วิ่งออกมาไม่ทัน

ความต่างระหว่าง “เล่นถูกตัวถูกเวลามาพร้อมกับเจ้า” กับ “ตัวไหนซิ่ง วิ่งเข้าใส่” แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยนะครับ

เดี๋ยวให้ดูหุ้นตัวหนึ่งแล้วกัน ….. หลังจากที่เราทำการบ้านมาแล้ว พบว่า หุ้น XYZ ปิด 3.94 บาท แนวรับ 3.92 แนวต้าน 3.98 และแนวต้านถัดไป 4.24 บาท

ถ้าหลังจากตลาดเปิดได้ไม่นาน ปรากฏว่า ราคาเปิดของหุ้น ไปเปิดที่ 4.02 แถมมีโวลุ่มทะลักเข้ามาอีก แบบนี้ แสดงว่า เจ้าเข้าแล้ว และผ่านแนวต้านได้แล้วด้วย แบบนี้เราต้องซื้อตามน้ำนะครับ เพราะมันกำลังวิ่งขึ้นไปหาแนวต้านถัดไปที่ 4.24 …….. ถึงใครต่อใคร จะหาว่าซื้อแพง แต่ ประเด็นคือ ถ้าสามารถขายได้แพงกว่า ก็น่าซื้อ

สมมุติให้ดูในอีกทางนึงแล้วกันนะครับ หากวันนั้นฟ้าฝนไม่เป็นใจ เปิดตลาดที่ราคา 3.94 แล้ววิ่งด่วนจี๋ไปชนแนวต้านที่ 3.98 จากนั้น ก็ชนแล้วชนอีก เจอขายขวางวางอยู่เรื่อยเลย กรณีนี้ ถึงแม้จะมีโวลุ่มทะลักเข้ามา ก็ไม่น่าซื้อตาม เพราะมันไม่ผ่าน เพราะไม้หน้าสามจากผู้ที่ซื้อเก็งกำไรดักไว้ตั้งแต่เมื่อวาน กำลังรอดักตีหัวแมงเม่าอยู่

ลองตรวจเช็คกันดูนะครับ ว่าเรามีการทำการบ้านมาดีพอหรือยัง และ เราใช้ข้อมูลเดียวกันกับมืออาชีพหรือเปล่า ในการทำมาค้าขายหุ้น

www.ThaiDayTrade.com

Thursday, September 24, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 4 : ยิ่งไม่กล้าเสี่ยง กลับยิ่งเสี่ยง

“ผมถือว่า "เหนือฟ้ายังมีฟ้า บนสวรรค์มีไม่รู้ตั้งกี่ชั้น แต่เวลาลงนรกก็มีไม่รู้ตั้งกี่ขุมเช่นกัน จะไม่มีคำว่าถูกว่าแพงในตลาดหุ้น" ………… วัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) นักลงทุนรายใหญ่มืออาชีพ

ความเสี่ยงที่สุดในชีวิต ของการที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย

หลายครั้งมาก ที่จุดที่ดีที่สุดในการซื้อ คือ จุดที่ไม่มีใครอยากซื้อ และ จุดที่ดีที่สุดในการขาย คือ จุดที่ไม่มีใครอยากขาย

หากราคาหุ้นขึ้นไปแรงเกินเหตุ บางทีก็น่าเสี่ยงขายนะครับ และถ้าหุ้นนั้นมีปัจจัยพื้นฐานดีแต่ลงมาเกินเหตุเพราะตลาดไม่ดี และราคาหุ้นก็หยุดการไหลลงได้แล้ว ก็น่าเสี่ยงซื้อเช่นกัน

ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง คนกลุ่มแรกที่จะซื้อหรือขายหุ้นก่อนเสมอ คือ เจ้าของ หรือ ผู้บริหาร ซึ่งรู้แนวโน้มของกิจการตัวเองก่อนคนอื่นอยู่แล้ว ว่ากำลังจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น ……… ในช่วงนี้ ไม่มีใครเข้าใจหรอกครับ ว่าทำไมหุ้นขึ้น หรือ ทำไมหุ้นลง

คนกลุ่มต่อมาที่จะซื้อหรือขาย ในขณะที่หุ้นยังขึ้นหรือลง ไม่มากนัก ได้แก่กลุ่มรายใหญ่ กลุ่มกองทุน ซึ่งกลุ่มนี้ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาอย่างใกล้ชิด และพยายามเกาะแนวโน้มตลอดเวลา

เมื่อคนกลุ่มนี้ ซื้อหรือขาย ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ ที่จะต้องอธิบายปรากฏการณ์ หาเหตุผลมาใส่ให้ได้ ว่าทำไมหุ้นถึงขึ้นหรือทำไมหุ้นถึงลง

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ สื่อ และ ข้อมูลตามเว็บบอร์ด จะออกมาขยายผล จนข่าวนี้ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป

เมื่อแรงซื้อของกลุ่มคนจำนวนมาก มาแย่งกันซื้อ คนส่วนใหญ่ก็จะมาช่วยกันผลักราคาให้ขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่ตั้งขายอยู่ ก็รีบถอนที่วางขายออก เพราะกลัวว่า ขายแล้ว เดี๋ยวมันจะขึ้น ทั้งๆที่ราคานี้อาจจะวิ่งรอข่าวดีนั้นมาเป็นเดือน จนเกินปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นแล้วก็ได้ กว่าจะรู้ตัวอีกที อ้าว ราคากลับมาเท่าทุนซะแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ครับ เมื่อแรงขายของกลุ่มคนจำนวนมาก มาแย่งกันขาย คนส่วนใหญ่ก็จะมาช่วยกันผลักราคาให้ลงไปเรื่อยๆ คนที่ตั้งซื้ออยู่ ก็รีบถอนที่วางซื้อออก เพราะกลัวว่า ซื้อแล้ว เดี๋ยวมันจะลง ทั้งๆที่ราคานี้อาจจะไหลลงรอรับข่าวร้ายนั้นมาเป็นเดือน จนเกินเหตุกว่าที่ควรจะเป็น แล้วก็ได้ กว่าจะรู้ตัวอีกที อ้าว วิ่งขึ้นไปไหนต่อไหนซะแล้ว

เคยเห็นบ่อย ใช่ไหมครับ ผลประกอบการออกมาแย่ หุ้นกลับดีดขึ้นทันที แต่พอผลประกอบการออกมาดี ราคาหุ้นดันร่วงลงซะอย่างงั้น

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พี่คนหนึ่ง เธอเล่าให้ผมฟังว่า จะซื้อหุ้นบริษัท ABC เพราะญาติเธอเป็นผู้บริหารอยู่ในบริษัทนี้ บอกเธอมาว่า บริษัทกำลังจะได้งานประมูลเป็นหมื่นล้าน

ผมเองก็หูผึ่งเลยล่ะ ไปดูกราฟหุ้นประกอบ ก็เห็นดีเห็นงามด้วย โครงสร้างกราฟมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นเห็นๆ ถึงมันจะขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งครึ่งเดือนก็ยังไม่เห็นว่าแนวโน้มการขึ้นจะชะลอตัวลงเลย เออ แหะ ท่าทางจะเป็นจริง อย่างที่พี่บอก

“อ้าว เธอซื้อแล้วหรอ พี่ยังไม่ได้ซื้อเลย พี่เห็นว่ามันขึ้นมามากแล้ว อยากจะรอให้ลงมาที่เก่าก่อน แล้วเดี๋ยวพี่จะซื้อ” พี่เธอให้เหตุผลประกอบ เพราะเธอมองว่าเสี่ยงไปที่จะมาซื้อตอนนี้ แบบว่า ราคามันขึ้นมามากแล้ว

ตลอดเวลา 3 สัปดาห์นับจากนั้น ราคาหุ้นไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาหาพี่อีกเลย จนคนทั้งตลาดเริ่มให้ความสนใจ นักวิเคราะห์ก็รีบทำการเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทนั้นในทันที แล้วก็ออกมาแนะนำให้ซื้อหุ้น ABC เพื่อเก็งกำไรข่าวการได้งานโครงการใหญ่

พี่สาวคนสวยของเรา ถึงจะยอมปรับราคาขึ้นมานิดนึง ตามคำแนะนำซื้อเก็งกำไรที่ได้ยินมาแล้ว แต่ราคาก็ยังไม่มีทีท่าจะอ่อนตัวลงมารับพี่อีกเลย แม้พี่จะใช้ความพยายามในการปรับราคาขึ้นทีละนิดครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม

ในที่สุด วันตัดสินใจก็มาถึงครับ หนังสือพิมพ์หุ้น 3 ฉบับ ต่างพาดหัวข่าวตรงกัน ว่าพรุ่งนี้ จะรู้ผลการประมูล แล้วมีการคาดการณ์กะเก็งกันว่า บริษัท ABC จะได้งานแน่ๆ ...... ราคาหุ้นก็ยิ่งเพิ่มความร้อนแรง กระโดดขึ้นทะยานไกล ไปแบบเร่งรีบ ในที่สุด ด้วยความกลัวตกรถ พี่สาวก็ตัดสินใจเคาะซื้อเดี๋ยวนั้น ในทันที

วันรุ่งขึ้น ผลประมูลงานใหญ่ออกมา บริษัท ABC ได้งานไปจริงๆด้วย ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกมุมนึง ผมกลับมองว่า นี่เก็งกำไรกันขึ้นมา จนราคาเว่อร์ไปแล้ว เลยขายเอากำไรออกมาก่อน ขายทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ในตลาดที่เพิ่งทราบข่าวดีจากทางหน้าหนังสือพิมพ์กำลังอยากซื้อนั่นแหละ

“อ้าว เธอขายแล้วหรอ ทำไมรีบขายล่ะค่ะ บริษัทกำลังมีข่าวดี ทุกโบรกฯก็เชียร์ซื้อกัน พี่ยังไม่ขายหรอก กลัวขายแล้วไปต่อ เดี๋ยวรอให้ได้กำไรมากๆก่อน แล้วค่อยขาย” พี่เธอให้เหตุผลประกอบ เพราะเธอมองว่าเสี่ยงไปที่จะมาขายตอนนี้ ก็บริษัทเพิ่งเซ็นงานโครงการหมื่นล้านไปนี่ มันน่าจะขึ้นต่อ

หลังจากที่ข่าวออก ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปอย่างร้อนแรง แล้วการขายทำกำไรก็ตามมา ดังเช่นขนบธรรมเนียมประเพณีของการเก็งกำไรที่มีมาแต่โบราณกาล

มันเป็นสูตรสำเร็จรูปเลยก็ว่าได้ “ขายเมื่อมีข่าวลือ, ซื้อเมื่อมีข่าวจริง” ถ้าอยากจะอินเตอร์หน่อย ก็ต้องบอกว่า “Buy on Rumor, Sell on Fact”

“เธอ พี่ยังไม่ได้ขายออกไปเลย ตอนนี้มันกลับมาที่ราคาที่พี่ซื้อแล้วอ่ะ เดี๋ยวมันคงขึ้นเนาะ บริษัทนี้ถือลงทุนได้ ปัจจัยพื้นฐานดี” ...... พี่เธอปลอบตัวเอง พูดเองคิดเองเออเอง และรอคอยวันนั้นมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

ถ้าหุ้นมีแนวโน้มจะขึ้น แพงแค่ไหน ก็น่าเสี่ยงซื้อครับ หากพลาดขึ้นมา ก็แค่ขายตัดขาดทุน เสียหายเล็กน้อย ดีกว่าไปไล่ซื้อตอนที่ใครๆก็รู้ข่าวดีนั้น แล้วแย่งกันขาย ออกมาแทบไม่ทัน

ในฝั่งของข่าวร้ายก็เช่นกัน ครับ หากหุ้นนั้นมีข่าวร้ายในทางจิตวิทยารออยู่ และใครๆก็ทราบกัน มันก็จะไหลลงมาเรื่อยๆ ท่ามกลางข่าวร้ายที่ออกมาทางสื่อและมาจากบทวิเคราะห์ หากมันปรับตัวลงมาเว่อร์เกิน ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น กลับน่าหาโอกาสเสี่ยงซื้อมากกว่า

นับตั้งแต่ รัฐบาลของคุณทักษิณ โดนยึดอำนาจ ก็มีคนโยงหุ้นบ้านเอสซี กับ หุ้นดาวเทียม ว่าจะได้รับผลลบเลวร้ายเป็นผลพวงตามมา นับตั้งแต่วันที่แบ็งค์ชาติออกมาตรการสำรอง 30% ก็มีคนมองว่า หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์จะเฉา เน่าสุดขีด

เมื่อทุกคน มองในทางลบ แรงขายก็ตามมา หนักหน่วงต่อเนื่อง จนบางที ก็ลงมาเกินเหตุนะครับ จริงอยู่ เวลาที่กระแสข่าวร้ายกำลังมาแรง เราก็ไม่ควรจะทำเก่ง พายเรือทวนน้ำ ให้เรือล่ม แต่เมื่อโอกาสเข้าเก็บมาถึง มันก็น่าเสี่ยง

ไม่ซื้อตอนที่คนส่วนใหญ่กลัว จะไปซื้อตอนที่คนส่วนใหญ่มั่นใจสุดขีด ก็จะยิ่งเสี่ยงกว่า

“ท่านครับ ทำไมท่านซื้อหุ้นบ้านเอสซี กับ หุ้นดาวเทียม เขาว่ากันว่า หุ้น 2 ตัวนี้ เจอพิษการเมืองอยู่ไม่ใช่หรอครับ แล้วบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ด้วย ท่านซื้อทำไมครับ เห็นเขาว่าตลาดซบเซาอย่างงี้ โบรกเกอร์เจ๊งระนาว” ผมไปเจ๊าะแจ๊ะ กับเซียนหุ้นชั้นครูท่านหนึ่ง ถามท่านตรงๆเลย จนท่านแทบจะสำลักกาแฟ

“มันลงมาสุดแล้ว ผมก็ซื้อ” ผมยัง งง อยู่ดี ท่านรู้ได้ไงล่ะเนี่ยะว่าลงมาสุดแล้ว

“ก็คุณดูหน่อยสิ ไม่เห็นรึไง หุ้น 3 ตัวนี้ มันนิ่งแล้ว ไม่มีคนอยากขายแล้ว ก็แสดงว่า ราคาหุ้นต่ำเกินไปแล้วไง ไม่มีใครอยากขายแล้วที่ราคานี้ไง เข้าใจไหม” เอาล่ะ ผมพอจะเข้าใจ แต่ลาท่านไปก่อนดีกว่า ท่านกำลังใช้สมาธิอยู่กับหุ้น เดี๋ยวเจ็บตัวเปล่าๆ

ปรากฏการณ์ที่พบเห็นบ่อยในห้องค้า คือ นักลงทุนส่วนใหญ่ จะขึ้นเครื่องหมายแบล็คลิสต์ให้กับหุ้นที่มีข่าวร้าย แล้วท่องแต่ข่าวร้ายนั้นๆ จนลืมดูไปว่าราคาหุ้นได้ลงมารับข่าวร้ายจนเกินเหตุแล้วหรือยัง ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนส่วนใหญ่ จะยอมจ่ายค่าความนิยมให้กับหุ้นที่มีข่าวดี แล้วท่องแต่ข่าวดีนั้นๆจนขึ้นใจ จนลืมดูไปว่าราคาหุ้นได้ขึ้นมารับข่าวดีไปมากเกินพอแล้วหรือไม่

คนส่วนใหญ่ จึงมักต้องซื้อเป็นคนท้ายๆและขายเป็นคนท้ายๆเสมอ เพราะไม่ได้ทำการประเมินไว้เลย ว่าราคาหุ้นได้ซึมซับข่าวดีหรือข่าวร้ายนั้น มากพอแล้วหรือยัง

และที่แปลกแต่จริง ...... เวลาราคาหุ้นลงมามากจนนิ่งแล้ว ก็ไม่กล้าซื้อ เพราะมองว่า เสี่ยงเกินไปที่จะซื้อหุ้นตัวนี้ เห็นเขาว่าไม่ดี พอขึ้นไปมากแล้ว ก็ไม่กล้าขาย เพราะมองว่า เสี่ยงเกินไปที่จะขายหุ้นตัวนี้ เห็นหุ้นกำลังขึ้น

จะทำอะไรก็กลัวเสี่ยง เลยเสี่ยงหนักเลยล่ะคราวนี้ ซื้อก็ช้ากว่าเขาแล้วยังจะขายช้ากว่าเขาอีก

เมื่อคิดจะทำการค้าหุ้น ต้องตัดสินใจไว และ กล้าเสี่ยงครับ

เพราะความไม่ยอมเสี่ยงกับอะไรเลย อาจจะเป็นความเสี่ยงที่สุดในชีวิต

www.ThaiDayTrade.com

Wednesday, September 16, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 3 : ยิ่งถูกยิ่งซื้อ ยิ่งซื้อยิ่งลง

"การจะเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวใด จะไม่ใช้หลักการว่า ราคาหุ้นยังซื้อขาย ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี และ P/E แล้วจึงเข้าไปลงทุน เพราะหากบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดีจริง เหตุใดราคาหุ้นจึงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมูลค่าทางบัญชีและ P/E" …….. สมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ (เสี่ยแตงโม) เซียนหุ้น หาดใหญ่ จาก "ช่างตัดผม" ผันสู่ นักลงทุน "พันล้าน"

การเล่นหุ้น มันก็คือการค้าขาย ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า Stock trading แต่ไฉน พอแปลเป็นไทย กลายเป็น เล่นหุ้น ไปได้

ในเมื่อเราจะหาหุ้นมาขาย ก็ถูกแล้วครับ ที่จะต้องหาซื้อหุ้น ที่จะขายได้แพงกว่าต้นทุน มันถึงจะมีกำไร

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น สำหรับ นักธุรกิจมืออาชีพ ก็คือ ต้องมองให้ออก ว่า เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ หรือ สินค้าเหล่านั้น ตกรุ่นหรือยัง

ถ้าคนหมดความนิยม แฟชั่นล้าสมัย มีสินค้ารายใหม่ที่น่าสนใจกว่าเข้ามาแข่ง ของที่เคยขายได้แพง ก็จะราคาตก

โทรศัพท์มือถือ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สมัยที่โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกๆ เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ อาจจะเครื่องละ 8 หมื่นก็ได้ แต่ถ้าเอารุ่นนั้น มาขายให้ท่านตอนนี้ ในราคา 20,000 บาท ท่านจะซื้อไหมครับ …………. อย่าว่าแต่ 20,000 เลย 500 ผมยังไม่ซื้อเลยนะ

เวลาหุ้นลง เห็น อากง อาม่า หรือ แม้กระทั่ง เด็กจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ ชอบถามหาแนวรับจัง คนไทยเนี่ยะเป็นนักช๊อปปิ้งอันดับต้นๆของโลกเลย ซื้อเก่ง แต่ขายไม่เป็น ชอบซื้อ แต่ลังเลอิดออดที่จะขาย

เวลาสินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ราคาแพง ก็ไม่กล้าซื้อ เพราะจะรอซื้อถูก พอตกรุ่นขึ้นมา กลับแย่งกันซื้อจริงๆ ซื้อแล้วจะไปขายใครล่ะครับ

แล้วพวกเรารู้กันหรือปล่าวครับ ว่าตอนหุ้นตก มันจะตกไปถึงตรงไหน หลายท่านกลัวจะไม่ได้ซื้อราคาถูก จนลืมคิดไปว่าจะขายได้แพงกว่าที่ซื้อหรือไม่ ส่วนนักวิเคราะห์ ก็หาแนวรับมาให้ได้เรื่อยแหละ

หุ้นบริษัทเดินเรือฝรั่ง เป็นหุ้นพื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง ……. สมัยรุ่งเรือง มันก็เติบโตสดใส ราคาขยับไปไกลถึง 60 บาทกว่า

เมื่อมันขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ค่าระวางเรือถดถอย เทศกาลขายทำกำไรก็เกิดขึ้น

นักวิเคราะห์ออกมายกยอ สรรหาเหตุผลสารพัด แม่น้ำทั้งห้า โขง ชี มูล เจ้าพระยา ท่าจีน ถูกชัก มาบรรยายให้เห็นคุณงามความดีของหุ้นเดินเรือ พร้อมบอกว่า ราคาลงมาที่แนวรับ 55 บาท ถือเป็นโอกาสในการซื้อ พวกเราก็เข้าไปตั้งซื้อที่ 55 หวังว่าจะเอาไปขายที่ 60 กว่าบาท

หลังจากซื้อแล้วลงอีก นักวิเคราะห์บอกว่าแนวรับถัดไปอยู่ที่ 50 บาท ถือเป็นโอกาสในการซื้อ พวกเราก็ไปตั้งซื้อที่ 50 เพราะหวังว่าต้นทุนถัวเฉลี่ยจะได้ลดลงหลังจากซื้อแล้วลงอีก นักวิเคราะห์บอกว่าแนวรับถัดไปอยู่ที่ 45 บาท ถือเป็นโอกาสในการซื้อ พวกเราก็ไปตั้งซื้อที่ 45 เพราะหวังว่าต้นทุนถัวเฉลี่ยจะได้ลดลงมากๆ

หลังจากซื้อแล้วยังลงอีก นักวิเคราะห์บอกว่าแนวรับถัดไปอยู่ที่ 40 บาท ถือเป็นโอกาสในการซื้อ หุ้นตัวนี้ พื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง พวกเราก็จำขึ้นใจ “พื้นฐานดี พีอีต่ำ ปันผลสูง” แล้วก็พากันไปตั้งซื้อที่ 40 เพราะหวังเห็นว่า มันลงมามากแล้ว

พอราคาลงมาใกล้ 25 บาท นักวิเคราะห์ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ครั้นจะเสี่ยงซื้อ ก็ไม่มีเงินซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนซะแล้ว

พอหลุด 25 บาท ลงมา นักวิเคราะห์คนเดิมกลับมาอีกครั้ง พร้อมบอกว่า อ้อ หุ้นเดินเรือตัวนี้ เราปรับประมาณการลงแล้ว เปลี่ยนคำแนะนำเป็น “ขาย” …. แป่ววว Blah Blah (ฮาไม่ออกเลยคราวนี้)

หลังจากขายทิ้งไปได้ไม่นาน หุ้นเดินเรือตัวนั้น กลับเดินหน้าขึ้นรอบใหม่ อย่างต่อเนื่อง อีกต่างหาก

ป๋าบุญชัย พร่ำสอนมาตลอด เวลาหุ้นลง ไม่ต้องมาถามหาแนวรับ เวลาหุ้นลง ไม่ต้องมาถามว่าจะซื้อจุดไหนดี มันก็กะเก็งกันทั้งนั้นแหละ เก็งว่าตรงนั้น Low เก็งว่าตรงนี้ Low

“มันทำ low เมื่อไหร่ แล้วไม่ วก กลับไปทำ new low ก็นั่นแหละ low จริง ….. รอซื้อ ตอนมันฟื้นตัว ยังถูกกว่าซื้อถัวมาตลอดทาง” ป๋าบุญชัย อดีตเทรดเดอร์มือทองกองทุนข้ามชาติ ร่ายกลยุทธ์การซื้อหุ้นถูกจังหวะตามแบบฉบับรายใหญ่ในตลาดให้ฟัง

ง่ายไหมครับ เล่นหุ้นสไตล์ป๋าบุญ ถ้าลง ก็ปล่อยมันลงจนสุดก่อน พอฟื้นตัว เข้าซื้อแพงกว่า Low นิด ก็ยังไม่สาย

แต่ไม่วายได้ยินคนบ่น “ไม่ซื้อหรอก ถ้าไม่ได้ราคา low” ….. โถ เวรกรรม จ้องจะซื้อที่ Low ให้ได้ ว่างั้น

แล้วทำไม เซียนหุ้นพันล้านไม่ชอบซื้อของถูก เวลาที่มันกำลังไหลลงกันล่ะ เดี๋ยวย่องๆ ไปห้อง VIP ของห้องค้าหลักทรัพย์กัน ผมอยากจะไปสอบถามแนวคิด

“อ้าว คุณ ถ้าเมื่อไหร่ ยิ่งซื้อหุ้น ยิ่งได้ของถูก ยิ่งซื้อ ต้นทุนยิ่งลดลง ซวยเลยนะ แสดงว่า เราผิดแล้ว แย่แล้ว ไม่ดีแล้วล่ะ นั่นแหละ หุ้นหมดรอบแล้ว กำลังลดราคาล้างสต๊อค” …. เสี่ย “ม.” เซียนหุ้นพันล้าน ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม พูดดังฟังชัด สอนสั่งกบในกะลาอย่างผม

นี่คือ ความต่างระหว่างพ่อค้าหุ้นที่ยิ่งใหญ่ กับ พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่สมัครเล่น จริงๆ

ยังมีนักลงทุนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งครับ ที่ไม่นิยมซื้อหุ้นยอดฮิตที่กำลังดิ่งลงจากที่สูง แต่ชอบแสวงหาหุ้นที่ราคาต่ำเตี้ยติดดิน และ มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยคิดว่า ซื้อของได้ถูกกว่ามูลค่าทางบัญชี แล้วรอคอยด้วยหวังว่า สักวันหนึ่ง เดี๋ยวมันก็จะขึ้นมาได้ เพราะที่ผ่านมา ราคามันก็ต่ำพอแล้ว

ความคิดดูเหมือนจะดี แต่เราจะรู้ได้ยังไงครับ ว่าที่ราคาถูก เป็นเพราะคนในตลาดเลิกให้ความสำคัญกับมันไปแล้วหรือยัง

ฟันธงเลยครับ ว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้าซื้อหุ้นที่ราคาลงมามากแล้ว ราคาต่ำเตี้ยติดดินแล้ว และ ราคาหุ้นนั้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีด้วย ล้วนเงินจม หรือไม่ก็เสียหายหนัก ในภายภาคหน้า

ถ้าหุ้นนั้นมีอนาคต เจ้าของเขาไม่เห็นหรอครับ? กองทุนและต่างชาติ รวมทั้งรายใหญ่ ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบบัญชี นายธนาคาร เขาไม่เห็นหรอ?

และถ้าเขาเห็น แล้วอัดฉีดเม็ดเงินกว้านซื้อหุ้นตัวนั้น ราคามันจะไม่กระดิกขึ้น จนแพงกว่ามูลค่าทางบัญชี ในเวลาอันรวดเร็ว หรือครับ

ทำไมไม่มีใครสน? มีอะไรที่ข้อมูลในงบดุล งบกำไรขาดทุน และ งบกระแสเงินสด ยังไม่ได้บอกเรา?

ในโลกนี้ มีเพียงเรา เท่านั้นหรือครับ ที่เล็งเห็นว่า หุ้นตัวนี้ มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

จริงๆแล้ว ผู้จัดการกองทุน หรือ นักลงทุนต่างชาติ หรือ นักลงทุนรายใหญ่ เขาไม่ได้สนด้วยซ้ำไป ว่า ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี มากน้อยขนาดไหน ราคาถูกขนาดไหน เวลาเขาเฟ้นหาหุ้นในดวงใจ เขามองไปที่แนวโน้มของกิจการ เขาไปมองที่อนาคตมากกว่า

หุ้นลงทุนของกองทุนทั้งไทยเทศ จึงมีแต่หุ้นที่ราคาสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีทั้งนั้น เพราะหุ้นมันมี “ความต้องการซื้อ” สูงเกินกว่า ปริมาณหุ้น ที่ผู้ถือหุ้นนั้น ขนออกมาวางขาย ราคาของหุ้นที่ดี มีอนาคต จึงไม่ควรต่ำไปกว่ามูลค่าทางบัญชี

สังเกตง่ายๆ หุ้นตัวไหน ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี มันก็จะต่ำอย่างนั้นตลอดไป ไม่ว่าจะผ่านไปกี่เดือน กี่ปี ก็ตาม

www.ThaiDayTrade.com

Tuesday, September 15, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 2 : Limit Loss ไม่เป็น เงินเย็นหายเกลี้ยง

“ทุกคนที่เจ๊งหุ้นเหมือนกัน คือ ไม่ยอม "Stop Loss" ทำให้ผมเข้าใจว่า ถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง" "ต้องชิงตัดขาดทุน (Cut Loss) เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย” …….. ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม (หมอ ยง)- นักลงทุนรายใหญ่ ของไทย

ถ้าท่านอยากเป็นนักกีฬามืออาชีพ ท่านก็ต้องเข้าหานักกีฬาทีมชาติ ถ้าท่านอยากเป็นนักกอล์ฟ ท่านก็ไม่ควรจะมาถามผม เพราะผมตีกอล์ฟไม่เป็น ถ้าท่านกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ก็ไม่ควรชมภาพยนตร์ที่มีฉากเครื่องบินตก และถ้าท่านอยากเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น ก็ต้องสัมภาษณ์และเรียนรู้ถอดประสบการณ์จากเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จ ใช่ไหมครับ…?

ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสเจอเซียนหุ้น ผมจึงไม่รีรอที่จะถามท่านเหล่านั้นว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นหุ้น

เซียนหุ้นแต่ละท่าน ตอบเหมือนกันทุกคนเลย ยังกะนัดกันมา “สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นหุ้น คือ ต้อง ลิมิตผลขาดทุน เป็น และ หากใครขายขาดทุนไม่เป็น อย่ามาเล่นหุ้น”

ใช่ครับ ซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้น คงไม่ใช่ปัญหา แต่ซื้อหุ้นแล้วลงมา มันขึ้นยากนะครับ คิดง่ายๆว่า ถ้าหุ้นลงมา 50% ก็หมายความว่า มันจะต้องขึ้นไปถึง 100% เชียวนะครับ กว่าจะกลับมาเท่าทุน ถึงจะอ้างว่าเป็นเงินเย็น ไม่ขาย ไม่ขาดทุน ก็เถอะ

ร้อยทั้งร้อยของคนที่เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง เราลองไปสอบถามสำรวจดูสิครับ ล้วนเกิดจากการขายขาดทุนไม่เป็นทั้งนั้นแหละ พอขายขาดทุนไม่เป็น หุ้นที่เราถือไว้ ก็ทุนหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแทบจะไม่เหลืออะไรเลย

ร้อยทั้งร้อยของคนที่เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง ล้วนเคยได้กำไรจากหุ้นกันมาถ้วนหน้าทั้งนั้นครับ แต่ความมั่นใจในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ว่ามันจะกลับมาทำกำไรได้อีก เลยถือไปเรื่อย สุดท้าย กินทุนหมดเกลี้ยง จนกำไรที่หาได้มา ก็ไม่สามารถเอามาทำน้ำยาอะไรได้

มีอีกกรณีหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่ ทำผิดซ้ำๆ พบเห็นบ่อยๆ คือ นอกจากจะไม่ยอมขาดทุนแล้ว ยังซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนลงมาเรื่อยๆอีก อันนี้ ยิ่งเจ๊งเร็วขึ้นเข้าไปใหญ่

ตอนซื้อถัวเฉลี่ยราคา ทุกคนก็ดันทุรังเหมือนๆกันแหละครับ ว่าหุ้นที่ลงมานี้ พื้นฐานดี ยังไงก็ต้องขึ้น สุดท้าย กว่าจะรู้ว่าพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปเป็นหนังเศร้า พอร์ตเราก็เน่าไปซะก่อน ยากเกินจะเยียวยาเลยล่ะ

สอบถาม สำรวจ ผู้คนในห้องค้ามาแล้ว เหตุผล คล้ายๆกันเลยแหะ เอ เราๆท่านๆ ดันทุรัง ด้วยความคิดทำนองนั้น ด้วยหรือเปล่าเนี่ยะ

พี่เกษ ซื้อหุ้นบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง ที่ราคา 64 บาท โดยตั้งใจว่า จะลงทุนระยะยาว เนื่องจากเห็นว่าเป็นโบรกเกอร์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด (ในสมัยนั้น) พอเริ่มขาดทุน พี่เกษ ก็นึกเสียดายที่ตอนมีกำไร ไม่ได้ขาย ครั้นจะให้มาขายขาดทุน ก็ทำใจไม่ได้ เลยเฝ้ารอ เฝ้าหวังว่า เดี๋ยววันหลัง มันคงจะกลับมาที่ราคาเก่าได้ ….. ปัจจุบัน เหลือ 20 กว่า บาท พี่เกษ ขายไม่ลงซะแล้ว

พี่เอก ซื้อหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ซีมีโก้ ที่ราคา 10 บาท ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับพี่เกษ พอขึ้นไป 12 บาท พี่เอกไม่ได้ขาย “กำไรไม่ถึง 2 แสนบาท พี่ไม่ขายหรอก” พี่เอกให้เหตุผล ……. พอวิ่งลงมาเข้าใกล้ทุน พี่เอก ก็ไม่ได้ขายอีก เพราะคิดเข้าข้างตัวเองว่า เดี๋ยวมันต้องกลับมาแน่ๆ เมื่อราคาหุ้นลงมา จนกระทั่งเริ่มกลายเป็นขาดทุนเล็กน้อย พี่เอกก็ยังไม่ขายอีก “แหม ทีกำไรยังไม่ได้ขายเลย จะให้มาขายขาดทุนหรอ” จากนั้น ราคาก็ดิ่งลงเรื่อยๆ ….. ปัจจุบัน ราคาหุ้นเหลือเพียง 3-4 บาท พี่เอก ปล่อยวางเสียแล้ว

พี่เกษ กับ พี่เอก เริ่มเข้าใจแล้วล่ะครับ ว่าหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ จะสวิงขึ้นรุนแรงเว่อร์ๆเสมอ เมื่อปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นกลับมาคึกสุดขีด และ จะเป็นจะตาย หายใจรวยรินทุกครั้ง ที่ตลาดซบเซา แต่บทเรียนนี้ ราคาออกจะแพงไปนิด ผมผิดเองแหละครับ ที่ออกหนังสือเล่มนี้ ช้าไป

เฮียโย่ง เล่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างเพียงกลุ่มเดียว เพราะแกชำนาญในวงการนี้ เฮียโย่งเคยทำกำไรจากการขายหุ้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บริษัท ช. การช่าง ได้ถึง 30% ในเวลาสั้นๆ แกเลยประทับใจเป็นพิเศษ ครั้งหลังสุด ก็หลายปีมาแล้วล่ะ เฮียซื้อหุ้นอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ที่ราคา 11 บาท และ ซื้อหุ้น ช. การช่าง ที่ 26 บาท เพราะเห็นว่าได้งานใหญ่หลายโครงการ ราคาหุ้นน่าจะไปได้ต่อ แต่หลังจากซื้อได้ไม่นาน มันก็ร่วงลงต่อหน้าต่อตา แต่เฮียหาได้หวั่นไหวไม่ เนื่องจาก 2 บริษัทนี้ เป็นเจ้าพ่อในวงการรับเหมาก่อสร้างของไทย ถือไว้ต่อไป เดี๋ยวมันก็คงจะกลับมา ….. ปัจจุบัน ราคาหุ้นอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เหลือเพียง 5 บาท และ ราคาหุ้น ช. การช่าง เหลือเพียง 8 บาท ส่วนเฮียโย่ง เลิกเล่นหุ้นไปแล้ว

เฮียโย่งสูญเสียทั้งกำไรและเงินต้น เพราะเฮียขาดความเข้าใจในเรื่องของ Sell on Fact …. ตอนจะเปิดประมูล ก็มีการเก็งกำไรขึ้นไปรอ มากพอแล้ว ว่าบริษัทนั้น บริษัทนี้ จะได้งานโครงการหลายหมื่นล้าน ดังนั้น ไม่ว่างานประมูลนั้นจะได้มาหรือไม่ก็ตาม กลุ่มคนจำนวนมากที่ซื้อเก็งกำไรรอไว้ ก็จะขายหุ้นทำกำไรออกมาอยู่ดี

คุณอ๊อด เป็นนักลงทุนระยะยาว หลังจากพิจารณาไตร่ตรองจนดีแล้ว ก็เลือกที่จะลงทุนในหุ้นที่ตระกูลของ อดีตท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยความมั่นใจว่า ปลอดภัย 100% ประจวบเหมาะกับช่วงนั้น ตลาดหุ้นดิ่งลง ท่านนายกฯ ก็รีบออกมารณรงค์ด้วยสโลแกน “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” คุณอ๊อดจึงกัดฟันถือเรื่อยมา พร้อมทั้งซื้อลงทุนเข้าไปอีกมากมาย ทุกครั้งที่ราคาหุ้นเหล่านี้ลงต่ำ ด้วยความมั่นใจว่า ลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มนี้ ยังไงก็ไม่เจ๊ง ….. จากราคาแรกที่เข้าลงทุนในหุ้นไอทีวี ที่ 28 บาท หุ้นดาวเทียมชินแซทเทลไลท์ ที่ 20 กว่าบาท และ หุ้น ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ 44 บาท ทุกวันนี้ หุ้นไอทีวีเหลือเพียง 1 บาท แถมถูกห้ามซื้อขายอีก ส่วนหุ้นดาวเทียมชินแซทเทลไลท์ เหลือเพียง 10 กว่าบาท และ หุ้น ชินคอร์ปอเรชั่น ก็ดิ่งลงมาเหลือเพียง 20 บาท เท่านั้น

คุณอ๊อด มีความตั้งใจแรกเริ่มที่จะลงทุนระยะยาว แต่กลับไปเลือกหุ้นระยะสั้น-กลาง ที่ไปผูกติดกับสัมปทานและการเมือง แม้กระทั่งสถานการณ์เปลี่ยนไป ตระกูลชินวัตรขายหุ้นของตระกูลให้กับทางสิงคโปร์แล้ว แต่คุณอ๊อดก็ยังยึดนโยบายเดิม “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ทั้งๆที่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เปลี่ยนมือไปแล้ว ทั้งๆที่การเมืองพลิกกลับตาลปัตร นี่เป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงมาก ที่คุณอ๊อดฝากเตือนพวกเรา

เจ๊ ภา เป็นนักเก็งกำไรตัวยง หุ้นตัวไหน กราฟสวย วิ่งเร็ว อดใจไม่ได้ ที่จะต้องวิ่งตามทุกที มันตื่นเต้นเร้าใจดี เจ๊แกว่างั้น หุ้น แนเชอรัลพาร์ค ต้นทุน 8 บาท เจ๊ก็มี, หุ้น เอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง ต้นทุน 9 บาท เจ๊ก็มี, หุ้น สิงห์พาราเทค ต้นทุน 9 บาท เจ๊ก็มี ….. ปัจจุบันนี้ ยังอยู่ครบทุกตัว ไม่ได้หายไปไหน แต่ราคาในตลาดกลับเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ หุ้นแนเชอรัลพาร์ค เหลือเพียง 20 กว่าสตางค์, หุ้น เอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง เหลือเพียง 3 บาท, หุ้น สิงห์พาราเทค เหลือเพียง 2 บาทกว่าๆ

เจ๊ภา เริ่มด้วยความตั้งใจจะเก็งกำไร แต่พอซื้อแล้วลง เจ๊จะเสียดาย ไม่อยากขายขาดทุน และจะเก็บไว้ในพอร์ต ถือเป็นการลงทุนแทน “เอ็นปาร์คก็มีโครงการใหญ่ๆอยู่ตั้งเยอะ เอ็นซีเฮ้าส์ซิ่งก็ไม่น่าห่วง ยังไงคนก็ต้องซื้อบ้าน ส่วนสิงห์พาราเทค พื้นฐานก็ดี ไม่นึกว่าแต่ละตัวจะลงมาได้ถึงขนาดนี้ รู้งี้ เจ๊ขายไปตั้งแต่ทีแรกที่ลงมานิดหน่อยแล้ว ถ้าขายตอนนั้นนะ ขาดทุนนิดเดียวเอง” เจ๊ภา เริ่มเห็นสัจธรรม หลังจากเก็งกำไรในหุ้นพื้นฐาน และ ลงทุนในหุ้นเก็งกำไร มาเป็นเวลาหลายปี

น้าบิ๊ก สนิทกับนักเล่นหุ้นรายใหญ่ เจ้าของฉายา “เดอะซัน” โทรกริ๊งกร๊าง หากันเป็นประจำยังกะเพื่อนสนิท รอบแรก เดอะซัน บอก จะทำราคาหุ้น PICNOCK ไปที่ 20 บาท มันก็ไปจริงๆ บอกว่าจะทำราคา WESTERNWIRE ไป 30 บาท มันก็มาตามนัด พอทำกำไรกันไปถ้วนหน้า อิ่มหมีพีมัน ราคามันก็ร่วงลงมาตามระเบียบของหุ้นเก็งกำไร อีกไม่นานหลังจากนั้น เดอะซันก็โทรมาให้เป้าใหม่ ใหญ่กว่าเดิม …… ด้วยความเชื่อความศรัทธาเต็มร้อย คราวนี้ น้าบิ๊กลุยสุดตัวและหัวใจ เคาะซื้อ PICNOCK รอบใหม่แถว 15 บาท เคาะซื้อ WESTERNWIRE รอบใหม่แถว 20 บาท ใครจะเตือนว่ามีข่าวร้ายรออยู่ ยังไงก็ไม่ฟัง มั่นใจสุดๆ ….. ปัจจุบันนี้ ทั้ง PICNOCK และ WESTERNWIRE ไร้ร่องรอยของ เดอะซัน ล่าสุด PICNOCK เหลือเพียง 30 สตางค์ และ WESTERNWIRE เหลือเพียง 6 บาทกว่า

นอกจากตัวอย่างของพี่ป้าน้าอา ที่ได้รับอนุญาต ให้นำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์แก่นักลงทุนหน้าใหม่แล้ว ยังมีเหตุผลยอดฮิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสุดยอดฮิตของต้นตอการเจ๊งหุ้น จะลองทายดูก่อนไหมครับ ว่าคำอ้างไหนฮ๊อตฮิตติดชาร์ท

“มันลงมามากแล้ว คงไม่ลงไปลึกกว่านี้แล้วมั๊ง” ฮ๊อตสุดๆครับ ฮิตติดชาร์ท ขึ้นแท่นนัมเบอร์วัน ตลอดกาล

อย่างที่เซียนหุ้นพันล้าน หมอยง บอกไว้นั่นแหละครับ “ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!"

ราคาหุ้นจริงๆควรจะเป็นเท่าไหร่ ใครเป็นผู้กำหนดล่ะครับ

เรากำหนดได้ตามอำเภอใจรึป่าว เห็น อาโก อาซิ้ม ในห้องค้า กำหนดราคาเองตลอดเลย ว่าจะซื้อที่ราคาเท่านั้น จะขายที่ราคาเท่านี้

ทั้งๆที่บางที ราคาที่ว่า ก็ยังไม่น่าซื้อด้วยซ้ำ เพราะช่วงนั้น มีแต่คนอยากขายออก แต่ไม่ยักกะมีคนอยากซื้อ และ หลายต่อหลายครั้ง ไม่ยอมลดราคาขายลงมา จนทุกวันนี้ ถูกแสนถูกยังขายให้ใครไม่ได้เลยก็มีอยู่บ่อย

โทรศัพท์มือถือ กับ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เดี๋ยวนี้ ใครๆก็สามารถซื้อหาเป็นเจ้าของได้ ขณะที่เครื่องเพจเจอร์ ราคาถูกแค่ไหน ก็ไม่มีใครซื้อ ใช่ไหมครับ

ทำไมของบางอย่าง ยิ่งแพง ลูกค้ายิ่งแย่งกันซื้อ แต่ของบางอย่าง ยิ่งถูกลง ผู้ขายกลับยิ่งแข่งขันกันลดราคา

หุ้นก็เหมือนกันครับ ช่วงไหน คนในตลาดให้ความสำคัญกับหุ้นกลุ่มไหนมาก ถึงแพงแล้ว ก็ยังมีแพงกว่า ขณะที่หุ้นบางกลุ่ม บางตัว หมดความน่าสนใจลงซะแล้ว ถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครเอา

www.ThaiDayTrade.com

Monday, September 14, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 1 : ทำเป็นเก่ง เจ๊งสถานเดียว

การเริ่มต้นของหลายๆท่าน จะเริ่มต้นคล้ายๆกัน เอาตำรามาอ่าน, print เอกสารและข้อมูลดิบมากมาย ที่ใครๆ ก็รู้กันทั่วไป เช่น งบการเงิน ค่าพีอี ค่าบีวี และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ มาศึกษา แล้วทำเป็นวิเคราะห์นั่น วิเคราะห์นี่ แล้วก็คิดเองเออเอง ว่าข้าเก่ง วิเคราะห์เก่ง มั่นใจ จนลืมไปว่า ก่อนที่ท่านจะวิเคราะห์ มีกองทุนมากมายหลายกอง นำข้อมูลไปประกอบ การวิเคราะห์ก่อนท่านแล้ว และถ้ามันดี เขาก็ซื้อไปก่อนท่านแล้ว

ไม่ต้องมองใครเลยครับ ผมเองก็เริ่มแบบนั้น แหมๆ ก็จบ เกียรตินิยมทางการบัญชี มานี่ครับ และต่อโทสายตรงทางด้าน Finance ซะด้วย แถมยังมี ประสบการณ์ ทำงานเป็น Financial Consultant สังกัดบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอีก ดูเหมือน จะได้เปรียบคนอื่น ด้วยซ้ำ หากจะเล่นหุ้น เพราะเราวิเคราะห์เองได้หมด ทั้งงบการเงิน ชำแหละกระแสเงินสดของกิจการ หาอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ วิเคราะห์แนวโน้ม เจาะลึกนโยบายธุรกิจ ติดตามกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท ฮี่โธ่ ซำบายอยู่แล้ว สุดแสนจะชิวๆ

ตอนเริ่มต้น ผมนั่งค้นคว้า สำรวจหุ้นเกือบทุกตัวที่มีอยู่ในตลาด แล้วเลือกเอาเฉพาะหุ้นที่มี พี/อีต่ำๆ ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากๆ คัดมาได้ 40 ตัว พร้อมทั้งแปลกใจ ว่าทำไม มีแต่เพียงเราเท่านั้น ที่เป็นผู้ค้นพบแต่เพียงผู้เดียว ว่าหุ้นพวกนี้ เป็นหุ้นราคาถูก เพราะหากเซียนหุ้นคนอื่นหรือกองทุนค้นพบ มันก็น่าจะโดนซื้อ จนราคาแพงไปมากกว่านี้แล้วนะเนี่ยะ

จากหุ้น 40 ตัว ที่เลือกมาอย่างชาญฉลาด ผมก็เอา มาคัดเลือกอีก เลือกเฉพาะที่ปันผลสม่ำเสมอ เงินสดดี หนี้สินน้อย และ ROE สูงๆ

หลังจากทุกทฤษฏีในตำรา ได้แปรเป็นการวิเคราะห์ ในที่สุด ผมก็ลงทุนครั้งแรก ด้วยหุ้นชั้นเลิศราคาถูก จำนวน 5 ตัว …… เป็น 5 ตัว ที่แน่นิ่ง และ มั่นคง ตลอด 2 ไตรมาสเลย …… ฉันจะขอคงอัตราส่วน พีอี พีบีวี ไว้อย่างงี้แหละ ว่างั้น

ตลอด 2 ไตรมาสของการเริ่มลงทุน มีโอกาส ได้ฟัง นักวิเคราะห์บ่อยขึ้น ได้อ่านบทวิเคราะห์ไทยๆ มากขึ้น ฟังดูเข้าท่าแหะ มันรื่นหูดี ทุกสรรพสิ่งความดีในบริษัท ออกมาอธิบายเป็นฉากๆ อย่ากระนั้นเลย ขายทิ้งชุดเก่า เข้าชุดใหม่ตามนักวิเคราะห์ น่าจะทำให้เงิน งอกเงยงดงาม

“สาเหตุที่หุ้นแบ็งค์ใหญ่ BBB ขึ้น เพราะ ปีนี้เป็นปีทองของแบ็งค์ เราแนะนำซื้อหุ้น BBB เพราะ (อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น) ……… ” แหะๆ ลืมแล้วครับ ว่า ไนล์ ฮวงโห แยงซีเกียง มิสซิปซิปปี้ และ เจ้าพระยา ที่ยกแม่น้ำทั้งห้า มาสาธยาย มีอะไรบ้าง จำได้ขึ้นใจอยู่อย่างเดียวว่า “เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ”

โอ้โห ราคาตอนนี้ 102 บาทเอง มีโอกาสงอกเงยขึ้นอีกตั้ง 28 บาทแน๊ะ ซื้อครับซื้อ ปีทองของแบ็งค์เชียวนะ ผมต้องซื้อลงทุนแล้วล่ะ

หลังจากที่ผมซื้อไปแล้ว ราคาไม่ยักกะขึ้น มีหนำซ้ำ ยังลงมาเหลือ 98 บาท ด้วยซ้ำ …. นักวิเคราะห์คนเดิมออกทีวี บรรยายว่าดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น “เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ” นั่นนะซิ ได้ราคาถูกกว่าเดิมตั้ง 4 บาท ทำไมผมจะไม่ซื้อล่ะ

อ้าว 1 สัปดาห์ผ่านไป ไฉนลงมาเหลือ 96 บาทล่ะ แต่ผมก็ “คลายกังวล” เมื่อนักวิเคราะห์คนเดิม ออกทีวียืนยันความมั่นใจ ในหุ้น BBB พร้อมบรรยายว่าดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น“เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ” เอาล่ะ ซื้อก็ซื้อ ถือว่า ถัวเฉลี่ยต้นทุนแล้วกัน

สัปดาห์ที่สอง ราคายังลงต่ออีก เหลือ 92 บาทเอง นักวิเคราะห์คนนั้น หายไปไหนแล้วไม่รู้ ต่อให้โผล่หน้า มาออกทีวี แล้วยืนยันให้ซื้อ เพราะมันดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ก็ไม่ซื้อแล้วล่ะ ผมไม่มีเงินซื้อแล้วครับ

สัปดาห์ที่สาม ราคาลงมาเหลือ 88 บาท ผมยังเฉยๆนะ เพราะจำที่นักวิเคราะห์บอกได้ ว่าปีนี้เป็นปีทองของแบ็งค์ ยังไงเดี๋ยวก็ต้องกลับไป 130 บาทอยู่ดี ….. แต่แล้ว สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนักวิเคราะห์คนเดิม โผล่มาทางทีวี แบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมเอื้อนเอ่ย วจีอันโหดร้ายว่า“สาเหตุที่หุ้นแบ็งค์ใหญ่ BBB ลง เพราะ(อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น) ……… ” แหะๆ ลืมแล้วครับ ว่า น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งทั้งห้า ที่สาธยายมา มีอะไรบ้าง จำได้ขึ้นใจ อยู่อย่างเดียวว่า “เราปรับประมาณการลง ให้ราคาเป้าหมาย 70 บาท Recommendขาย” …… (ฮา) จากที่ผมเฉยๆ ที่หุ้นลง เลยกลายเป็น ความกังวลในทันที อ้าว เป็นปีที่ย่ำแย่ของหุ้นกลุ่มแบ็งค์ซะแล้ว

ในที่สุด บทเรียนบทที่ 1 ของผมก็เริ่มต้น คอร์สนี้ เสียค่าลงทะเบียนเกือบแสน ขืนผมยังลงทะเบียนเรียนซ้ำ เห็นทีจะพลาดท่า หมดตัวแน่!

เพื่อนๆหน้าใหม่ ที่เข้ามาในตลาดหุ้น คงเคยลงคอร์สเดียว กับผมกันมาแล้วทั้งนั้น ใช่ไหมครับ ไม่จำเป็น ต้องลงทะเบียนเรียนซ้ำอีกนะครับ หากที่เรียนมาแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ขอเสนอให้ไปอ่าน ใน Chapter ต่อจากนี้ไป น่าจะดีกว่า นอกจากจะช่วย ให้ท่านประหยัดตังค์ได้เยอะแล้ว ยังแจกเงินให้นักเรียนอีกต่างหาก ถ้าสอบผ่าน!

หลังจากเสียค่าวิชาไปแล้ว ผมถึงเข้าใจว่า ตัวเลขในอดีตที่เรา หรือ ผู้อื่น วิเคราะห์โดยว่าไปตามตำรา เพียงอย่างเดียว มันยังไม่พอเพียง ในการใช้ ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่ต้องนำ แนวโน้มในอนาคต มาร่วมการตัดสินใจด้วย

ในอดีต ผู้ทำธุรกิจเพจเจอร์ รุ่นแรกๆ กำไรกันถ้วนหน้า ใครๆก็หลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจนี้ เพราะเป็นธุรกิจ ที่ทำกำไรงาม แต่เมื่อเทคโนโลยี่ก้าวหน้าขึ้น SMS บนโทรศัพท์มือถือ ก็เข้ามาทดแทน เพจเจอร์ และ ธุรกิจเพจเจอร์ก็ถึงกาลอวสาน

ตัวเลขในอนาคตที่นักวิเคราะห์ทำการประเมินมา มันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบกิจการ เช่นกัน

นักวิเคราะห์ไม่ใช่ผู้บริหารกิจการนะครับ เขาจึงไม่รู้ลึกพอ ที่จะวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ และก็คงจะไม่ม ีผู้บริหารกิจการคนไหนเช่นกัน ที่จะบอกนักวิเคราะห์ว่า บริษัทเขา กำลังจะย่ำแย่ ในทางตรงข้าม นักวิเคราะห์โดนผู้บริหารกิจการ หลอกเรื่อยแหละว่า กำไรจะดีขึ้นจะจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้น

โลกทุกวันนี้ มันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และราคาหุ้นจะแปร ไปตามปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อกิจการตลอดเวลา เร็วจนหมดเวลาที่จะมานั่งวิเคราะห์ตามตำรา แล้วคิดเองเออเองแล้วครับ อย่าลืมว่า สิ่งที่ท่านวิเคราะห์อยู่ มีเซียนหุ้น มีกองทุนต่างๆ วิเคราะห์ก่อนท่านหมดเกลี้ยงแล้ว แล้วถ้าเขายังไม่ใส่เงินเข้ามาซื้อ ท่านจะซื้อ รออะไร

หุ้นที่ดีในอดีต อาจจะไม่ใช่หุ้นดีในวันนี้ และ หุ้นที่ดีในวันนี้ อาจจะเป็นหุ้นที่แย่ ในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ได้ ใช่ไหมครับ

เก็บตำรา จับตาดูความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันดีที่สุดครับ รายใหญ่หรือกองทุน เขาวิเคราะห์มามากแล้ว ในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะขนเงินหลายสิบล้าน หรือ หลายร้อยล้านบาท มาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว จนเกิด “สัญญาณซื้อ” ให้เราเห็น

แล้วทำไมเราจะต้องเสียเวลามาวิเคราะห์ถูกๆผิดๆเองล่ะครับ ในเมื่อเราสามารถเกาะกระแสเงินลงทุนของเขาขึ้นไปได้เลย ภายในเวลาไม่นานนัก

อย่าผิดพลาดซ้ำๆ เหมือนกับที่ผมเคยทำมาเอาตำราไปบริจาคห้องสมุด เถอะครับ

www.ThaiDayTrade.com

Sunday, September 13, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น : ตีแผ่จากห้องค้า

"ถ้าสามารถหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำในตลาดหุ้น เราจะมานั่งทำงานประจำอยู่ทำไม ในเมื่อ นั่งค้าขายหุ้น มันทำกำไรได้มากกว่า และ เร็วกว่าตั้งเยอะ" ......... นี่เป็นความคิดแรก ของคนที่รักสบาย หวังใช้เงินทำงานให้ อย่างผม

วิชาการ ความมั่นใจ ความร้อนวิชา และ ความหวัง ค่อยๆสลายไป ในช่วงแรกๆของการลงทุน เราทุกคนต่างเอาเงินที่หาได้มา ด้วยความยากลำบาก มาถมทิ้งในตลาดหุ้น วันแล้ววันเล่า ถือเป็นบทเรียนราคาแพง แพงกว่า คอร์ส การอบรมใดๆ ในโลกนี้ที่เคยมีมา

คำถามในขณะนั้นที่เกิดขึ้น ก็คือ เราจะถอย หรือจะเริ่มต้นใหม่ ให้ถูกทิศถูกทาง? คำถามถัดไปก็คือ แล้วทำไม คนอื่นถึงประสบความสำเร็จ แล้วเขาทำอย่างไร จึงประสบความสำเร็จ อะไรคือความลับในตลาดหุ้น ที่คนส่วนใหญ่ ไม่เคยรู้ ว่ามีอยู่จริง!

ถึงแม้ แต่ละคนในห้องค้า จะไม่รู้จักกัน แต่ทำไม ข้อผิดพลาดเดิมๆ จึงเกิดขึ้นในแต่ละวันซ้ำๆกันได้ ทั้งที่มิได้นัดหมายกันมา แม้กระทั่งกลุ่มเราเองตอนเริ่มต้นเป็นมือใหม่ในตลาดหุ้น เทรดแบบนี้แล้วเจ๊ง ก็ยังผิดซ้ำๆกันอย่างต่อเนื่อง แล้ว ทำไม รายใหญ่ในห้อง VIP ของห้องค้า ที่เล่นหุ้นเป็นอาชีพ ถึงสามารถทำเงินก้อนโตได้ ....ทำไม กองทุนต่างชาติ ถึงเล่นยังไงก็ได้กำไรวันยังค่ำ หรือ ผู้จัดการกองทุนเหล่านั้น จะมีสูตรลับในการลงทุน หรือ เราเรียนมา คนละตำรากัน?

หลังจากขนตำราด้านการเงินการลงทุน บริจาคเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็เริ่มต้นใหม่หมด ด้วยการปรับความคิดใหม่ เสมือนว่าไม่มีความรู้อะไร ติดตัวมาเลย แล้วเฝ้าสังเกต สไตลล์การเทรดของบรรดาเซียนหุ้นที่อยู่ในตลาดมานาน และ ขอเข้าพบ เข้าสัมภาษณ์ รายใหญ่ทั้งหลาย ที่อยู่ตามห้องค้าต่างๆ รวมทั้ง ขอเชิญผู้จัดการกองทุนต่างชาติ มาดินเนอร์ เผื่อแกจะเบลอๆ แล้วเผลอ คายความลับ ให้เราทราบบ้าง

ถึงแม้ตลาดหุ้นจะเอาเงินมาถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม แต่ในอีกมุมหนึ่ง โอกาสทำเงินในตลาดหุ้น ก็มีมากมายเหลือเกิน แล้วทำไม เส้นผมบังภูเขาเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ ถึงเป็นความลับมานานแสนนาน ว่าแล้วก็ พิมพ์ เรื่องราว เพื่อ ถอดรหัสตลาดหุ้น เพื่อแยกกลุ่มคน ที่พร้อมจะเรียนรู้ ออกจากกลุ่มคน ที่จะเป็นผู้แพ้ตลอดกาล และ หวังเห็นรายย่อยวันนี้ เป็นแมงเม่ารุ่นสุดท้าย ของตลาดหุ้นไทย

"ถอดรหัสตลาดหุ้น" นี้ เราจะเริ่มจากคำนำ ที่ท่านอ่านอยู่นี้ จากนั้น จะกล่าวถึงเทคนิคที่หากท่านปฏิบัติตาม จะทำให้จนฉับพลัน (รับรองผล) ตามด้วยเทคนิคแห่งความรวยเรื้อรัง ตบท้ายด้วยการตีแผ่กลยุทธ์กลวิธี ของผุ้เล่นรายใหญ่ ในตลาดหุ้น และส่งท้ายด้วยบทความ "อย่าให้ใครมาขโมยความฝันของเราไป" ........ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ตามสมควร โดยเฉพาะมือใหม่

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน