Saturday, September 4, 2010

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 17 หุ้นเรียกแขก

เชิญครับ! เชิญ..เชิญมารวย!!! ด้วยกันคร้าบบ..พี่น้อง
ในตลาดหุ้นมักจะมี “หุ้นปั่น” สลับกันขึ้นมาหวือหวา ซึ่งหุ้นประเภทนี้ “เสี่ยยักษ์” วิชัย วชิรพงศ์ เตือนว่า หุ้นพวกนี้อันตรายที่สุด เวลาเจ้ามือ “ทิ้ง” มันลงไปถึงก้นเหวได้ง่ายๆ

————————–

“จะเล่นหุ้นปั่นจะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา”
————————–

…ในวงการหุ้น เขาจะเรียกหุ้นประเภทนี้ว่า “หุ้นเรียกแขก”
เซียนหุ้นรายนี้อธิบายว่า โดยส่วนตัวไม่ชอบเล่น แต่ก็พอรู้ว่าหุ้นตัวไหนมีเจ้ามือดูแลอยู่ ถ้าเราไปขวางทางเขา เขาก็ต้องสะบัดเราหลุด พร้อมทั้งบอกเกร็ดความรู้ให้ฟังด้วยว่า…

“จะเล่นหุ้นพวกนี้ (หุ้นปั่น) จะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา”

ข้อสังเกตของหุ้นปั่น หนึ่ง..ต้องมี “เจ้ามือ” (กลุ่มก๊วนคอยทำราคา) สอง..ผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในลักษณะช่วยกันออกข่าวดี (ในหลายกรณี ผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะโอนหุ้นบางส่วนไปไว้ในพอร์ต “นอมินี” หรือให้ตัวแทนเข้าไปเก็บหุ้น ก่อนจะมีการทำราคา)

เสี่ยยักษ์ให้ความกระจ่างว่า เขาจะดูด “ซัพพลาย” (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ออกไปให้มากที่สุด จากนั้นหุ้นจะวิ่ง..พักนิดหนึ่ง..แล้วก็วิ่งต่อ ระหว่างที่หุ้นวิ่งแรงๆ เจ้ามือจะรอกินเราอยู่ ถ้าราคายังไม่ถึงเป้าหมาย เขาก็ประคองราคาเอาไว้จนมี “เหยื่อ” กลุ่มใหญ่เข้ามา แต่หุ้นพวกนี้สุดท้ายแล้ว “เสือ” จะกิน “เนื้อเสือ” คือ กินพวกเดียวกันเองด้วย

นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ยังตอบข้อสังเกตด้วยว่า ทำไม! หุ้นไอพีโอ (IPO) หลายตัว พอเข้าตลาดมาใหม่ๆ หุ้นมักจะถูก “ทุบ” ลงไปก่อน แล้วค่อย “ลาก” ขึ้นมาทีหลัง

“ผมคิดว่าเจ้าของหุ้น (ผู้ถือหุ้นใหญ่) เป็นคนปล่อยหุ้นออกมาเอง แล้วค่อยไปรอเก็บราคาต่ำ “เพื่อลดต้นทุน” แล้วเล่นรอบขึ้นมาใหม่ ผิดกับสมัยก่อน ซื้อหุ้นไอพีโอจะได้กำไรมหาศาล เพราะเจ้าของหุ้นไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาดเยอะเหมือนสมัยนี้”

เสี่ยยักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทไหนที่เจ้าของหุ้นลงมาเล่นหุ้นตัวเอง (โดยปกติมักจะเล่นหุ้นผ่านนอมินี) สุดท้ายมักจะ “เจ๊ง” เพราะหุ้นตัวนั้นจะขาดความน่าเชื่อถือ

นอกเหนือจาก “หุ้นเรียกแขก” ที่ไม่ควรเข้าไปแตะต้องแล้ว ยังมีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ควรเล่น คือ หุ้นที่เจ้าของบริษัทมี “ไอคิว” (Intelligence Quotient) เหนือกว่าเรามาก ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์)

“ผมเคยอ่านจากข่าวว่า ท่านเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ เคยพูดออกมาคำหนึ่งว่า…สิ่งที่ทำผิดพลาดที่สุดในชีวิต คือ ไม่ยอมขายหุ้นเทเลคอมเอเซีย (ปัจจุบันคือ TRUE) ที่ราคา 70 กว่าบาท ถามหน่อยว่า มีใครรวยหุ้นซีพีบ้าง! เพราะไอคิวเราสู้เขาไม่ได้ พอท่านเผยความคิดนี้ออกมา จะเล่นหุ้นกลุ่มนี้ก็ต้องระวังตัว”

เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ถ้าเราไปเจอบริษัทไหนก็ตามที่เรารู้สึกว่า ไอคิวเราสู้เจ้าของบริษัทไม่ได้ ถ้าใครเจอหุ้นแบบนี้ ชีวิตนี้อย่าไปแตะต้อง เพราะคุณจะไม่มีทางรวย

แล้วลักษณะของหุ้นแบบไหนที่ซื้อแล้วมีโอกาส “ฟลุ้ค” แจ๊คพอตแตก

“หุ้นที่จะฟลุ้ค ต้องเป็นหุ้นประเภท “คอมมูนิตี้” (สินค้าโภคภัณฑ์) เช่น น้ำมัน ปิโตรเคมี เดินเรือ ฯลฯ ซึ่งหุ้นประเภทนี้จะมีไซเคิลของมัน วันหนึ่งที่ถึงไซเคิลของมัน (ช่วงเทิร์นอะราวด์) มีโอกาสรวยได้ง่ายๆ แต่คุณต้องรู้ว่าไซเคิลของธุรกิจอะไรที่กำลังจะมา”

…และจังหวะซื้อ จะต้องเป็นรอยต่อของช่วง “ตกต่ำ” (Depression) มาสู่ช่วง “ฟื้นตัวใหม่” (Revival) ซื้อแล้ว “ถือ”

ทั้งนี้วัฏจักรธุรกิจจะแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ 1.ขยายตัว (Expansion) 2.รุ่งเรือง (Boom) 3.ถดถอย (Recession) 4.ตกต่ำ (Depression) และ 5.ฟื้นตัวใหม่ (Revival)

หลังจากหุ้น ปตท.ที่เสี่ยยักษ์ได้กำไรจำนวนมากแล้ว หุ้นอีกตัวที่น่าจดจำ คือ หุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC)

“หลังจากหุ้น ปตท.ผมก็มาเจอหุ้นในดวงใจอีกตัว คือ หุ้น TPI ประมาณปลายปี 2548 ตอนนั้นราคา 10 บาทกว่า ยังไม่เพิ่มทุน 1 ต่อ 2 ที่ราคา 3.30 บาท ก่อนหน้านั้นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ไปคุยกับอดีตผู้บริหาร แน่ใจว่า ปตท.จะเป็นแกนดึงพันธมิตร (กบข.-วายุภักษ์-ธ.ออมสิน) เข้ามาเพิ่มทุน ที่ราคา 3.30 บาท

…ผมก็บอกว่า โอ้ย! หุ้นอย่างนี้ดีซิ! มันกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้าง ทำอะไรใหม่ เราไม่ต้องกลัว เพราะหลังเพิ่มทุนเสร็จ ต้นทุนเราเฉลี่ยประมาณ 5 บาทกว่า เขา (กลุ่มปตท.) ลงทุนตั้งหลายหมื่นล้านบาท ของเราลงทุนแค่นิดเดียว จะไปกลัวมันทำไม!”

ช่วงที่ราคาหุ้น TPI แถวๆ 10 บาทกว่า เสี่ยยักษ์ก็ทยอยซื้อเข้าพอร์ต หลังจากนั้นราคามันวิ่งขึ้นไป 18 บาท พอกลุ่มปตท.กำลังจะเข้ามา (ขึ้น XR วันที่ 14 พ.ย.2548) กลุ่มประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ก็ฟ้องศาลคัดค้าน ราคาก็หล่นลงมาเหลือ 15-16 บาท

“ช่วงราคาทรุดลง..ผมก็จะแย่ แต่พอศาลตัดสินว่าคุณประชัยแพ้ กลุ่มปตท.เพิ่มทุนได้ ช่วงต้นปี 2549 ราคาหลังเพิ่มทุน ขึ้นไปสูงสุด 8.95 บาท ตอนนั้น ผมถือหุ้น TPI อยู่กว่า 100 ล้านหุ้น มูลค่าลงทุนตัวเดียว 1,000 ล้านบาท ชอตนี้..ผมก็ได้กำไรเยอะ”

เสี่ยยักษ์สรุปปิดท้ายว่า โดยส่วนตัวเวลาที่จะลงทุนหุ้นตัวไหนหนักๆ จะต้องทำการบ้านอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญของหุ้น ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง

“ยกตัวอย่างตอนที่ผมจะซื้อหุ้น TPI ผมจะเก็บข้อมูลทุกอย่างของหุ้นตัวนี้ให้หมด ตั้งแต่ลูกหุ้นเข้าวันไหน ขาดทุนน้ำมันเท่าไร กำไรอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไร ราคาเม็ดพลาสติกตอนนี้เป็นอย่างไร พื้นฐานพวกนี้ผมจะตัดข้อมูลเก็บเอาไว้หมด”

นี่ไง! เคล็ดไม่ลับแห่งความสำเร็จของ “เซียน” ที่ชื่อ “วิชัย วชิรพงศ์”

ทีมา : Bangkok Biz Week


No comments:

Post a Comment

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน