Monday, September 14, 2009

ถอดรหัสตลาดหุ้น บทที่ 1 : ทำเป็นเก่ง เจ๊งสถานเดียว

การเริ่มต้นของหลายๆท่าน จะเริ่มต้นคล้ายๆกัน เอาตำรามาอ่าน, print เอกสารและข้อมูลดิบมากมาย ที่ใครๆ ก็รู้กันทั่วไป เช่น งบการเงิน ค่าพีอี ค่าบีวี และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ มาศึกษา แล้วทำเป็นวิเคราะห์นั่น วิเคราะห์นี่ แล้วก็คิดเองเออเอง ว่าข้าเก่ง วิเคราะห์เก่ง มั่นใจ จนลืมไปว่า ก่อนที่ท่านจะวิเคราะห์ มีกองทุนมากมายหลายกอง นำข้อมูลไปประกอบ การวิเคราะห์ก่อนท่านแล้ว และถ้ามันดี เขาก็ซื้อไปก่อนท่านแล้ว

ไม่ต้องมองใครเลยครับ ผมเองก็เริ่มแบบนั้น แหมๆ ก็จบ เกียรตินิยมทางการบัญชี มานี่ครับ และต่อโทสายตรงทางด้าน Finance ซะด้วย แถมยังมี ประสบการณ์ ทำงานเป็น Financial Consultant สังกัดบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอีก ดูเหมือน จะได้เปรียบคนอื่น ด้วยซ้ำ หากจะเล่นหุ้น เพราะเราวิเคราะห์เองได้หมด ทั้งงบการเงิน ชำแหละกระแสเงินสดของกิจการ หาอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ วิเคราะห์แนวโน้ม เจาะลึกนโยบายธุรกิจ ติดตามกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท ฮี่โธ่ ซำบายอยู่แล้ว สุดแสนจะชิวๆ

ตอนเริ่มต้น ผมนั่งค้นคว้า สำรวจหุ้นเกือบทุกตัวที่มีอยู่ในตลาด แล้วเลือกเอาเฉพาะหุ้นที่มี พี/อีต่ำๆ ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากๆ คัดมาได้ 40 ตัว พร้อมทั้งแปลกใจ ว่าทำไม มีแต่เพียงเราเท่านั้น ที่เป็นผู้ค้นพบแต่เพียงผู้เดียว ว่าหุ้นพวกนี้ เป็นหุ้นราคาถูก เพราะหากเซียนหุ้นคนอื่นหรือกองทุนค้นพบ มันก็น่าจะโดนซื้อ จนราคาแพงไปมากกว่านี้แล้วนะเนี่ยะ

จากหุ้น 40 ตัว ที่เลือกมาอย่างชาญฉลาด ผมก็เอา มาคัดเลือกอีก เลือกเฉพาะที่ปันผลสม่ำเสมอ เงินสดดี หนี้สินน้อย และ ROE สูงๆ

หลังจากทุกทฤษฏีในตำรา ได้แปรเป็นการวิเคราะห์ ในที่สุด ผมก็ลงทุนครั้งแรก ด้วยหุ้นชั้นเลิศราคาถูก จำนวน 5 ตัว …… เป็น 5 ตัว ที่แน่นิ่ง และ มั่นคง ตลอด 2 ไตรมาสเลย …… ฉันจะขอคงอัตราส่วน พีอี พีบีวี ไว้อย่างงี้แหละ ว่างั้น

ตลอด 2 ไตรมาสของการเริ่มลงทุน มีโอกาส ได้ฟัง นักวิเคราะห์บ่อยขึ้น ได้อ่านบทวิเคราะห์ไทยๆ มากขึ้น ฟังดูเข้าท่าแหะ มันรื่นหูดี ทุกสรรพสิ่งความดีในบริษัท ออกมาอธิบายเป็นฉากๆ อย่ากระนั้นเลย ขายทิ้งชุดเก่า เข้าชุดใหม่ตามนักวิเคราะห์ น่าจะทำให้เงิน งอกเงยงดงาม

“สาเหตุที่หุ้นแบ็งค์ใหญ่ BBB ขึ้น เพราะ ปีนี้เป็นปีทองของแบ็งค์ เราแนะนำซื้อหุ้น BBB เพราะ (อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น) ……… ” แหะๆ ลืมแล้วครับ ว่า ไนล์ ฮวงโห แยงซีเกียง มิสซิปซิปปี้ และ เจ้าพระยา ที่ยกแม่น้ำทั้งห้า มาสาธยาย มีอะไรบ้าง จำได้ขึ้นใจอยู่อย่างเดียวว่า “เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ”

โอ้โห ราคาตอนนี้ 102 บาทเอง มีโอกาสงอกเงยขึ้นอีกตั้ง 28 บาทแน๊ะ ซื้อครับซื้อ ปีทองของแบ็งค์เชียวนะ ผมต้องซื้อลงทุนแล้วล่ะ

หลังจากที่ผมซื้อไปแล้ว ราคาไม่ยักกะขึ้น มีหนำซ้ำ ยังลงมาเหลือ 98 บาท ด้วยซ้ำ …. นักวิเคราะห์คนเดิมออกทีวี บรรยายว่าดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น “เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ” นั่นนะซิ ได้ราคาถูกกว่าเดิมตั้ง 4 บาท ทำไมผมจะไม่ซื้อล่ะ

อ้าว 1 สัปดาห์ผ่านไป ไฉนลงมาเหลือ 96 บาทล่ะ แต่ผมก็ “คลายกังวล” เมื่อนักวิเคราะห์คนเดิม ออกทีวียืนยันความมั่นใจ ในหุ้น BBB พร้อมบรรยายว่าดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น“เราให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท Recommend ซื้อ” เอาล่ะ ซื้อก็ซื้อ ถือว่า ถัวเฉลี่ยต้นทุนแล้วกัน

สัปดาห์ที่สอง ราคายังลงต่ออีก เหลือ 92 บาทเอง นักวิเคราะห์คนนั้น หายไปไหนแล้วไม่รู้ ต่อให้โผล่หน้า มาออกทีวี แล้วยืนยันให้ซื้อ เพราะมันดี อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ก็ไม่ซื้อแล้วล่ะ ผมไม่มีเงินซื้อแล้วครับ

สัปดาห์ที่สาม ราคาลงมาเหลือ 88 บาท ผมยังเฉยๆนะ เพราะจำที่นักวิเคราะห์บอกได้ ว่าปีนี้เป็นปีทองของแบ็งค์ ยังไงเดี๋ยวก็ต้องกลับไป 130 บาทอยู่ดี ….. แต่แล้ว สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนักวิเคราะห์คนเดิม โผล่มาทางทีวี แบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมเอื้อนเอ่ย วจีอันโหดร้ายว่า“สาเหตุที่หุ้นแบ็งค์ใหญ่ BBB ลง เพราะ(อย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น) ……… ” แหะๆ ลืมแล้วครับ ว่า น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งทั้งห้า ที่สาธยายมา มีอะไรบ้าง จำได้ขึ้นใจ อยู่อย่างเดียวว่า “เราปรับประมาณการลง ให้ราคาเป้าหมาย 70 บาท Recommendขาย” …… (ฮา) จากที่ผมเฉยๆ ที่หุ้นลง เลยกลายเป็น ความกังวลในทันที อ้าว เป็นปีที่ย่ำแย่ของหุ้นกลุ่มแบ็งค์ซะแล้ว

ในที่สุด บทเรียนบทที่ 1 ของผมก็เริ่มต้น คอร์สนี้ เสียค่าลงทะเบียนเกือบแสน ขืนผมยังลงทะเบียนเรียนซ้ำ เห็นทีจะพลาดท่า หมดตัวแน่!

เพื่อนๆหน้าใหม่ ที่เข้ามาในตลาดหุ้น คงเคยลงคอร์สเดียว กับผมกันมาแล้วทั้งนั้น ใช่ไหมครับ ไม่จำเป็น ต้องลงทะเบียนเรียนซ้ำอีกนะครับ หากที่เรียนมาแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ขอเสนอให้ไปอ่าน ใน Chapter ต่อจากนี้ไป น่าจะดีกว่า นอกจากจะช่วย ให้ท่านประหยัดตังค์ได้เยอะแล้ว ยังแจกเงินให้นักเรียนอีกต่างหาก ถ้าสอบผ่าน!

หลังจากเสียค่าวิชาไปแล้ว ผมถึงเข้าใจว่า ตัวเลขในอดีตที่เรา หรือ ผู้อื่น วิเคราะห์โดยว่าไปตามตำรา เพียงอย่างเดียว มันยังไม่พอเพียง ในการใช้ ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่ต้องนำ แนวโน้มในอนาคต มาร่วมการตัดสินใจด้วย

ในอดีต ผู้ทำธุรกิจเพจเจอร์ รุ่นแรกๆ กำไรกันถ้วนหน้า ใครๆก็หลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจนี้ เพราะเป็นธุรกิจ ที่ทำกำไรงาม แต่เมื่อเทคโนโลยี่ก้าวหน้าขึ้น SMS บนโทรศัพท์มือถือ ก็เข้ามาทดแทน เพจเจอร์ และ ธุรกิจเพจเจอร์ก็ถึงกาลอวสาน

ตัวเลขในอนาคตที่นักวิเคราะห์ทำการประเมินมา มันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบกิจการ เช่นกัน

นักวิเคราะห์ไม่ใช่ผู้บริหารกิจการนะครับ เขาจึงไม่รู้ลึกพอ ที่จะวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ และก็คงจะไม่ม ีผู้บริหารกิจการคนไหนเช่นกัน ที่จะบอกนักวิเคราะห์ว่า บริษัทเขา กำลังจะย่ำแย่ ในทางตรงข้าม นักวิเคราะห์โดนผู้บริหารกิจการ หลอกเรื่อยแหละว่า กำไรจะดีขึ้นจะจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้น

โลกทุกวันนี้ มันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และราคาหุ้นจะแปร ไปตามปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อกิจการตลอดเวลา เร็วจนหมดเวลาที่จะมานั่งวิเคราะห์ตามตำรา แล้วคิดเองเออเองแล้วครับ อย่าลืมว่า สิ่งที่ท่านวิเคราะห์อยู่ มีเซียนหุ้น มีกองทุนต่างๆ วิเคราะห์ก่อนท่านหมดเกลี้ยงแล้ว แล้วถ้าเขายังไม่ใส่เงินเข้ามาซื้อ ท่านจะซื้อ รออะไร

หุ้นที่ดีในอดีต อาจจะไม่ใช่หุ้นดีในวันนี้ และ หุ้นที่ดีในวันนี้ อาจจะเป็นหุ้นที่แย่ ในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ได้ ใช่ไหมครับ

เก็บตำรา จับตาดูความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันดีที่สุดครับ รายใหญ่หรือกองทุน เขาวิเคราะห์มามากแล้ว ในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะขนเงินหลายสิบล้าน หรือ หลายร้อยล้านบาท มาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว จนเกิด “สัญญาณซื้อ” ให้เราเห็น

แล้วทำไมเราจะต้องเสียเวลามาวิเคราะห์ถูกๆผิดๆเองล่ะครับ ในเมื่อเราสามารถเกาะกระแสเงินลงทุนของเขาขึ้นไปได้เลย ภายในเวลาไม่นานนัก

อย่าผิดพลาดซ้ำๆ เหมือนกับที่ผมเคยทำมาเอาตำราไปบริจาคห้องสมุด เถอะครับ

www.ThaiDayTrade.com

No comments:

Post a Comment

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน