Saturday, September 4, 2010

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 18 สัญญาณ “ลงแรง”

กรณีที่หุ้นจะ “ปรับตัวแรง” วอลุ่มมักจะ “พีค” ก่อน ให้สังเกตว่า รายย่อยจะแห่เข้าใส่แบบไม่ลืมหูลืมตา เวลาที่หุ้นปรับตัวมันจะ “ลงแรง”

—————————

สูตรการเล่นหุ้นใน “มุมมอง” ของนักลงทุนรายใหญ่ มักจะ “มอง” แตกต่างไปจาก “มุม” ของนักลงทุนรายย่อย เพราะเหตุใด ?

ประเด็นนี้ “เสี่ยยักษ์” วิชัย วชิรพงศ์ อธิบายว่า ในบางตำรา…สูตรการเล่นหุ้น มักจะบอกว่า “ลงให้ซื้อ…ขึ้นให้ขาย” แต่วิธีคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ทุกครั้ง ยกตัวอย่าง ช่วงที่ดัชนี SET ขึ้นไป 1,789 จุด (ต้นปี 2537) หลังจากนั้น มันลงทีเดียวถึง “นรก” เลย (ลงมาปิดต่ำสุด 207 จุด เมื่อเดือนกันยายน 2541) คนที่ผ่านจุดอันตรายที่สุดมาแล้ว เขาจะไม่คิดแบบนี้ เพราะ “ลูกยังเล็ก” อันตราย !!

…เขาจะคิดตรงกันข้ามว่า “ลงให้ขาย” (Cut Loss) “ขึ้นให้ซื้อ” (Follow the Trend) ซึ่งเป็นวิธีที่ “ลดความเสี่ยง” ได้ดีที่สุด

เสี่ยยักษ์ ยังบอกเทคนิคด้วยว่า เราจะอ่านเกมได้อย่างไร กรณีที่หุ้นปรับฐานแล้วจะ “ลงแรง” หรือ “ไม่แรง”

“สัญญาณขาย” หรือ Sell Signal ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ก็คือ ในกรณีที่หุ้นจะลง “ไม่แรง” นั้น รายย่อยจะยัง “ไม่เข้า” เมื่อหุ้นปรับฐานแล้ว มีโอกาสไปต่อ “สูง”

กรณีที่หุ้นจะ “ปรับตัวแรง” ให้สังเกต “วอลุ่ม” มักจะทำ “พีค” ก่อน แสดงว่า…รายย่อยแห่เข้าใส่แล้ว ยิ่งซื้อแบบไม่ลืมหูลืมตา (กลัวตกรถไฟขบวนสุดท้าย) เวลาที่หุ้นปรับตัว จะ “ลงแรง” และ “ลงหนัก”

นอกจากนี้ ยังสามารถนำแนวคิดนี้ ไปใช้อ่านดัชนี SET ได้ด้วย ให้สังเกตว่า ถ้า ดัชนี SET กำลังปรับตัวขึ้น ยืนนิดหนึ่ง แล้วขึ้นต่อ…ยืนนิดหนึ่ง แล้วขึ้นต่อ แสดงว่า รายย่อยยังไม่ (กล้า) เข้า SET จะลงไม่แรง เพราะ “จุดมั่นใจ” ยังไม่เกิด

“…จำเอาไว้ว่า “จุดมั่นใจที่สุด คือ จุดอันตรายที่สุด” ถ้ายังไม่มีจุดมั่นใจ คนเล่นหุ้นจะไม่กล้าทุ่ม แต่เมื่อไรที่ฮึกเหิมสุดๆ เมื่อนั้นแหละ…อันตรายที่สุด” นี่คือ สุดยอดของเคล็ดวิชาอีกข้อหนึ่งที่เสี่ยยักษ์ เน้นย้ำ !

เทคนิคในการ “อ่าน” ทิศทางของ ดัชนี SET “แบบวันต่อวัน” (เพื่อวัตถุประสงค์การเล่นเก็งกำไรระยะสั้น) ให้สังเกต “หุ้นค้ำตลาด” ตัวแข็งๆ ในแต่ละวัน ซึ่งมักจะหมายถึง หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ที่เป็น “หัวโจก” ของวัน เช่น PTT, BBL-F ฯลฯ

“ต้องดูว่า ฝรั่งหรือกองทุน จะ “เล่นขึ้น” หรือ “เล่นลง” ให้สังเกตวอลุ่ม และวิธีการตั้งซื้อ ตั้งขาย ยกตัวอย่าง วันนี้ตัวค้ำเป็น BBL-F ราคา 119 บาท เขียวอยู่ดีๆ เผลอแปลบเดียว กลับมาแดง แล้วเราต้องไปดูหุ้นตัวใหญ่ๆ (ตัวอื่น) เริ่มถูกเทขายออกมาหรือยัง เช่น PTTEP, TOP จากนั้นเราก็ต้องไปเช็คราคาน้ำมันดิบ ถ้าราคาน้ำมันลง แสดงว่าวันนี้น่าจะมีการปรับฐาน วิธีการอ่านก็ประมาณนี้

…สมมติ BBL-F ตัวค้ำตลาดลง PTTEP ราคา 98 บาท ลงด้วย มีคนตั้งขาย 200 หุ้น ที่ราคา 97.50 บาท เขาพยายามจะชี้นำให้ ดัชนี SET พุ่งลง ทั้งๆ ที่ดูกราฟแล้ว ดัชนี SET น่าจะมีการรีบาวนด์ กราฟมันเริ่มตัดขึ้น แต่มีคนเคาะขายตัวใหญ่ให้ลง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่ง…อยากให้ ดัชนี SET ลงเลย กับ สอง…เพื่อเขาจะซื้อ “เก็บ” ได้ในราคาต่ำ เราต้องประเมินเจตนาให้ออก”

เสี่ยยักษ์ บอกว่า มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่จ้องขาย 100 หุ้น 200 หุ้น ในหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนใหญ่ๆ เพื่อให้กราฟพุ่งลงมา จากที่กราฟกำลังจะตัดขึ้น จะมีคนพยายามกดมันไว้ เราต้องประเมินดูว่าที่เขาทำอย่างนี้ เขาตั้งใจจะเก็บ (หุ้น) ของ หรือไม่

หรืออย่างกรณีของหุ้น PTT วันก่อนมีปริมาณซื้อขาย 11 ล้านหุ้น ราคาอยู่ที่ 210 บาท อีกวันวอลุ่มลงมาเหลือ 7.8 ล้านหุ้น ราคาขึ้นไป 214 บาท แล้ววันนี้วอลุ่มหาย เหลือ 2-3 ล้านหุ้น แล้วราคายังยืนได้ 212-214 บาท สัญญาณอย่างนี้ “ถือว่าดี”

แสดงว่ามีการเก็บของในลักษณะ “เก็บออกไปเลย” ไม่ได้เอากลับมาหมุนในตลาด ซึ่งมันต่างกับหุ้นบางตัว พอลากราคาขึ้นไปปุ๊บ! ทุกคนแห่ขาย “หุ้นตก…วอลุ่มมาเพียบ” เจออย่างนี้ก็ต้อง “ถอย”

เสี่ยยักษ์ ยังยกตัวอย่างถึงกรณีของหุ้น IRPC สมมติ มีคนเทขายกดลงมาไม้ใหญ่ๆ ที่ราคา 6.10 บาท แล้วในวินาทีเดียวกัน (ทันทีเลย) มีคนมารับต่อทันที 1 ล้านหุ้น โดยข้อเท็จจริงแล้วถ้าหุ้นมันจะลง จะต้องไม่มีรายใหญ่คนไหนกล้าเข้ามารับ ต้องไม่มีใครกล้าสวน

ละครฉากต่อมา มีคนแกล้งทำให้ลบ เคาะขายออกมา 500 หุ้น ที่ราคา 6.05 บาท แต่คนซื้อใหญ่กว่าทำให้ราคาเบ่งขึ้นมาได้ แสดงว่าฐานราคาตรง 6.10 บาท “แข็งแรง” หุ้นก็จะดูดี ราคาตรงจุดนี้เราอาจจะลงทุนระยะสั้นได้

“…นี่คือ “วิชาสังเกต” ที่เราต้องนั่งดูทุกวัน รับรองว่าไม่มีสอนในตำรา”

เสี่ยยักษ์ สรุปบทเรียนจากวิชาสังเกตให้ฟังว่า ถ้าหุ้นตัวไหนสวนทาง ดัชนี SET ของวันได้ แสดงว่า “ดี” หุ้นตัวนั้นต้องมีคนดูแล เช่น ถ้าดัชนี SET “ลง” แต่ราคาหุ้นตัวนี้มันยังยืนได้ แสดงว่าแข็งกว่าตลาด…มันสู้! เล่นสั้นได้

นอกจากนี้ดัชนี SET ที่แข็งแกร่ง เวลาขาขึ้น จะต้องมีการปรับฐานเป็นระยะๆ ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียว สมมติขึ้นไปแล้ว 15 จุด อีกวันยืน วันต่อมาปรับตัวลงนิดหน่อย อย่างนี้จึงจะถือว่า…โอเค ! เป็นต้น

ที่มา : Bangkok Biz Week


No comments:

Post a Comment

SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ ภาวะตลาด

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ เทคนิค

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้นรายตัว

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ พิเศษ

SETTRADE.COM - บทวิเคราะห์ หุ้น IPO

กรุงเทพธุรกิจ - ธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ - การเงิน - การลงทุน