Thursday, August 26, 2010

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 2 ปูมหลัง “เซียนหุ้นอยุธยา” (1)

กว่าจะเดินมาถึงจุดที่เป็น “เซียนหุ้นพันล้าน” วิชัย วชิรพงศ์ ต้องผ่านการคิดทบทวนตัวเองมานับครั้งไม่ถ้วน สัญชาตญาณของความเป็น “เสือ” อาจติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สัญชาตญาณในการ “ล่า” ต้องหมั่นฝึกฝนสร้างประสบการณ์

ถ้าในโลกนี้ใครได้อะไรมาง่ายๆ ก็ยากที่จะรักษาให้มันอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืน

ต้นทางชีวิตของ วิชัย วชิรพงศ์ เขาเกิดเมื่อปี 2498 ปัจจุบันมีอายุ 52 ปี พื้นเพเดิมเป็นคนตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาของวิชัยเป็นเจ้าของโรงงานทำเส้นหมี่ ยี่ห้อสิงห์ทอง เริ่มก่อตั้งโรงงานประมาณ ปี 2500

วิชัย จึงคลุกคลีในโรงงานทำเส้นหมี่มาตั้งแต่เด็ก

เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า ต้นทางของความสำเร็จ มีจุดสตาร์ทมาจาก “ความคิด”…ถ้าคุณ “คิดเป็น” เลือกเส้นทางเดินให้ถูก ชีวิตก็ประสบความสำเร็จได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

วิชัย นึกถึงความหลังในวัยหนุ่ม แล้วถ่ายทอดให้ฟังว่า…ผมเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์ สาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สมัยที่เรียนอยู่มช. มันมีถนนหน้า และหลังมหาวิทยาลัย ความที่เราไม่มีประสบการณ์ จึงไม่รู้จักแสวงหาโอกาส

… สมัยนั้นนักศึกษาทุกคนที่จะกลับหอพัก ต้องออกทางถนนด้านหน้ามหาวิทยาลัย ถ้าใครกลับด้านหลัง อาจจะโดนจี้ปล้นได้ สมัยก่อนแถวนั้นมันเปลี่ยว ที่ดินด้านหลังมช. จึงมีราคาถูกมาก

แต่ทุกวันนี้ ถนนด้านหลังมช. กลายเป็นถนนสายหลัก วิชัย บอกว่า เมื่อมองย้อนกลับไป ถ้าตอนนั้นเรารู้จัก “คิด” สะสมที่ดินเก็บเอาไว้ 3-5 ไร่ ป่านนี้ก็รวยไปตั้งนานแล้ว

“สมัยก่อนผมไม่มีมุมคิด ยังไม่มีประสบการณ์ ตอนนั้นไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงิน สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาที่ดินด้านหลังมช. ราคาถูกมาก ไร่หนึ่งไม่กี่ตังค์ ประเด็น คือ เราคิดไม่เป็น”

การนั่งทบทวนอดีต ทำให้ วิชัย ได้แง่คิดว่า คนเราต้องเรียนผิดเรียนถูก กว่าจะผ่านจุดที่ “คิดเป็น” จงอย่ากลัวที่จะต้องจ่ายค่าวิชาของความผิดพลาด ถ้าคุณไม่เคยล้ม..ย่อมเดินไม่เป็น

คนที่ “คิดเป็น” ก่อนคนอื่น คนนั้นก็มีโอกาส “รวย” ก่อน! หลักการเดียวกันกับการ “เล่นหุ้น”…จงวิ่งไปในที่ที่ “แนวโน้ม” กำลังจะไป

“อย่างที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ที่นักศึกษาต้องไปฝึกงาน สมัยก่อนต้องขับรถผ่านคลองชลประทาน คนแถวนั้นยากจนมาก พื้นที่ทุรกันดาร ที่ดินแถวนั้นไร่หนึ่งเต็มที่ ก็ไม่เกิน 3,000 บาท

“… ฉันใดก็ฉันนั้น ตอนผมเรียนจบใหม่ๆ ปี 2520 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าชีวิตนี้ขอมีเงินเก็บ แค่ 300,000 บาท ก็พอ สมัยก่อนอยากมีเงิน 300,000 บาท อยากมีรถเก๋งโตโยต้าโคโรล่าเก่าๆ สักคันหนึ่ง ผมจะมีความสุขมาก นั่นคือมุมมองของเราตอนนั้น

เพราะฉะนั้นสมัยเป็นนักศึกษาจึงใช้ชีวิตหมดไปวันๆ ข้อดีของมัน คือ ทำให้ผมไม่เสียกำลังใจ เพราะไม่เคยฝันไกล”

“…แต่ข้อเสียของมัน ชีวิตเราก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน”

สมัยนั้นมีการจองตัวนักศึกษา พอเรียนจบสัตวบาลมา รุ่นพี่ที่ทำงานอยู่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็มาชวนให้ไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ จึงต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดระยอง ได้เงินเดือนครั้งแรกในชีวิต 2,700 บาท

หลังจากทำงานผ่านไปได้ 18 วัน มุมมองของ วิชัย ก็เริ่มเปลี่ยน จากคนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าขืนทำงานอยู่อย่างนี้ต่อไป ชีวิตนี้คงไม่มีวันก้าวหน้า

“ผมคิดว่า..โอ้โห้! การทำอาชีพเกษตรกร นี่มันยากมาก ดูแลไก่ต้องทำงานกลางคืน เพราะกลางวันอากาศร้อน เดี๋ยวไก่เครียด กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืน แล้วก็ต้องรีบตื่นตั้งแต่เช้ามืด ต้องตื่นไปเปิดไฟให้ไก่ เพราะการไข่ของไก่ขึ้นอยู่กับความยาวของแสงไฟ

…ตี 5 ก็ต้องลุกขึ้นไปเปิดไฟ ให้ไก่ตื่นขึ้นมากินอาหาร เพื่อจะให้มันออกไข่ตามกำหนด”

วันที่ 18 ของการทำงาน วิชัย ก็คิดได้ว่า ถ้าเรามีความพยายามมากขนาดนี้นะ ไม่ต้องมาทำงานกินเงินเดือน 2,700 บาทหรอก ต่อให้ไปขายราดหน้าข้างถนน “กูก็รวยได้”

จากนั้น เขาจึงไปบอกรุ่นพี่ว่า…พี่ครับ! ผมขอลาออก ขอบคุณครับที่รับผมเข้าทำงาน รุ่นพี่ทักท้วงว่า รออีกแค่ 12 วัน เงินเดือนออกแล้วค่อยไป ด้วยอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว วิชัย ยืนกรานที่จะลาออกจากงานทันที

๐ ๐ ๐ ๐ ๐

เส้นทางอนาคตของ เสี่ยยักษ์ ในวัยหนุ่ม แทบจะมองไม่เห็นหนทางแห่งความร่ำรวย ภายหลังลาออกจากการเป็นลูกจ้างเครือซีพี จึงบ่ายหน้ากลับบ้านเกิดที่จังหวัดอยุธยา ไปช่วยงานในโรงงานทำเส้นหมี่ของพ่อ

สมัยก่อนพ่อของวิชัย จะทำโรงงานแบบคนโบราณ ซึ่งชายหนุ่มมองว่า หนทางแห่งความเติบโตแทบไม่มี แถมการไปของวิชัย เขายังถูกมองว่าเป็น “ส่วนเกิน” ของโรงงาน พวกพี่ๆ ต้องแบ่งงานให้ทำ และถูกพวกคนงานดูถูกดูแคลน กล่าวกันว่าไอ้ลูกเถ้าแก่คนนี้เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย

แม้แต่พี่ตัวยังมองว่า มึงไปเรียนหนังสือมาทำไม สุดท้ายก็ต้องมาทำงานที่บ้าน

“แต่จริงๆ คือ..เขาคิดผิด” วิชัย คิดในใจ

ความน้อยเนื้อต่ำใจถูกสะสมเพิ่มพูน เขาเล่าว่า ครอบครัววชิรพงศ์ มีตัวเขาเป็นคนสุดท้อง พี่ชายแท้ๆ เป็นหมอ ถัดมาอีกคนเป็นวิศวกร แต่พี่น้องก่อนหน้านั้นไม่ได้เรียนหนังสือ พี่ชายที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เข้าใจว่าการเรียนหนังสือทำให้คนเรา “คิดเป็นระบบ” ทำให้เราวิเคราะห์เป็น มีเหตุมีผล

อุปสรรคเรื่องคนจึงมีเข้ามาเนืองๆ ระหว่างที่ช่วยงานในโรงงานอยู่นั้น วิชัย จึงยึดอาชีพเลี้ยงหมูของตัวเองเป็นรายได้หลัก โดยอาศัยเศษอาหารเหลือในโรงงานมาทุ่นต้นทุน

“ตอนนั้นผมเลี้ยงหมูเป็นร้อยตัวนะ แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาอีก ตอนไปเก็บเงินจากเขียงหมู เงินแค่ 20,000 บาท เช้าเจอสามีก็บอกให้ไปเก็บกับภรรยา พอเจอหน้าภรรยาก็บอกให้ไปเก็บกับสามี วงการนี้มันเอารัดเอาเปรียบกันมาก พวกโรงฆ่าสัตว์พวกนี้เจ้าเล่ห์ ผมก็เลยประกาศว่า “เลิก” อาชีพนี้ไม่เอาอีกแล้ว”

เวลาทั้งหมดจึงทุ่มเทมาช่วยงานในโรงงาน ช่วงนั้นการทำให้เส้นหมี่แห้งจะใช้วิธีโบราณ คือ การตากแดด วิชัย เข้าไปช่วยพัฒนาจากตากแดดเปลี่ยนมาเป็นการอบแห้ง โดยนำเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาใช้

เขาได้สรุปบทเรียนของชีวิตไว้ว่า…จุดเปลี่ยนของชีวิตคนเรา อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติของความสำเร็จสักครั้ง ไม่ว่าใครก็ตามถ้าคุณชิมความสำเร็จได้อย่างหนึ่งแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคหลังจากนั้นจะดูง่ายไปหมด

“…นี่คือเรื่องจริงที่ผมเจอมา การเล่นหุ้นก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าคุณชนะครั้งใหญ่ได้สักครั้ง ชัยชนะต่อๆ มาจะเป็นของคุณ” เขาเชื่อเช่นนั้น

ที่มา : Bangkok Biz Week


No comments:

Post a Comment

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน