Tuesday, June 28, 2011

DSM Concept ตอนที่ 1-7 โดย Coyote

DSM Concept (ตอนที่ 1) - คุณสมบัติของนักลงทุน

แนวคิดของ DSM
“สะสมจำนวนหุ้นให้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเงินเพิ่ม” เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ลองนึกว่า ถ้าคุณมีบ้านให้เช่า ทุกเดือนจะได้ค่าเช่า ค่าเช่าที่ได้นี้ให้สะสมเก็บไว้ เมื่อได้มากพอก็นำไปลงทุนเพิ่ม จากบ้าน 1 หลัง กลายเป็น 2 หลัง จาก 2 หลังกลายเป็น 4 หลัง จาก 4 หลังกลายเป็นโรงแรม (แนวคิดดั้งเดิมจากเกมเศรษฐี ที่โรเบิร์ตนำมาประยุกต์และเพิ่มเติมกลายเป็นเกม cashflow)

คุณสมบัติของผู้ที่จะใช้วิธี DSM
1. ต้องเป็นนักลงทุนระยะยาว ระยะยาวในที่นี้คือ ตลอดชีวิต เงินลงทุนนี้จะต้องเป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้วหรือเก็บมาจากรายจ่ายฟุ่มเฟือย และห้ามถอนเงินนี้มาใช้เป็นอันขาด
2. ต้องมีแนวคิดในการสร้างรายได้จากทรัพย์สิน "อย่าทำงานเพื่อเงิน แต่จงให้เงินทำงานแทนเรา"
3. อิสรภาพทางการเงินไม่ได้หมายถึงความร่ำรวยมีเงินหลายร้อยล้าน แต่หมายถึงการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีอิสระที่จะทำสิ่งที่ต้องการทำ อิสรภาพทางการเงินไม่ได้วัดที่จำนวนเงินที่มี แต่วัดกันที่ "ใครมีเวลาเพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการมากกว่ากัน"
4. ต้องมีวินัยในการลงทุน การตัดสินใจลงทุนด้วยวิธี DSM ถ้าหากเลิกกลางคัน จะเกิดความเสียหายมาก
5. ต้องมีเป้าหมายในอนาคต เป้าหมายนี้ไม่ใช่เงินจำนวนเท่าใด แต่เป้าหมายที่ต้องตั้งคือ "ฉันจะต้องได้รับเงินปันผลเท่าใดจึงจะพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน"
6. จิตใจต้องหนักแน่น มั่นคง ไม่วอกแวกกับเสียงทักของนักพนัน

ผู้ที่ห้ามลงทุนแบบ DSM
1. ต้องการเงินกำไรเร็วๆ ในระยะเวลาสั้นๆ

สิ่งที่คุณจะได้จาก DSM
1. ได้เป็นเจ้าของบริษัทที่คุณชอบ
2. เงินปันผลที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
3. มีเวลาว่างอย่างเหลือเฟือที่จะอยู่กับครอบครัว และทำประโยชน์ให้สังคม
4. สุขภาพจิตสดใส หุ้นขึ้นก็สุขใจ หุ้นตกก็ยิ้มแย้มแจ่มใส

ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา ลงทุนแบบ DSM ได้หรือไม่
1. เงินที่ต้องใช้ในการลงทุนแบบ DSM อาจจะเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 10,000 บาท (ถ้ายังไม่มีเงิน 10,000 บาทในเวลานี้ ให้ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยให้ได้เดือนละ 1,000 บาท ครบ 1 ปีก็มีเงินลงทุนแล้ว) ระหว่างที่เก็บออมอยู่นี้ อาจจะทดลองเทรดหุ้นในกระดาษ (หรือใน Excel) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงทุนด้วยเงินจริง
2. ไม่มีเวลาดูหุ้นทั้งวัน - ดูแค่วันละครั้งหลังจากกลับจากทำงาน แล้ววางแผนในวันรุ่งขึ้น อาจจะได้จำนวนหุ้นเพิ่มไม่มาก หลังจากนั้นคุณก็จะเลือกวิธีที่เหมาะสมกับเวลาที่คุณมีได้

ต้องทำงานทุกวัน ไม่มีเวลาดูหุ้น จะลงทุนแบบ DSM ได้หรือไม่
1. การลงทุนในหุ้นก็เหมือนคุณร่วมลงทุนเปิดบริษัท ดังนั้นคุณจึงควรมีเวลาบ้างเพื่อที่จะดูว่าบริษัทของคุณมีพัฒนาการเป็นอย่างไร วันนี้ยังไม่มีเวลา แต่ถ้าตั้งใจจริง ใช้เวลาวันละครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว
เมื่อมั่นใจแล้วว่าจะลงทุนในแบบ DSM สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เลือกหุ้นที่จะลงทุน

==============================================================

DSM Concept (ตอนที่ 1.5) - เอ๊ะ ฉันเป็นนักลงทุนประเภทไหนหว่า

บรรดาผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ
1. นักลงทุน
2. นักเก็งกำไร
ลองถามตัวเองก่อนครับว่า เอ๊ะ ฉันเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไร
ตลาดทุกชนิดบนโลกต้องมีคนทั้ง 2 ประเภท ถ้ามีแต่นักลงทุน ราคาหุ้นก็จะอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับไปไหน ถ้ามีแต่นักลงทุนที่ลงทุนเพื่อรับปันผล ข่าวที่เราได้ยินอาจจะบอกว่า วันนี้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง 0.5 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดๆ ถ้าผมหรือคุณจะเป็นนักเก็งกำไร

ข้อแตกต่างระหว่างนักลงทุนกับนักเก็งกำไร
- นักเก็งกำไร : ต้องการกำไรเป็นเงินสดในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 นาที, 1 ชั่วโมง, 1 วัน, 1 สัปดาห์, 1 เดือน ขึ้นอยู่กับความอดทนของแต่ละคน
- นักลงทุน : ต้องการเงินปันผลตามอัตราที่เหมาะสม

วิธีดูแบบง่ายสุดก็ดูแบบนี้ครับ
ถ้าคุณซื้อหุ้นเพราะหวังว่า ราคาหุ้นจะขึ้นและขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง คุณเป็นนักเก็งกำไร
ถ้าคุณซื้อหุ้นแล้วรอรับปันผล คุณเป็นนักลงทุน ส่วนจะได้ส่วนต่างจากราคามาเป็นของแถมหรือไม่นั่นไม่เป็นไร

นักลงทุนหรือนักเก็งกำไร ใครเหมาะที่จะใช้วิธี DSM
ถ้าคุณหวั่นไหวกับราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติครับ ใครๆ ก็เป็นกัน แต่สำหรับ VI แล้ว เมื่อลงทุนหุ้นใดไปแล้ว จะไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะมั่นใจว่าบริษัทนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะดำเนินงานต่อไปได้ไม่ดี VI จึงจะเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่น แต่ถ้าราคาหุ้นตกลงมามากเท่าใด ตราบใดที่บริษัทนั้นยังมีผลประกอบการที่ดี VI ก็ยังคงลงทุนต่อไป และอาจจะซื้อเพิ่มอีกด้วย วิธี DSM จึงเหมาะกับนักลงทุนแบบ VI ที่ใช้เงินลงทุนก้อนเดิมที่มีอยู่มาเพิ่มจำนวนหุ้น VI หลายๆ คนที่ผมรู้จักก็ไม่อยากใช้ DSM เพราะไม่ถนัด ส่วนนักเก็งกำไรส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธี DSM ช้า ไม่ทันใจ แถมได้กำไรน้อยอีกด้วย
ดังนั้น DSM จึงเป็นส่วนผสมระหว่างนักลงทุนที่เป็น VI ในสายเลือด แต่เพิ่มทักษะในการซื้อขายหุ้นแบบนักเก็งกำไรเข้าไป เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นให้มากขึ้น โดยใช้การทำงานเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน ใครที่คิดจะใช้วิธี DSM เพียงเพราะหวังว่าจะช่วยทำให้เงินที่หายไปจากการซื้อขายหุ้นได้คืนมาล่ะก็ ลองคิดดูอีกครั้งนะครับว่าคุณมีจิตวิญญานของนักลงทุนแบบ VI หรือไม่ เพราะถ้าคุณเลิกกลางคัน คุณจะสูญเสียมากกว่าการเก็งกำไรก็เป็นได้ และที่สำคัญวิธี DSM นี้ใช้เวลานานมาก


==============================================================

DSM Concept (ตอนที่ 2) - เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

คุณสมบัติของหุ้นที่จะลงทุนด้วยวิธี DSM
1. ต้องเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผล โดยดูจากประวัติย้อนหลังของบริษัท
2. ต้องเป็นหุ้นที่มีคนนิยม และมีจำนวนหุ้นซื้อขายในตลาดมากพอสมควร เพราะเราจะสร้างหุ้นเพิ่มจากส่วนต่างของราคา จากการแกว่งตัวของราคาจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวนั้นเป็นที่นิยม ก็ดูที่นี่ครับ
http://www.set.or.th/static/market/mainboard.html ให้ดูที่ช่องขวาสุด Value ('000 Baht) ยิ่งมีมูลค่าการซื้อขายมากเท่าใด แสดงว่าหุ้นตัวนั้นได้รับความนิยมมาก
3. ต้องเป็นบริษัทที่คุณอยากเป็นเจ้าของ
การที่จะหาหุ้นที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการ สำหรับแต่ละคน อาจจะเป็นเรื่องยาก คุณจึงต้องยอมตัดคุณสมบัติบางประการออกไปบ้าง เช่น
- สำหรับคนที่มีเวลาซื้อขายหุ้น อาจจะเลือกหุ้นที่ราคาแกว่งตัวมาก โดยที่หุ้นนั้นอาจจะจ่ายปันผลไม่ดีนัก เพื่อที่จะสร้างจำนวนหุ้นให้เพิ่มในอัตราที่มากพอ เมื่อได้หุ้นมากพอแล้วจึงเปลี่ยนตัวไปยังหุ้นที่หมายตาเพื่อรับปันผล
- สำหรับคนที่ไม่มีเวลาซื้อขายหุ้น ถ้าเลือกหุ้นที่มีการแกว่งตัวมากอาจจะกระตุกหัวใจ แบบนี้ควรเลือกหุ้นพื้นฐานดี จ่ายปันผลสม่ำเสมอ ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมาก คุณเพียงแค่ใช้เวลาดูแลเพียงวันละครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว

เริ่มต้นด้วยจำนวนหุ้นเท่าใด
จำนวนหุ้นที่เหมาะสมสำหรับวิธี DSM คือ 10,000 หุ้น ดังนั้นถ้าหุ้นที่คุณหมายตาไว้มีราคาหุ้นละ 100 บาท คุณจะต้องมีเงินลงทุน 1 ล้านบาท การเลือกหุ้นในระดับราคาที่เหมาะสมจะทำให้การซื้อขายหุ้นตามแผนการลงทุนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าคุณรักและอยากลงทุนในหุ้นราคา 100 บาทจริงๆ มี 2 วิธีครับ
1. หาเงินล้านจากการทำงานมาลงทุน
2. เริ่มจากหุ้นตัวละ 10 บาท ใช้เงินลงทุน 1 แสน ลงทุนด้วยวิธี DSM อย่างมีวินัย ไม่เกิน 5 ปี คุณก็จะก้าวไปลงทุนในหุ้นระดับราคา 100 บาท ได้อย่างสง่าผ่าเผย


==============================================================

DSM Concept (ตอนที่ 3) - คันมือแล้ว เริ่มต้นยังไงดีล่ะ

เมื่อเลือกหุ้นที่จะลงทุนในแบบ DSM ได้แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเวลาเข้าซื้อหุ้น
กฎการลงทุน

1. ห้ามขาดทุน
2. ถ้าไม่เข้าใจให้อ่านข้อ 1
3. ถ้าไม่เข้าใจให้อ่านข้อ 1 อีกครั้ง
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครคิดกฎ 3 ข้อนี้ (คล้ายๆ กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์เลย) แต่ผมก็ชอบนะ

แล้วจะทำอย่างไร ไม่ให้ขาดทุน
ง่ายๆ เลย ซื้อหุ้นแล้วหุ้นต้องขึ้น นั่นแหละจึงจะไม่ขาดทุน

ถึงแม้ว่า DSM จะมีวิธีรับมือกับขาลง แต่การเข้าซื้อในจังหวะที่เหมาะสมก็มีความสำคัญมาก

จะรู้ได้อย่างไรว่า เวลาไหนควรซื้อ
ประสบการณ์จะบอกคุณเองว่า ซื้อตอนนี้ ตอนนั้น ราคาหุ้นจะขึ้น ไม่มีกฎตายตัวว่าจะดูอย่างไร เพราะถ้ามีกฎแบบนี้แล้ว ทุกๆ คนคงรวยกันหมดทั้งโลกแน่ๆ
ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถหาจุดซื้อที่ประกันได้แน่นอนว่าหุ้นจะขึ้น เราก็อย่าไปกังวล ให้เราหาจุดซื้อในช่วงที่หุ้นมีทีท่าขยับตัวขึ้น ถ้าซื้อผิดจังหวะ ก็รับมือด้วยวิธี DSM
ห้ามซื้อในเวลาที่หุ้นกำลังมีราคาลดลงเด็ดขาด จำไว้ว่า ถึงแม้ราคาหุ้นจะถูกแล้ว แต่ก็ยังมีถูกกว่า และยังมีถูกที่สุดอีกด้วย
อาจจะฝืนความรู้สึกสำหรับบางคน แต่ถ้าเคยบาดเจ็บจากการซื้อหุ้นราคาถูกแล้วอีกแป๊บเดียวราคาก็ถูกกว่าที่ซื้อมา ก็จะเข้าใจเองแหละครับ

==============================================================

DSM Concept (4) – กลยุทธ์เมื่อหุ้นลง

ซื้อหุ้นแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้ว่าราคาหุ้นจะขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีกลยุทธ์เพื่อรับมือในเวลาหุ้นลง

ลงยังไงก็ไม่หวั่น
สมมุติว่าคุณซื้อหุ้นราคา 10.00 บาท จำนวน 10,000 หุ้น
บนหน้าจอจะเป็นแบบนี้

Vol Bid Offer Vol
100,000 9.95 10.00 50,000

จำไว้ว่า ขายที่ Bid ซื้อที่ Offer อย่าไปเสียเวลาต่อรองราคาเหมือนเดินจตุจักรเป็นอันขาด
กฎก็คือ ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าที่ซื้อ 2 ช่อง ให้ขาย 10% (คงพอจะได้คำตอบแล้วนะครับว่า ทำไมขายครั้งแรกต้อง 2 ช่อง)

ถ้าราคาลงมาเป็นแบบนี้

Vol Bid Offer Vol
200,000 9.90 9.95 170,000

อ๊ะๆ ลงมา 2 ช่องแล้ว ขายเลยดีมั๊ย ยังๆ อย่าใจร้อน
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าเราจะขายกี่หุ้น กรณีนี้เราจะขาย 1,000 หุ้น ให้ดูวอลุ่มที่ช่อง Bid ว่ามีมากแค่ไหน และดูด้วยว่ามีใครขายที่ราคา 9.90 หรือยัง
อย่าขายเป็นคนแรก เพราะอาจโดน กลต เพ่งเล็งได้ว่ามีเจตนาทุบราคา

ถ้าสักพัก ราคาเป็นแบบนี้

Vol Bid Offer Vol
50,000 9.90 9.95 120,000

ถึงตรงนี้ต้องจับตาดู ถ้าเห็นว่ามีขายครั้งละหลายๆ หมื่นหุ้น ก็อย่ารอช้ารีบขาย 1,000 หุ้นของเราได้เลย ตรงนี้แหละครับสำหรับมือใหม่ที่จะทำได้ยาก มัวแต่ลังเลว่าจะขายดีหรือไม่ อย่าลังเลครับ ถ้าคุณลังเลขายช้า แทนที่จะขายได้ที่ 9.90 กลับต้องไปขายที่ 9.85 คุณทำเงินหล่นหายไปแล้ว 0.05 % จากความลังเลในครั้งนี้

จบการขายครั้งแรก ให้กำหนดจุดซื้อคืนไว้ที่ 3 ช่องจากราคาขาย นั่นก็คือ 9.75 ราคานี้ให้มองฝั่ง Offer ถ้ามาถึงซื้อทันทีอย่ารีรอ


ถ้าสักพัก ราคาเป็นแบบนี้

Vol Bid Offer Vol
60,000 9.85 9.90 50,000

วิธี DSM ในแบบคุณเด่นศรี คือรอ ไม่ต้องทำอะไร เพราะราคายังลงมาไม่ถึง 2 ช่องจากจุดเดิมที่เราเคยขายไปแล้ว

แต่แบบของผมที่เพิ่มความงกเข้าไป ถ้าผมเห็นแนวโน้มแล้วว่ามีแรงขายเข้ามาตลอด ผมจะขายที่ราคา 9.85 อีก 5% แล้วไปขายที่ 9.80 อีก 5% รวมแล้วก็ 10% พอดี

ถึงตรงนี้แล้ว ใครที่ยังไม่เข้าใจให้ลองทำดูนะครับ

มีคำถามปิดท้ายนิดนึงว่า ผมใช้กองหลังแค่ 20% ในเวลาปกติ ใครตอบได้ ไม่มีรางวัลครับ มีแต่รอยยิ้มมอบให้ ( ยิ้ม )

==============================================================

DSM Concept (5) - หัวใจของ DSM

ก่อนจะไปกันต่อ ขอเพิ่มเรื่องแนวคิดของ DSM อีกรอบนะครับ

หลักสำคัญของ DSM คืออะไร
DSM ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทำแล้วจะรวย แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้คุณไปถึงอิสรภาพทางการเงินในระยะเวลาที่คุณกำหนดได้ โดยในระหว่างเดินทางในเส้นทางนี้ ร่างกายและจิตใจของคุณจะสดชื่นเบิกบาน

การซื้อขายหุ้นแบบเก็งกำไร ก็เหมือนการขุนวัวเนื้อให้อ้วนแล้วก็จับไปชำแหละ ส่วนการเก็บหุ้นปันผลไว้ก็เหมือนกับการเลี้ยงวัวนมเพื่อรีดนมวัว

ขายวัวเนื้อแต่ละครั้งได้เงินมากมาย ต่างจากการรีดนมวัวแต่ละวันที่ได้เงินนิดเดียว แต่ได้สม่ำเสมอทุกวัน และได้ลูกวัวเป็นของแถมด้วย ลูกวัวที่ได้นี้ ถ้าเป็นแม่วัวนมเมื่อเลี้ยงให้โตก็จะได้แม่วัวไว้รีดนมวัวเพิ่ม ถ้าเป็นวัวตัวผู้จะเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์หรือขายเป็นวัวเนื้อก็ได้ทั้งนั้น

ไม่ว่าคุณจะใช้ DSM กับหุ้นตัวไหน ถ้ายังคงแนวคิด และเป้าหมายในการเป็นเจ้าของวัวนมล่ะก็ คุณยังอยู่ในทางของ DSM ระหว่างทางจะขายลูกวัวตัวผู้ไปบ้างก็ไม่เป็นไร เงินที่ได้ถ้ายังนำกลับมาซื้อแม่วัวก็ยังอยู่ในแนวทางของ DSM

DSM มีข้อดีคือมีกระบวนการที่จะป้องกันไม่ให้ใครมาทำร้ายรังแกหุ้นของเรา นอกจากนั้น DSM ยังช่วยให้คุณสดชื่นเบิกบานกับหุ้นของคุณได้ทุกวัน ตรงนี้ล่ะคือความสุขที่แท้จริงที่เงินซื้อไม่ได้ และอย่าลืมตั้งเป้าหมายในอนาคตของคุณด้วยว่า เมื่อมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว จะทำอะไรบางคนมีเป้าหมายชัดเจนว่า จะใช้เวลาอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ไม่อยากให้เเป็นหมือนพ่อแม่สมัยนี้ที่ต้องทำงานตัวเป็นเกลียวโดยไม่มีเวลาสั่งสอนและให้ความอบอุ่นกับลูก เป้าหมายที่แน่ชัดนี้จะช่วยส่งให้คุณมีวินัยที่จะทำต่อไปจนถึงจุดหมาย

==============================================================

DSM Concept (6) - หัวใจห้องที่ 2 ของ DSM

"My favorite time frame for holding a stock is forever" -- Warren Buffett นี่ล่ะครับคือหัวใจที่ทำให้ Warren Buffett ทำกำไรจากหุ้นได้มากที่สุด Warren Buffett จะเลือกหุ้นที่มีอนาคตดี ชนิดที่เรียกว่า ต่อให้เขาตายไปแล้วบริษัทนั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป เช่น โค้ก ยิลเล๊ต และกอดหุ้นเหล่านั้นไว้ตลอดไป

จะใช้ DSM ให้ประสบความสำเร็จ ต้องลืมเรื่องเวลา
คนที่มีหุ้นติดดอยอยู่ ลองถามตัวเองสักนิดว่า กังวลใจเพราะอะไร เพราะราคา หรือ เวลา ถ้าซื้อหุ้นแล้วรีบร้อนอยากขาย ขายถูกขายแพงก็เป็นทุกข์ คราวนี้จบสั้นๆ แบบนี้แหละครับ ( ยิ้ม )

==============================================================

DSM Concept (7) - หัวใจห้องที่ 3 ของ DSM

ระบบการซื้อ - ขาย ที่ดี คือส่วนสำคัญของ DSM
เมื่อกระโจนเข้าสู่สมรภูมิหุ้น บ่อยครั้งที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้บ่อยๆ หลายๆ ครั้งที่เรามักไม่กล้าขายหุ้นเมื่อหุ้นลง จนหุ้นลงมาก ก็ยิ่งตัดใจขายลำบากยิ่งขึ้น วิธีของคุณเด่นศรีช่วยสร้างระบบป้องกันตัวไว้อย่างแยบยล การตัดขายเพียง 10% นอกจากจะช่วยสร้างกระแสเงินสดแฝงแล้ว ยังเป็นการประกันความเสี่ยงของหุ้นอีก 90% ที่เราถือไว้อีกด้วย
อย่าลังเล เมื่อถึงเวลาที่ต้องขาย ง่ายๆ แค่นี้จริงๆ

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน